milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
14 ธันวาคม 2565
ภาษาไทย

Web 3.0 กับข้อจำกัดที่ยังต้องแก้ไขเพื่อนำไปสู่การใช้งานในวงกว้าง

Web 3.0 มีคุณสมบัติที่โดดเด่นที่ต่อยอดมาจาก Web 2.0 ตั้งแต่แนวคิดของระบบกระจายศูนย์ไปจนถึงความพยายามทำให้ผู้ใช้มีความส่วนตัวมากขึ้น รวมถึงข้อดีอื่นๆ ที่ได้รับการคาดหวัง อย่างไรก็ตาม Web 3.0 ก็ยังมีข้อจำกัดหรือความท้าทายที่ต้องอาศัยเวลาในการปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้งานแพร่หลาย

ไปดูกันว่า Web 3.0 มีข้อจำกัดและความท้าทายที่ควรได้รับการพัฒนาอย่างไรบ้าง รวมถึงเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและให้เข้าใจความแตกต่างของ Web 3.0 กับ Web 2.0 

Arti2w2vw3_1200X800.jpg


ความแตกต่างของ Web 3.0 กับ Web 2.0 และเกี่ยวข้องอย่างไรกับ Metaverse? 

แม้ว่า Web 3.0 จะไม่ได้มีบทบาทสำคัญหรือแทนที่ Web 2.0 ได้ในปัจจุบัน แต่ก็มีการคาดหวังถึงโลกอินเทอร์เน็ตที่อำนาจควบคุมจากหน่วยงานต่างๆ มีน้อยลง และสามารถดำเนินการทางธุรกิจได้แบบอัตโนมัติมากขึ้นในโลก Web 3.0

โดยสิ่งที่ทำให้ Web 3.0 มีความน่าสนใจและแตกต่างออกไป ประการแรก คือสามารถทำให้มีการโต้ตอบหรือทำกิจกรรมกันระหว่างกันได้แบบ Peer-To-Peer (การเชื่อมต่อไร้สายแบบโครงข่ายโดยตรงระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์) โดยที่ไม่ต้องมีแพลตฟอร์มแบบ Centralized และตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของผู้ใช้ ซึ่งวัตถุประสงค์หนึ่งของ Web 3.0 คือให้ผู้เข้าร่วมได้มีอำนาจและการควบคุมเป็นของตนเอง หรือแนวคิดที่ต่อยอดจาก Web 2.0 คือการทำให้ผู้อ่านสามารถเป็นนักเขียนได้เช่นกัน

Web 3.0 ใช้เทคโนโลยีจำนวนมากที่อยู่บนพื้นฐานของ Blockchain ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบของธุรกิจและสังคมแบบใหม่ โดยผู้ใช้ได้กลายเป็นเจ้าของทั้งข้อมูล การยืนยันตัวตน คอนเทนต์ และอัลกอริธึม และด้วยการที่ผู้ใช้ได้ถือโทเคนของโปรโตคอลหรือถือ Cryptocurrencies จึงเสมือนว่าผู้ใช้ได้เข้าร่วมในฐานะ “ผู้ถือหุ้น” ก็ว่าได้ และด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นอย่างความเป็นเจ้าของใน Web 3.0 ก็ได้เปลี่ยนแปลงเรื่องของอำนาจและเงินให้พ้นจากระบบ Centralized ที่ใช้ใน Web 2.0 อย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่และรัฐบาล

โดยโทเคนและสกุลเงินดิจิทัลเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดลธุรกิจและระบบเศรษฐกิจใน Web 3.0 สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น การสร้างรายได้จาก NFTs ในแอปพลิเคชัน Metaverse

“Metaverse” และ “Web 3.0” มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งแท้จริงมีแนวคิดที่แตกต่างกันแต่มีความเกี่ยวข้องกัน โดย Metaverse เป็นโลกเสมือนที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกดิจิทัล ที่ให้ผู้ใช้สามารถใช้เวลาทำงาน เข้าสังคมและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ส่วน Web 3.0 ทำให้เกิดโปรโตคอลแบบกระจายศูนย์และมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากมายที่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างส่วนต่างๆ ของ Metaverse รวมถึงชุมชนและเศรษฐกิจใหม่


ตัวอย่างข้อดีการใช้งาน Web 3.0 ในมุมนักพัฒนา

ในที่นี้ยกตัวอย่างข้อดีการใช้งาน Web 3.0 ในมุมของนักพัฒนาบน Ethereum ซึ่งได้รับความนิยมสูง โดยนักพัฒนา Web 3.0 หลายคนเลือกที่จะสร้าง Dapps (Decentralized Application) หรือแอปพลิเคชันแบบกระจายอำนาจ เนื่องจากความสามารถในจากการกระจายอำนาจโดยธรรมชาติของ Ethereum ดังนี้:

  • ไม่มีใครสามารถปฏิเสธหรือบล็อกการเข้าใช้บริการของคุณได้
  • ใครก็ตามที่อยู่ในเครือข่ายจะได้รับอนุญาตเข้าใช้บริการ หรือพูดง่ายๆ คือไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติใดๆ เพื่อเข้าถึงบริการ
  • Ethereum มีความสามารถแบบ “Turing-Complete” หรือมีความสามารถทำได้ทุกอย่างแบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ทั่วไป หมายถึงคุณสามารถตั้งโปรแกรมได้ตามที่ต้องการ
  • การชำระเงินสร้างขึ้นผ่านโทเคนดั้งเดิมหรือ Ether (ETH)


ความท้าทายและข้อจำกัดของ Web 3.0

Web 3.0 ที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นได้นำไปสู่การพัฒนาที่ส่งผลในเชิงบวกซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อไปพร้อมกับสิ่งใหม่ๆ และโอกาสใหม่ๆ ร่วมไปกับอย่างเช่น Cryptocurrencies, NFTs, DAOs และ DeFi และยังคงต้องจับตาดูการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อดีต่างๆ ของ Web 3.0 ที่นำพาไปอินเทอร์เน็ตไปสู่อีกระดับ แต่ยังเป็นช่วงของการเริ่มต้นและใหม่มาก ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้เติบโต โดยมีข้อจำกัดหรือความท้าทายที่สำคัญสำหรับพัฒนา ได้แก่

  • Scalability หรือความสามารถเพื่อปรับขยายการใช้งาน บน Web 3.0 การทำธุรกรรมจะมีความล่าช้าเนื่องจากเป็นระบบกระจายศูนย์ โดยทุกธุรกรรมจำเป็นต้องดำเนินการผ่าน Miner หรือผ่านเครือข่าย Peer-To-Peer ทั้งหมด ซึ่งต้องใช้การประมวลผลมาก รวมถึงธุรกรรมเร่งด่วนมักใช้เวลานานในการประมวลผลหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงมากเพื่อให้ทำธุรกรรมได้เร็วขึ้น

  • User Experience (UX) การโต้ตอบในแอปพลิเคชัน Web 3.0 อาจต้องมีขั้นตอนดำเนินการ ซอฟต์แวร์ และต้องการศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอุปสรรคต่อการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใช้ทุกคนย่อมพอใจที่จะใช้งานอินเทอร์เฟซ (Interface) บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ใช้งานไม่ยากและเข้าถึงง่าย โดยการใช้งานบน Blockchain หรือ Web 3.0 ส่วนใหญ่ยังต้องใช้ความพยายามเรียนรู้ในการใช้งานที่มากกว่าทั่วไป อย่างเช่น Web Browser บางรายที่มีอยู่จะไม่สามารถรองรับการเข้าถึงประสบการณ์ Web 3.0 ได้โดยตรง ซึ่งคุณจำเป็นต้องมี MetaMask เป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลเพื่อเก็บสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงมีความจำเป็นต้องทำตามขั้นตอนในการเพิ่ม Browser Extension หรือ Plug-in ที่มากขึ้น เพื่อเริ่มต้นการใช้งาน Web 3.0 ขั้นพื้นฐาน จะเห็นได้ว่าค่อนข้างมีความยุ่งยากเมื่อเปรียบเทียบกับ Web Browser ทั่วไปที่เราคุ้นเคย ดังนั้น เพื่อให้เกิดการนำไปใช้เป็นวงกว้าง Web 3.0 จึงจำเป็นต้องทำให้การเข้าถึงทำได้ง่ายขึ้นอีกมาก รวมถึงต้องมีการให้ความรู้และการฝึกอบรวมเกี่ยวกับขั้นตอนการใช้งานแก่คนจำนวนมาก

  • Accessibility หรือการเข้าถึง ด้วยการขาดการผสมผสานหรือการบูรณาการของ Web Browser ที่ทันสมัย ส่งผลทำให้ผู้ใช้เข้าถึง Web 3.0 ได้น้อย รวมถึงอุปสรรคการเข้าถึงอื่นๆ ที่กำลังมีความพยายามปรับปรุง อย่างเช่น โครงการ “Starlink” (บริษัทผู้ผลิตและให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ Elon Musk) ยังคงหาวิธีนำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปยังพื้นต่างๆ ของประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ มีความจำเป็นต้องยกระดับเรื่องฮาร์ดแวร์อีกจำนวนมากสำหรับทั้งเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้ เนื่องจากอุปกรณ์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ IoT ในปัจจุบันยังไม่พร้อมสำหรับ Web 3.0

  • Cost จะเห็นได้ว่า Dapps ส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมีการใส่ Code เข้าไปบน Blockchain เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงยังใช้พลังงานมากในการทำงาน แม้ว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการใช้วิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการขุดคริปโต อย่างไรก็ตาม หากมองในเชิงลึกยิ่งขึ้นก็มีนวัตกรรมมากมายเกิดขึ้น แอปพลิเคชันกระจายศูนย์ส่วนใหญ่ใส่โค้ดน้อยมากบน Blockchain เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่มีราคาสูง และพบว่าบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากพยายามทำงานทางเลือกอื่นๆ จากเครือข่ายในการสร้างรายได้เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายเหล่านั้น และมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพยายามทำให้เทคโนโลยีนี้มีประสิทธิภาพด้านต้นทุนมากขึ้น แต่เรื่องต้นทุนยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต้องเอาชนะในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้

Web 3.0 ยังต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานแบบรวมศูนย์ (Centralized Infrastructure) ? 

ถึงแม้ว่า Web 3.0 สร้างขึ้นจากแนวคิดเรื่องการกระจายศูนย์ (Decentralized) หรือไม่อยู่ภายใต้บริษัทที่เป็นตัวกลางและใช้ข้อมูลจากผู้ใช้จำนวนมาก แต่ด้วย Web 3.0 ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นจึงยังอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานแบบรวมศูนย์เพื่อการทำงานในบางอย่าง เช่น ใช้ GitHub หรือ Discord ในการทำงาน 

อย่างไรก็ตาม ชุมชนของ Web 3.0 กำลังมีความพยายามพัฒนาและปรับปรุงปัญหาต่างๆ เพื่อให้เกิดการกระจายศูนย์อย่างแท้จริง แต่ต้องใช้เวลาพอสมควรในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept