milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
16 เมษายน 2567
ภาษาไทย

ทำความรู้จัก ‘Zero-Knowledge Proof’ เทคโนโลยีสำคัญในยุค Web3 และ AI

ช่วงปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยี Zero-Knowledge Proof (ZKP) เริ่มมีบทบาทสำคัญกับเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Blockchain ด้วยความสามารถที่ช่วยในการปรับขนาดเพื่อรองรับการใช้งานและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ พร้อมยังคงความโปร่งใสในแบบของ Blockchain รวมถึงมีการใช้งาน ZKP ในระบบนิเวศของ Crypto และ Web3 เพิ่มขึ้น ไปจนถึงการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ ‘AI’


Article1APRTH_1200X800.jpg

Zero-Knowledge Proof จึงเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองอย่างมากในยุคที่สินทรัพย์ดิจิทัลและ AI มีบทบาทสำคัญมากขึ้น


Zero-Knowledge Proof (ZKP) คืออะไร 


Zero-Knowledge Proof เป็นวิธีการเข้ารหัสด้วยกระบวนการทางคณิตศาสตร์เพื่อตรวจสอบหรือพิสูจน์หาความจริงของข้อมูลโดยที่ผู้ถูกตรวจสอบไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวอย่างละเอียดทั้งหมดหรือให้ข้อมูลอื่นๆ เบื้องหลังเพิ่มเติม

โครงสร้างของ Zero-Knowledge Proof ประกอบด้วยผู้พิสูจน์ (Prover) และผู้ตรวจสอบ (Verifier) ซึ่งผู้พิสูจน์จะสร้างข้อมูลเพื่อพิสูจน์ด้วยความเข้าใจจากสิ่งที่กำหนดไว้ในระบบนั้นๆ ในขณะที่ผู้ตรวจสอบจะมีหน้าที่ยืนยันว่าความถูกต้องของผู้พิสูจน์ว่าได้มีการประเมินผลอย่างถูกต้อง

Zero-Knowledge Proof กำลังเป็นที่นิยมในชุมชน ‘Web3’ ที่มาพร้อมกับความสามารถช่วยในการปรับขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งาน (Scalability) และความเป็นส่วนตัว (Privacy) ในการใช้งานแอปพลิเคชันบน Web3

สำหรับด้านการปรับขยายตัวเพื่อรองรับการใช้งาน (Scalability) ที่ Zero-Knowledge Proof สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการปรับขยายตัวโดยทำให้ข้อมูลจำนวนมากสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยี Blockchain จำเป็นต้องใช้พลังการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นอีกข้อจำกัดของการปรับขยายขนาด แต่ Zero-Knowledge Proof ช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันกระจายศูนย์ (dApps) ที่ใช้การประมวลผลน้อยและสามารถทำงานบนอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ทั่วไป อย่างเช่นโทรศัพท์มือถือ จึงส่งผลให้ Web3 สามารถเข้าถึงและปรับขนาดได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

สำหรับด้านความเป็นส่วนตัว Zero-Knowledge Proof ทำให้ผู้ใช้ใน Web3 ไม่ว่าจะเป็นใน Metaverse, DeFi และ DAOs สามารถแบ่งปันข้อมูลได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการเข้าถึงสินค้าและบริการโดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งจำเป็น เพราะผู้ใช้มีความเสี่ยงถูกแฮ็ก และถูกใช้ช่องโหว่ต่างๆ โจมตี หรือโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว (ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดบน Web2) 


ลักษณะการทำงานและความสำคัญของ Zero-Knowledge Proof


เมื่อข้อมูลกลายเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ ผู้ใช้ต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อแลกกับการเข้าถึงบริการออนไลน์ แต่การโจมตีจำนวนมากที่เกิดขึ้นกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ แสดงให้เห็นว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ไม่เคยมีความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ แม้ Web3 จะมาพร้อมกับจุดเด่นด้านคุณค่าที่สำคัญในเรื่องของความเป็นเจ้าของที่มากขึ้น เปลี่ยนแปลงและแก้ไขข้อมูลได้ยาก รวมถึงระบบการกระจายศูนย์ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาด้านข้อมูลอย่างแท้จริง 

Zero-Knowledge Proof จึงเป็นอีกวิธีการสำคัญสำหรับ Web3 ในกรณีที่ข้อมูลเกี่ยวข้องกับเครือข่าย Blockchain โดย Zero-Knowledge Proof ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเข้ารหัส (Cryptographic) ที่ช่วยให้แต่ละฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันโดยไม่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ อย่างเช่น ไม่จำเป็นต้องใช้รหัสผ่านเพื่อเข้าถึงอีเมล

นอกจากนี้ Zero-Knowledge Proof มีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของ Web3 เพราะเรื่อง “รหัสผ่าน” สำหรับยืนยันตัวตนมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงทั้งหมดเพื่อใช้งานใน Web3 ดังนั้น จึงชัดเจนว่า ZKP ที่ช่วยเสริมความปลอดภัยของข้อมูลมีความสำคัญกับ Web3 

ตัวอย่างเช่น เมื่อต้องระบุหมายเลขหนังสือเดินทางเพื่อจองตั๋วผ่านบริการออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต แสดงว่าคุณกำลังทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ เช่น อายุและที่อยู่ตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ ZKP จะทำให้คุณสามารถเชื่อมั่นได้ในความปลอดภัยสำหรับการตรวจสอบข้อมูล

หรืออีกตัวอย่างการใช้งานเทคโนโลยี ZKP เป็นกรณีของธนาคารที่นำรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้เพื่อนำไปให้คะแนนเครดิต (Credit Score) แทนที่จะใช้เพียงข้อมูลส่วนบุคคลเบื้องต้นของผู้ใช้เท่านั้น เช่น ผู้รับบริการต้องให้หมายเลขประกันสังคมแก่ธนาคารแทนที่จะให้เพียงชื่อของผู้ใช้เท่านั้น 


คุณสมบัติเด่นของ Zero-Knowledge Proof


คุณสมบัติเด่นของ Zero-Knowledge Proof  ได้แก่

  • ด้านความครบถ้วน (Completeness) - ช่วยให้มั่นใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติตามหรือมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ซึ่งหมายความว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามการตรวจสอบประเมินผล และผู้ตรวจสอบสามารถตรวจสอบข้อมูลได้โดยไม่ต้องพึ่งบุคคลภายนอก

  • ด้านความถูกต้อง (Soundness) - เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ Zero-Knowledge Proof บน Web3 อย่างเช่น หากข้อมูลคำสั่งต่างๆ ออกมาเป็นเท็จ ผู้ตรวจสอบจะไม่ให้ผ่านและไม่สามารถโน้มน้าวด้วยวิธีอื่นได้

  • คุณสมบัติ Zero-Knowledge - ในกรณีที่หลักฐานต่างๆ หรือรายละเอียดข้อมูลมีความถูกต้อง ผู้ตรวจสอบจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้ แต่ผู้ตรวจสอบยังสามารถขอคำชี้แจงอื่นๆ เพิ่มเติมจากผู้ใช้สำหรับการตรวจสอบข้อมูลได้ 


ที่สำคัญทคโนโลยี Zero-Knowledge Proof สามารถแก้ปัญหาทางเทคนิคเรื่องด้าน “ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว” ได้เป็นอย่างดี โดยในด้านความเป็นส่วนตัว ZKP ช่วยให้ผู้ใช้สามารถแชร์ข้อมูลไปยังเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ได้อย่างเป็นส่วนตัวโดยที่เครือข่ายจะรับประกันความปลอดภัยว่าข้อมูลได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง และในด้านการรักษาความปลอดภัยก็เป็นการให้ผู้ใช้ได้รับข้อมูลที่ไว้ใจได้จากเครือข่ายที่น่าเชื่อถือโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยตัวกลางอื่น 


ความท้าทายของ Zero-Knowledge Proof


Zero-Knowledge Proof ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่และอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อการใช้จริงในหลากหลายธุรกิจ โดยยังมีข้อจำกัดหลักๆ ที่กำลังพัฒนา ดังนี้

  1. ไม่การันตีว่าจะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ 100%: โดย Zero-Knowledge Proof เป็นการพิสูจน์ที่มีโอกาสผิดพลาด (แต่มีโอกาสผิดน้อยมาก) ต่างจากการพิสูจน์แบบคณิตศาสตร์ดั้งเดิมที่เป็นการพิสูจน์แบบ “Deterministic” ซึ่งรับประกันความจริงของข้อความ

    2. ใช้ทรัพยากรการประมวลผลสูง: เทคโนโลยี Zero-Knowledge Proof อาจใช้ทรัพยากรการประมวลผลสูง เนื่องมาจากการโต้ตอบหลายครั้งระหว่างผู้พิสูจน์และผู้ตรวจสอบ จึงทำให้ ZKP ไม่เหมาะกับอุปกรณ์ที่มีทรัพยากรจำกัด เช่น อุปกรณ์พกพา หรือแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์
  2. ความซับซ้อน: เทคโนโลยี Zero-Knowledge Proof เข้าใจและใช้งานยากสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดเทคโนโลยี เพราะจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการเข้ารหัส
  3. การสร้างมาตรฐาน: ยังไม่มีมาตรฐานที่แน่ชัดสำหรับโปรโตคอล Zero-Knowledge Proof จึงทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างระบบต่างๆ เป็นเรื่องยาก
  4. ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย: แม้ว่า Zero-Knowledge Proof จะมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยที่แข็งแกร่ง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดช่องโหว่ใหม่ๆ เกิด


อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อจำกัดเหล่านี้แต่ Zero-Knowledge Proof ยังเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ พร้อมยังมีความก้าวหน้าในการออกแบบอัลกอริทึม การเร่งความเร็วฮาร์ดแวร์ และการสร้างมาตรฐาน กำลังปูทางไปสู่การนำ ZKP ไปใช้ในวงกว้างมากขึ้นกับแอปพลิเคชันต่างๆ



ตัวอย่างการใช้งาน Zero-Knowledge Proof

  • การยืนยันตัวตนแบบ Decentralized Identity บน Blockchain: ผู้ใช้สามารถยืนยันตัวตนบน dApps โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่ละเอียดอ่อน เช่น ชื่อ-นามสกุล รหัสผ่านและหมายเลขประจำตัวประชาชน แต่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้ว่าตนมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เช่น ข้อมูลระบุตัวตนแบบกระจายอำนาจที่ยืนยันว่าตนเป็นพลเมืองของประเทศโดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อหรือหมายเลขหนังสือเดินทางของตน ดังนั้น โปรโตคอลที่ใช้ Zero-Knowledge Proof จึงช่วยให้สามารถควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้มากขึ้น

  • การใช้งานบน Blockchain ที่โปร่งใสแต่ไม่เป็นส่วนตัว: Blockchain สาธารณะอย่าง Bitcoin และ Ethereum มีความโปร่งใสมาก ทุกคนสามารถตรวจสอบธุรกรรมต่างๆ ได้ แต่ความโปร่งใสนี้ก็แลกมาด้วยความเป็นส่วนตัวที่น้อยลง ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บนบล็อกเชนสาธารณะอาจถูกเปิดเผยได้ แต่ Zero-Knowledge Proof เป็นอีกทางออกสู่ความเป็นส่วนตัวที่มากขึ้นให้กับ Blockchain สาธารณะ โดย ZKP จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลบน Blockchain ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว 
    • ตัวอย่างการใช้งาน ZKP
      • Zcash: สกุลเงินดิจิทัล Zcash ใช้วิธีการพิสูจน์แบบ Zero-Knowledge Succinct Non-Interactive Argument of Knowledge (zk-SNARK) เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้ ซึ่งผู้ใช้ Zcash สามารถทำธุรกรรมบน Blockchain โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ หรือจำนวนเงินที่โอน
      • Ethereum: Ethereum กำลังพัฒนา Zero-Knowledge Scalable Transparent Argument of Knowledge (zk-STARK) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวและความสามารถในการปรับขนาดให้กับ Blockchain ที่สูงขึ้น

  • การโหวตแบบออนไลน์: Zero-Knowledge Proof: สามารถใช้เพื่อสร้างกลไกการลงคะแนนที่มีความปลอดภัยสูงและสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยให้ทุกคนสามารถลงคะแนนเสียงได้โดยไม่เปิดเผยว่าใครเป็นคนลงคะแนนและยังตรวจสอบได้จนถึงขั้นสุดท้ายว่าเสียงของตนได้ถูกนับคะแนนจริง

  • Zero-Knowledge Proof กับ AI: Zero-Knowledge Proof ช่วยให้เจ้าของอัลกอริทึมของ Machine Learning สามารถพิสูจน์ให้ผู้อื่นเชื่อมั่นในผลลัพธ์ของโมเดลได้ โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับโมเดล ยกตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการว่าคุณฝึกโมเดล Machine Learning ที่สามารถคาดการณ์การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อสำหรับธนาคารได้อย่างแม่นยำ และต้องการทำให้ธนาคารมั่นใจว่าโมเดลของคุณทำงานได้ดีจริง โดยที่ไม่ต้องการเปิดเผยรายละเอียดที่เป็นความลับของโมเดล (เช่น วิธีการคำนวณเฉพาะเจาะจงที่โมเดลใช้)

  • Zero-Knowledge Proof กับการเงิน: มีกรณีการใช้งานของ ธนาคาร ING ที่นำเทคโนโลยี Zero-Knowledge Proof มาใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถยืนยันข้อมูลส่วนตัวได้โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียด ตัวอย่างเช่น การขอสินเชื่อบ้าน ที่ผู้ขอสินเชื่อสามารถยืนยันได้ว่ารายได้ของตนเองอยู่ในเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด โดยใช้ ZKP ผู้ขอสินเชื่อสามารถพิสูจน์ได้ว่า เงินเดือนของตนเองอยู่ในช่วงที่ธนาคารยอมรับได้โดยที่ธนาคารไม่จำเป็นต้องทราบเงินเดือนที่แท้จริงของผู้ขอสินเชื่อ


สรุป


Zero-Knowledge Proof (ZKP) เป็นเทคโนโลยีเข้ารหัสที่ช่วยให้สามารถพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูลโดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่ไม่ต้องการเปิดเผย ซึ่ง ZKP กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในบนโลก Blockchian มาจนถึง AI เนื่องด้วยศักยภาพในการแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจเช่น การปรับขยาย (Scalability) และช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ซึ่ง ZKP มีแนวโน้มที่จะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Reject
Accept