milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
25 เมษายน 2567
ภาษาไทย

Iris: หุ่นยนต์คุณครู AI ตัวแรกของอินเดีย กับการพัฒนาการศึกษาด้วยเทคโนโลยี

อินเดีย ประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจและน่าติดตาม ด้วยจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทำให้มีการพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีสตาร์ทอัพ และธุรกิจด้านเทคโนโลยีสำคัญ ๆ มาจากอินเดียจำนวนมาก และกลายมาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดเทคระดับโลก


Article6APRTh_1200X800.jpg


เทคโนโลยี AI เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของตลาดเทคในอินเดีย เช่นเดียวกับที่หลายประเทศทั่วโลกที่เล็งเห็นโอกาสและประโยชน์ของ AI และนำมาปรับใช้ทั้งในด้านธุรกิจ ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในประเทศ 


ความก้าวหน้าของ AI ในอินเดียดำเนินมาสู่วงการการศึกษา เมื่อล่าสุดมีการเปิดเผยว่า อินเดียสามารถสร้างหุ่นยนต์คุณครู AI ตัวแรกขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “Iris”  และนำมาทดลองใช้งานในโรงเรียนมัธยมแล้ว ซึ่งนำไปสู่ความตื่นเต้นของคนอินเดีย ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจกับอนาคตที่อินเดียจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาไปเป็นรูปแบบใด? หรือจะมีนโยบายด้าน AI อย่างไรต่อไป?


ทำความรู้จัก Iris หุ่นยนต์คุณครู AI ตัวแรกของอินเดีย

 

“Iris” คือ ชื่อของหุ่นยนต์คุณครู AI สำหรับสอนในโรงเรียนตัวแรกของอินเดีย ล่าสุด Iris ถูกเปิดตัวในงานอีเวนท์ของโรงเรียน Kerela ในนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดย Maker Labs Edutech หลังจากได้เริ่มใช้งานจริงในโรงเรียนมัธยมปลาย KTCT ในเมืองธิรุวะนันทปุรัม รัฐเกรละ ไปแล้วก่อนหน้านี้

 

Iris เป็นหุ่นยนต์คุณครูที่ดำเนินการด้วย Generative AI และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ล้ำสมัย โดยมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอย่าง AI-Voice Assistant รันด้วยชิปเซ็ตของ Intel ที่สามารถสั่งการได้ด้วยเสียง ตอบกลับผู้สั่งการตามลำดับด้วยการอธิบาย และการนำเสนอข้อมูลทางการศึกษา ซึ่งผู้สั่งการสามารถโต้ตอบซึ่งกันและกันกับ Iris ได้ ตามเป้าหมายของรัฐบาลอินเดียในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบรับกับการศึกษาแบบ Personalized Learning Experiences ให้กับนักเรียนชาวอินเดีย

 

ปัจจุบัน Iris สามารถทำความเข้าใจได้ 3 ภาษา อีกทั้งยังสามารถสั่งการได้ผ่านแอปพลิเคชันบนปฏิบัติการ Anroid และมีข้อมูลทางการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กระดับก่อนอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Grade 12) ซึ่งทางผู้พัฒนาอย่าง Maker Labs มีแผนที่จะพัฒนาให้ Iris เข้าใจถึง 20 ภาษา



Screenshot 2567-04-25 at 11.56.22.png
                                                                                      ภาพจาก Maker Labs’ Instagram


จากภาพและวิดีโอที่เผยแพร่บนอินสตาแกรมของ Maker Labs จะเห็นว่าในงานเปิดตัวที่โรงเรียน Kerela หุ่นยนต์ Iris มาในรูปแบบคุณครูผู้หญิง ห่มส่าหรีตามธรรมเนียมอินเดีย เคลื่อนที่ด้วยแชสซี 4 ล้อเข้ามาทักทายนักเรียนในห้องเรียน โดยสามารถตอบรับในท่าทางเบื้องต้น อย่างเช่น การจับมือ การผายมือ การหันศีรษะ เป็นต้น

Iris เป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษาภายในโรงเรียนของ NITI Aayog หรือสถาบันแห่งชาติเพื่อการเปลี่ยนแปลงอินเดีย ภายใต้โปรเจกต์ Atal Tinkering Lab (ATL) ของรัฐบาลอินเดียในการพัฒนานวัตกรรมและสร้างประเทศไปสู่การเป็น New India


Iris กับการเป็นอนาคตทางการศึกษาของอินเดีย

 

ภาพของ Iris ที่เคลื่อนที่เข้าสู่ห้องเรียน และมีการตอบโต้กับเด็กๆ ในชั้นเรียน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า อินเดียมีความต้องการและสามารถพัฒนาให้เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษา

 

จากข้อมูลของ Maker Labs อธิบายว่า Iris คือก้าวสำคัญของการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา ตามเป้าหมายของอินเดียในการปฏิวัติประสบการณ์ในการเรียนรู้ไปสู่แบบ Personalized ผ่านเทคโนโลยี AI และนอกจาก Iris จะเป็นผู้สอนได้เองแล้ว ยังมีความสามารถในการช่วยเหลือคุณครูในการปรับรูปแบบการสอนทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ และทำความเข้าใจได้อย่างเหมาะสม

 

จากข้อมูลของ UNESCO ชี้ว่า ประเทศอินเดียเกิดปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน เนื่องจากประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการครูอีกกว่า 1 ล้านราย ดังนั้น การเข้ามาของ AI สำหรับการศึกษา จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ลงได้ ด้วยการเอาเทคโนโลยีนี้เข้าไปเป็นตัวช่วยในการให้ความรู้ ทำงาน Routine แทนคุณครู หรือเข้าไปจัดการชั้นเรียนแทน เพื่อให้คุณครูสามารถทำงานในจุดที่ซับซ้อนกว่า และส่งผลดีในด้านการเรียนกับนักเรียนมากกว่า

 

โรงเรียนต่างๆ ในอินเดียได้มีการเปิดรับเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อตอบรับกับการเป็น Digital Age การเปิดตัวของ Iris จึงเป็นเหมือนอีกก้าวหนึ่งของเทคโนโลยีในวงการการศึกษา ที่รัฐบาลมองว่าจะเข้ามาพัฒนาให้เด็กๆ ในอินเดียได้รับการศึกษาในรูปแบบที่แตกต่างออกไป และยกระดับให้ AI เข้ามา Transform และมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ 



ความท้าทายของ AI เพื่อการศึกษาในอินเดีย

 

นอกจาก AI จะเข้ามาช่วยด้านการศึกษาในการลดภาระที่ไม่ใช่การสอนให้กับครูแล้ว อินเดียยังตั้งเป้ายกระดับเรื่องการรับเอา Immersive Technology มาพัฒนาประเทศ ความสามารถของ Iris จึงสร้างความตื่นเต้นและเพิ่มความน่าสนใจให้กับการศึกษาและเทคโนโลยีของอินเดียนั่นเอง

 

AI สำหรับการศึกษาจะสามารถสร้างประโยชน์ได้มหาศาล อย่างไรก็ตาม การผลัดเปลี่ยนจากระบบแบบเดิมไปสู่ระบบใหม่ที่ต้องพึ่งเทคโนโลยี จำเป็นจะต้องอาศัยความเข้าใจ และการเปิดรับ รวมไปถึงความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนจากทุกฝ่าย

 

การ Transform รูปแบบการศึกษาใหม่ที่มี AI มาเกี่ยวข้อง จะต้องมีความเข้าใจทั้งเรื่องของโอกาสและความท้าทาย โดยเฉพาะกับการศึกษาในอินเดีย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ในแต่ละเมืองหรือแต่ละรัฐจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งเรื่องของ ทรัพยากร จำนวนครู ภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ รวมไปถึงประสิทธิภาพของการศึกษาในแต่ละเขตที่อาจจะมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่

 

การนำเอาเทคโนโลยี AI จึงต้องระมัดระวัง เนื่องจากทั่วโลกยังมีความกังวลในหลายด้าน รวมทั้งการเปลี่ยนมาสู่การศึกษาด้วย AI ยังต้องใช้เวลา และเป็นความท้าทายของอินเดียที่ยังต้องคำนึงถึงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น

 

  • ความเสมอภาคและการเข้าถึง: ความท้าทายแรกคือความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีของทั้งโรงเรียน ครู และเด็กนักเรียน จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนที่สามารถรองรับ AI ได้จะตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ ทำให้โรงเรียนในชนบทขาดโอกาสในการใช้งานเทคโนโลยี
  • เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่คุณครู: มีความกังวลในเรื่องที่ว่า AI จะเข้ามาแทนที่คุณครู และจะทำให้เกิดการตกงาน หลังจากเกิดเหตุการณ์การใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนมาก่อน อย่างไรก็ตาม อาชีพครู ถือว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะ และการฝึกฝนที่จะเข้าใจเด็กๆ อาจจะต้องมีการ Upskills ให้คุณครูในด้านอื่นๆ เพื่อให้ก้าวทันและปรับตัวได้ในโลกเทคโนโลยี
  • เกิดการคัดลอกผลงาน: การคัดลอกผลงาน (Plagiarism) คือหนึ่งในความกังวลของโลกการศึกษาเมื่อมี AI เข้ามาเป็นเครื่องมือสอน จึงควรมีการออกแบบบทเรียนให้มีการใช้ AI เป็นเครื่องช่วยได้ แต่นักเรียนจะต้องคิดสร้างสรรค์ผลงานออกมาเอง 
  • ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว: จะต้องมีการให้ความสำคัญกับการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของทั้งนักเรียนและครูในกรณีที่มี AI เข้ามาในวงการการศึกษา เนื่องจาก AI จะมีประสิทธิภาพมากก็ต่อเมื่อมี Data ป้อนเข้าไปมาก และหากจะนำ AI เข้ามาใช้งานในโรงเรียนจริง ๆ ทุกฝ่ายจะต้องเสริมความมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของทุกฝ่ายจะปลอดภัย และนักเรียนเองก็จะต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจและปกป้องข้อมูลของตัวเองได้
  • เกิดการพึ่งเทคโนโลยีมากเกินไป: การเชื่อถือและพึ่งพาเครื่องมืออย่าง AI มากเกินไป อาจนำไปสู่การละเลยหน้าที่การสอนและหลงลืมหลักการเรียนรู้ อย่างเช่น ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความสามารถในการแก้ปัญหา ทักษะการเข้าสังคม รวมไปถึงทักษะสำคัญอย่าง การอ่าน การเขียน และการค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเองอีกด้วย



ความก้าวหน้าด้านการกำกับดูแลเทคโนโลยี AI ในอินเดีย

 

สถานการณ์การจัดการด้านการกำกับดูแลเทคโนโลยี AI ทั่วโลกเริ่มที่จะคุกรุ่นมากขึ้น อย่างในสหรัฐอเมริกา ที่ทางประธานาธิบดี Joe Biden ได้ออก Executive Order เกี่ยวกับ AI และมีการประนีประนอมในกฎหมาย AI (AI Act.) เช่นเดียวกับในอินเดีย ที่ทางรัฐบาลก็มีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้งานของ AI ทั้งด้านที่เป็น Bias และด้านความปลอดภัย

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อินเดียได้เปิดตัวแนวปฏิบัติการรับผิดชอบในการพัฒนาและการนำเอา AI เข้ามาใช้งานในประเทศ แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงใน AI

 

รัฐบาลอินเดียได้มอบหมายให้ NITI Aayog ออกแบบและวางแนวทางในการกำหนดนโยบายสำหรับการพัฒนาและการใช้งาน AI ภายในประเทศ โดยในปี 2018 ทาง NITI Aayog ได้เปิดตัวกลยุทธ์ National Strategy for Artificial Intelligence หรือนโยบาย #AIForAll ที่เข้ามากำกับในการวิจัยและพัฒนา AI ในด้านสุขภาพ การเกษตร การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน Smart City และ Smart Mobility 

 

จากข้อมูลของ DataGuidance พบว่า “อินเดียเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นลำดับต้นของโลก รวมกับการมีจำนวนประชากรมากเป็นลำดับที่ 2 ทำให้การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด” โดยเป้าหมายของ #AIForAll คือการพัฒนาและยกระดับความสามารถของมนุษย์ด้วยการบูรณาการกับเทคโนโลยี AI และเนื่องจากอินเดียยังไม่มีการบุกเบิกด้าน AI ดังนั้นแนวทางของอินเดียจึงมุ่งเน้นไปในด้าน R&D 

 

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ทาง NITI Aayog ได้เปิดตัว Part 1 - Principles for Responsible AI ซึ่งเป็นแนวทางในการกำกับดูแลและการพิจารณาทางจริยธรรมในการใช้งาน AI ในอินเดีย และในเดือนสิงหาคม 2021 ทาง NITI Aayog ได้เปิดตัว Part 2 - Operationalizing Principles for Responsible AI ซึ่งเป็นแนวทางเกี่ยวกับการออกนโยบายในการดำเนินงานด้วย AI โดยในรายงานได้อธิบายถึงความสำคัญของการออกนโยบายการดำเนินงานที่ทางรัฐและเอกชนต้องคำนึงถึงในกรณีที่จะมีการปรับใช้งาน AI

 

ในขณะที่ทางกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (The Ministry of Electronics and Information Technology: MeitY) ได้มีการตั้งคณะกรรมการในการรายงานเสนอด้านการพัฒนา ความปลอดภัย และด้านจริยธรรมในการใช้งาน AI นอกจากนี้ทาง MeitY ยังได้เปิดตัว National Program ด้าน AI ภายใต้ชื่อ “India AI” ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาพื้นฐานด้านนวัตกรรม AI ในอินเดีย โดยเป้าหมายของโปรแกรมนี้คือ การพัฒนา กำลังคนด้าน AI ไปพร้อมๆ กับสนับสนุนการศึกษาวิจัย และยกระดับการออกกฎหมายกำกับดูแลด้าน AI

 

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลอินเดียยังได้มีการร่างพ.ร.บ. เกี่ยวกับความปลอดภัย หรือ Digital Personal Data Protection Act, 2023 (the Act) ขึ้นมาเพื่อตอบรับกับความกังวลในการใช้งานแพลตฟอร์ม AI ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

 

 

ที่มา: Times of India (1), (2), India Today, The Indian Express, YTECH, DataGuidance

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept