milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
business
20 มกราคม 2564
ภาษาไทย

มุมมองของ VC ต่อเทรนด์สำคัญและการลงทุนใน Blockchain

ปี 2020 เป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ มากมาย โลกการเงินเองก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่สุกงอมแล้ว โดยเฉพาะ Blockchain ที่เป็นกระแสอย่างมาก ไม่ว่าจะทั้งการก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในแวดวงของผู้ให้บริการรายใหญ่ รวมถึงราคาของ Bitcoin ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว Blockchain ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งคือเรื่องของการลงทุน ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของนวัตกรรมอย่างชัดเจน โดยในงานสัมมนา Blockchain Thailand Genesis งานสัมมนาด้าน Blockchain ครั้งสำคัญของเมืองไทยที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม ปี 2020 คุณมุขยา พานิช Chief Venture and Investment Officer จาก SCB 10X ได้รับเชิญให้เป็น Speaker ในหัวข้อ VC and Blockchain Investment เผยภาพรวมพัฒนาการของ Blockchain และเล่าถึงมุมมองการลงทุนในเทคโนโลยี Blockchain ในสายตาของ Venture Capital ร่วมกับ คุณศุภกฤต บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ในฐานะผู้ดำเนินการราย SCB 10X จึงขอสรุปเนื้อหาใน Session ดังกล่าวให้ทุกท่านได้ติดตามกัน

1200x800 Blockchain 01.png

เมื่อ Blockchain กำลังร้อนแรงเหมือน Internet ยุคปี 2000

แม้ว่า Blockchain จะเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการจับตามองอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 2 ปีแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสของเทคโนโลยี Blockchain ตอนนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Internet ในยุคปี 2000 เป็นอย่างมาก โดยคุณมุขยา พานิช ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานใน Silicon Valley ยุคที่ Internet Services กำลังตั้งไข่ในปีดังกล่าวได้เปรียบเทียบเอาไว้


คุณมุขยา ขยายความว่า Blockchain กำลังอยู่ในจุดที่พร้อมจะ Take off เห็นได้จาก Traction ที่ดีทั้งการใช้งานและการระดมทุน โดยเฉพาะการใช้งาน Blockchain ในฐานะ Financial Application ที่มี Product Market fit อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายดำเนินการ การยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม รวมถึงมีความโปร่งใสในระดับสูง

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Blockchain ในปี 2021 อยู่ในจุดที่พร้อมจะ Take off มากกว่าเมื่อปี 2018 คือเรื่องของ “ความเร็ว” โดยคุณมุขยาเห็นว่า Blockchain มีโมเดลการทำงานที่พร้อมจะแก้ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2017 แต่ด้วยเทคโนโลยีพื้นฐานในเวลานั้น อาจทำให้การใช้งานแต่ละธุรกรรมยังคงช้าและไม่สะดวกอยู่ อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้น Blockchain ก็เริ่มแสดงศักยภาพในด้านต้นทุนดำเนินการที่ต่ำกว่า ทำให้สามารถทำธุรกรรมที่เป็นหน่วยย่อยลงมาได้สะดวกยิ่งกว่าเดิม

คุณมุขยา กล่าวว่า ผู้ให้บริการทางการเงินแบบเดิมมีความตั้งใจจะปรับตัว แต่ยังติดขัดที่ระบบให้บริการแบบดั้งเดิมหรือ Legacy Service ซึ่งช้าและมีต้นทุนที่สูงกว่า Blockchain ในมิติหนึ่ง ผู้ให้บริการ Blockchain รายใหม่จึงได้เปรียบที่สามารถเริ่มต้นบริการใหม่เองได้เลย แต่ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการทางการเงินดั้งเดิมเองก็ยังถือว่ามีประสบการณ์ในด้านบริการที่แข็งแรงกว่า ซึ่งนำไปสู่การ Synergy กันได้


การสนับสนุนของ Traditional Finance เพื่อพา Blockchain Industry โตอย่างก้าวกระโดด

แม้ว่าสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมจะดูเหมือนก้าวไม่ทันผู้เล่นหน้าใหม่ แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไร้ข้อได้เปรียบในอุตสาหกรรมนี้เสียทีเดียว ในทางกลับกัน สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมหรือ Traditional Finance เองก็มีจุดแข็งหลายอย่างที่ช่วยส่งเสริมผู้เล่นหน้าใหม่ให้เติบโต รวมถึงทำให้กระบวนการ Transform ของ Traditional Finance เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งเส้นทางด้วย

คุณมุขยา ชี้ว่า จุดแข็งของ Traditional Finance ที่บรรดาผู้พัฒนา Blockchain FinApp สามารถเข้าร่วมเพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตมีอยู่ 3 ด้านด้วยกัน

  • Security ธุรกิจให้บริการทางการเงินถือประเด็นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญที่สุด แม้ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะป้องกันการปลอมแปลงได้ดี แต่หากมองถึงระบบการเงินที่ต้องรักษาความปลอดภัยทั้ง Physical และ Digital แล้ว ธนาคารถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีประสบการณ์ด้านนี้มากที่สุด และสามารถช่วยให้คำแนะนำไปจนถึงยกระดับด้านความปลอดภัยแก่ผู้พัฒนาด้าน Blockchain ได้
  • Scaleability แม้เราจะกล่าวว่า DeFi และ CeFi มีโอกาสเข้าถึงผู้ใช้ได้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน สัดส่วนผู้ใช้ของ 2 ระบบนี้ก็ยังคงเล็กเมื่อเทียบกับฐานผู้ใช้บริการของ Traditional Finance อย่างมาก ดังนั้น หากผู้พัฒนาด้าน Blockchain เข้าร่วมกับ Traditional Finance ก็มีโอกาสจะสร้างเส้นทางการเข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มนี้ และช่วยเร่งให้ Blockchain ถูกใช้งานเป็นวงกว้างได้เร็วขึ้น
  • Reliability ด้วยฐานลูกค้าที่กว้างและมาตรฐานด้านความปลอดภัย บริการ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ Traditional Finance ได้รับความเชื่อถือจากผู้รับบริการ ซึ่งหากผู้พัฒนา Blockchain จับมือกับ Traditional Finance ก็จะได้รับความรู้และวิธีการสร้างบริการให้มีความน่าเชื่อถือสำหรับลูกค้าต่อไปด้วย

คุณมุขยา กล่าวว่า SCB 10X มีกรณีศึกษาการร่วมมือกับผู้พัฒนา Blockchain ด้านการเงินอยู่ทั้งในระบบ CeFi และ DeFi โดย CeFi ได้เข้าไปลงทุนใน BlockFi ผู้ให้บริการรับฝากและสินเชื่อด้วย Cryptocurrency จากสหรัฐฯ ส่วน DeFi ได้ร่วมมือกับ Alpha Finance Lab บริษัทพัฒนา Blockchain FinApp ชาวไทย


เทรนด์ใหญ่ปี 2020 สู่เทรนด์ใหม่ในปี 2021

ปี 2020 เป็นปีที่เกิดเรื่องราวใหญ่ๆ ในระดับโลกมากมาย แต่โลกการเงินเองก็ไม่ได้หยุดการเคลื่อนไหว ทั้งยังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่เทรนด์ใหม่ในปี 2021

คุณมุขยา ชี้ว่า ปี 2020 เป็นปีที่เกิด Cryptocurrency Adoption จากผู้ให้บริการทางการเงินรายใหญ่ของโลกที่ชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Paypal ที่ประกาศให้บริการด้านการแลกเปลี่ยน ถือครอง หรือชำระเงินด้วย Cryptocurrency สกุลใหญ่ รวมถึงสถาบันการเงินดั้งเดิมหลายแห่ง ยังมองว่า Cryptocurrency เป็น Anti-inflation asset โดยเฉพาะ Bitcoin ซึ่งมีการทุ่มเงินซื้อเพื่อนำมาลดความเสี่ยงร่วมกับสินทรัพย์อื่นๆ อย่างทองคำด้วย

จากสถานการณ์ในปี 2020 ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการเห็น Cryptocurrency ในหน้าข่าว อันมีส่วนต่อการยอมรับ Blockchain และการนำมาใช้มากขึ้น ซึ่งเทรนด์หนึ่งที่จะได้เห็นคือการร่วมมือระหว่างผู้พัฒนา Fintech กับผู้พัฒนา CeFi และ DeFi มากขึ้น โดยล่าสุด VISA ผู้ให้บริการ Payment ระดับโลกได้ร่วมกับ BlockFi ออกบัตรเครดิตที่สามารถแลกแต้มใช้จ่ายเป็น Bitcoin ได้ เป็นจุดที่แสดงถึงเทรนด์และการยอมรับในนวัตกรรมจาก Blockchain โดยผู้เล่นรายใหญ่ที่มีส่วนต่อภาพรวมอุตสาหกรรมในอนาคต



มุมมองของ VC ต่อการลงทุนใน DeFi

อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กับเทรนด์ใหญ่คือมุมมองของ VC ต่อการลงทุนใน Decentralised Finance ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากในปัจจุบัน โดยคุณมุขยาได้แชร์ประสบการณ์และมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า การลงทุนใน DeFi นั้นแตกต่างจากการลงทุนกับ Startup ทั่วไปพอสมควร รวมถึงยังไม่มีการ Regulate ซึ่งเป็นข้อพิจารณาสำหรับนักลงทุนสถาบัน

ขณะที่ การลงทุนใน Startup นักลงทุนจะตัดสินใจจากการพูดคุย ผลประกอบการ เทรนด์ของธุรกิจ และแนวโน้มที่แวดล้อม Startup รายนั้นๆ แต่การลงทุนใน DeFi นักลงทุนต้องสังเกตเทรนด์และความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจาก Community เอง รวมถึงสินทรัพย์ที่ได้จากการลงทุนก็ต่างกัน ซึ่ง Startup นักลงทุนจะได้หุ้น แต่การลงทุนในผู้พัฒนา DeFi นักลงทุนจะได้ Token หรือ Digital Asset แทน

ในส่วนนี้เองที่จะเป็นข้อพิจารณาสำหรับนักลงทุนสถาบัน ด้วยผู้กำกับนโยบายยังไม่ได้ให้ความชัดเจนว่า VC หรือนักลงทุนสถาบันสามารถถือครอง Token และ Digital Asset ได้แค่ไหน รวมถึงการตีความจาก Auditor เกี่ยวกับ Digital Asset ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เราจึงเห็นว่า แม้จะมีความสนใจมากขึ้น แต่การลงทุนใน Digital Asset ก็ยังไม่ได้ร้อนแรงมาก เนื่องจากความไม่ชัดเจนส่วนนี้


เรียกได้ว่ามุมมองที่ได้อ่านกันไปน่าจะช่วยให้ทุกท่านเห็นแนวโน้มการเติบโตของเทคโนโลยี Blockchain และทิศทางในอนาคตของโลกการเงินกันชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ SCB 10X ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมมานำเสนอกันอย่างแน่นอน อย่าลืมติดตามกัน

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept