milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
trending
08 กุมภาพันธ์ 2567
ภาษาไทย

Evolution of Stablecoin landscape: จับตา Stablecoin อนาคตทางเลือกใหม่ด้านการเงิน

ในช่วงที่ผ่านมาบนโลกคริปโต มีเรื่องที่น่าสนใจให้ติดตามตลอดเวลา ซึ่งรวมไปถึงเรื่องของ Stablecoin ที่มีประเด็นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งความสนใจในสินทรัพย์ทางเลือกนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งาน Stablecoin จนเมื่อถึงจุดที่ผู้คนลงไปเล่นในสนามนี้มากขึ้น ปัญหา ความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลทั้งด้านดีและไม่ดีในระบบนิเวศคริปโต


และในบทความนี้ เราจะพาไปย้อนดูภาพรวมของตลาด Stablecoin ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมกับเปิดประเด็นความก้าวหน้าและความเปลี่ยนของ Stablecoin ที่นำไปสู่การเป็นทางเลือกใหม่ด้านการเงิน


Article5JAN_1200X800.jpg


สถานการณ์ภาพรวมของ Stablecoin ปี 2022-2023



หลังจากการล่มสลายของ TerraUSD (UST) เป็นเหตุให้สถานการณ์ของ Stablecoin เริ่มสั่นคลอนมากขึ้น ซึ่งการล่มของ UST ทำให้ Supply ของ Stablecoin ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 ถึงแม้ว่ามูลค่าทางตลาดของคริปโตในปี 2023 จะเติบโตขึ้นจาก 8.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี มาสู่ 1.48 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายปี แต่ในด้าน Supply กับลดลงจาก 1.4 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นปี มาเหลือ 1.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน



Screenshot 2567-02-08 at 12.44.21.png

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ การล้มของธนาคารหลายแห่ง ก่อให้เกิดผลกระทบกับหลายส่วน หรือแม้แต่จุดที่เล็กลงมาอย่างการทำธุรกรรมที่ยุ่งยาก มีค่าธรรมเนียมสูง และนักลงทุนหลายคนก็มองว่า Stablecoin จะยังสามารถเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ และจะยังคงเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบนิเวศคริปโตต่อไป

 

นอกจากวิกฤต TerraUSD ที่มองว่าเป็นขาลงของ Stablecoin แล้ว ด้านของ Binance USD (BUSD) และ USDC ที่เคยเป็น Stablecoin ที่น่าจับตาก็เกิดปัญหาตามมา

 

เริ่มกันที่ BUSD ซึ่งเป็นเหรียญที่ออกโดย Paxos โดยใช้แบรนด์ของ Binance ซึ่งทาง Binance ก็ได้เปิดให้ซื้อขาย แลกเปลี่ยน และทำธุรกรรมได้บน BSC ecosystem พร้อมกับยกเลิกการรองรับเหรียญ USDC, USDP และ TUSD บนแพลตฟอร์ม แต่ต่อมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทาง New York State Department of Financial Services (NYDFS) หน่วยงานภาครัฐที่คอยกำกับดูแลทางการเงินของนิวยอร์ก ได้สั่งให้ Paxos หยุดออกเหรียญ BUSD เนื่องมาจากไม่ผ่านการประเมินความเสี่ยงและประเด็นด้านกฎหมายอื่นๆ ทำให้ Binance ต้องประกาศ Delist เหรียญ BUSD ออกจากแพลตฟอร์ม และได้ทำการออกเหรียญใหม่ First Digital USD (FDUSD) ขึ้นมาแทนที่ โดยมีการกำชับกับผู้ถือเหรียญให้แลกเปลี่ยน BUSD มาเป็น FDUSD โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2024

 

และในส่วนของ USDC ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากการล้มละลายของ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่ง USDC มีการฝากเงินสำรองไว้กับ SVB จำนวน 3.3 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้นักลงทุนหลายรายเทขายเหรียญออกไปในช่วงที่ธนาคารประกาศวิกฤต ทำให้มูลค่า USDC ร่วงลงไปอยู่ที่ 0.88 ดอลลาร์ฯ และส่วนแบ่งทางการตลาดก็ลดลงจาก 30% มาสู่ 24% ซึ่งต่อมา Circle ก็สามารถกู้วิกฤต ดึง USDC กลับมาสู่มูลค่า 1 ดอลลาร์ฯ ได้สำเร็จ แต่นักลงทุนก็ได้หันไปทุ่มความสนใจกับเหรียญที่มีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งนั่นก็รวมถึง USDT ทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของ USDT พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

การเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งทางตลาดของ USDT ยังเป็นผลมาจากการเติบโตของ Tether ที่มี Supply อยู่บน Tron Network ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้นักลงทุนสนใจ เพราะบน Tron นักลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมไม่สูง อีกทั้งยังสามารถรองรับการทำธุรกรรมนอกสหรัฐอเมริกาได้ โดยสามารถใช้ได้ทั้งในละตินอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา นอกจากนี้ Tron ยังมีการยืนยันว่ามีการออก Stablecoin มากกว่าบน Ethereum และกว่า 97% ของการทำธุรกรรมทำผ่าน USDT



เมื่อ Corporate และ Central Bank ลงเล่นในสนาม Stablecoins อะไรคือสิ่งที่น่าจับตามอง?



ด้วยผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในช่วงปี 2023 ส่งผลให้องค์กร สถาบันทางการเงิน รวมไปถึงธนาคารกลางของประเทศต่างๆ มาลงเล่นในสนามของ Stablecoins และ Digital Currencies ด้วยหวังว่าจะช่วยสร้างผลกำไร พร้อมกับช่วยเพิ่มทางเลือกที่ดีกว่าในการทำธุรกรรมให้ลูกค้าได้

 

ซึ่งตลอดช่วงปี 2023 จะเห็นได้ว่า มียักษ์ใหญ่หลายรายเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่อิงการทำงานบน Blockchain บ้างก็ร่วมมือกับแพลตฟอร์มทางการเงินที่น่าสนใจในการพัฒนาโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับ Stablecoins และ CBDC หรือ Central Bank Digital Currencies



Screenshot 2567-02-08 at 12.46.31.png

ยกตัวอย่างเช่น ข่าวใหญ่ของ PayPal ที่เมื่อช่วงกลางปี 2023 ได้เปิดตัว PYUSD (PayPal USD) เหรียญ Stablecoin บน Ethereum โดยมี Paxos เป็นผู้ออกเหรียญให้ ซึ่ง PYUSD สามารถทำลายสถิติมูลค่าทางตลาดเป็น Top 20 ของ Stablecoins โดยมีมูลค่ามากกว่า 150 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งปัจจุบันนี้ PYUSD เปิดซื้อขายแล้วบน Venmo บริการ Payment บนมือถือหนึ่งในแพลตฟอร์มของ PayPal นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า จะมีการเปิดตัว PYUSD บนแพลตฟอร์มหลัก PayPal โดยจะช่วยลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมสำหรับร้านค้า ซึ่งจะเป็นตัวดึงดูดให้ผู้ใช้งาน PayPal หันมาสนใจ PYUSD มากขึ้นอีกด้วย 

 

นอกจากองค์กรแล้ว ธนาคารก็ยังหันมามีบทบาทมากขึ้นในตลาดนี้ ด้วยการออก CBDC หรือ Central Bank Digital Currencies ยกตัวอย่างเช่น โปรเจกต์ mBridge นำโดย BIS Innovation Hub ร่วมมือกับธนาคารกลางจากหลากหลายประเทศ ทั้งองค์การเงินตราฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority) ธนาคารแห่งสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ (Central Bank of the UAE) ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China's Digital Currency Institute) และธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ในการพัฒนาโครงการในการทำธุรกรรมสำหรับสถาบันทางการเงินแบบข้ามเขตแดน (Wholesale Cross-border Payments) หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนเมื่อปี 2022 ซึ่งโปรเจกต์นี้จะโฟกัสไปที่ mBridge Ledger พัฒนาแพลตฟอร์ม DLT นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยี การศึกษาและออกกฎหมายใหม่ และการออกแบบกรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสมและพ้องกัน

 

 

S&P Global Ratings เปิดตัว Stablecoin Stability Assessment - ตัวช่วยสนับสนุนการใช้งาน Stablecoins?

 

 

หลังจากสถานการณ์การล่มสลายของ TerraUSD การระงับใช้ BUSD บวกกับผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ Stablecoin ด้าน S&P Global Ratings จึงมีการเปิดตัว Stablecoin Stability Assessment ขึ้นมา พร้อมกับเป้าหมายในการประเมินความสามารถของ Stablecoin ในการคงมูลค่าของ Stablecoin ให้คงที่กับมูลค่าเงินเฟียต (Fiat Money) ซึ่ง Assessment นี้จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนทั้ง Traditional Finance และ Decentralized Finance (DeFi) ให้สามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก และปลอดภัยมากขึ้น

 

โดยขั้นตอนการประเมินของ S&P Global Ratings จะมีดังนี้

 

  • ประเมิน Asset Quality หรือการประเมินคุณภาพของสินทรัพย์ ผ่านการตรวจสอบประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ความเสี่ยงในตลาด (Market Risk) ความเสี่ยงด้านการกำกับดูแล (Custody Risk) และรวมไปถึงความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินทรัพย์นั้นๆ 
  • ต่อมาจะมีการวิเคราะห์ มูลค่าหลักประกัน Overcollateralization และกลไกสภาพคล่อง (Liquidation Mechanisms) ของสินทรัพย์ ที่อาจจะมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงลงได้
  • นอกจากนั้นแล้ว จะมีการประเมินเพิ่มเติมภายใต้ 5 ปัจจัย ได้แก่ ด้านธรรมาภิบาล (Governance) ด้านกฎหมายและข้อบังคับ (Legal and regulatory framework) ด้านความสามารถในการไถ่ถอนคืนและสภาพคล่อง (Redeemability and liquidity) ด้านเทคโนโลยีและการพึ่งพากันกับ Third-party (Technology and third-party dependencies) และพิจารณาจากภาพรวมของสินทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา (Track record)
  • ซึ่งหลังจากการประเมินผ่านกระบวนการและปัจจัยต่าง ๆ แล้วจะมีการให้คะแนน Stablecoin Stability ในสเกลคะแนน 1 (very strong) ถึง 5 (weak) 

 

ซึ่งในการเปิดตัวของ S&P Global Ratings’ Stablecoin Stability Assessment นั้น ได้มีการออกผลประเมินของ 8 Stablecoins สำคัญในตลาดออกมาด้วย ได้แก่ DAI, FDUSD, FRAX, GUSD, USDP, USDT, TUSD และ USDC ตามผลการประเมินด้านล่างในตาราง



Screenshot 2567-02-08 at 12.48.41.png

อนาคต Stablecoin และทิศทางการใช้งาน 

 

สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นความก้าวหน้าและการเติบโตของ Stablecoin คือการที่เหรียญมีบทบาทมากขึ้นทั้งในโลกคริปโตและโลกจริง อย่างการที่สถาบันทางการเงิน องค์กรและธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ Stablecoin และ Digital Currencies มากขึ้น

 

ซึ่งแนวโน้มการใช้งาน Stablecoin และ Digital Currencies ก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มมากขึ้น มาจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น โดยมีสิ่งที่น่าสนใจ น่าติดตาม และคาดว่าจะเป็นแนวทางในอนาคตของการใช้งาน Stablecoin และ Digital Currencies อย่างเช่น



Digital Yuan: ความสำเร็จของเงินหยวนดิจิทัล


ในปี 2023 เงินหยวนดิจิทัล (e-CNY) กลายเป็นประเด็นสำคัญ หลังจากมีการพัฒนาและมีผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเปิดให้ชาวต่างชาติสามารถเปิด e-CNY Wallets และทำธุรกรรมได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมโทรศัพท์หรือค่าอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการทำงานร่วมกับ โปรเจกต์ mBridge ทำให้เป็นการตอกย้ำว่า จีน ต้องการที่จะผลักดัน e-CNY ไปสู่การเป็น Global Digital Currency ซึ่งจะเปิดให้มีการทำธุรกรรมผ่าน e-CNY แล้วในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  



Cross-border Transactions: การทำธุรกรรมข้ามพรมแดน 



นอกจาก e-CNY แล้ว ประเทศอื่นๆ ที่ร่วมในโปรเจกต์ mBridge ก็เห็นพ้องต้องกันว่า ต้องการที่จะพัฒนาให้การทำธุรกรรมข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ค่าธรรมเนียมลดลง และรวดเร็วขึ้น อย่างเช่น UAE ที่มี Digital Dirham ซึ่งพัฒนาโดย ธนาคารแห่งสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ร่วมกับ G42 Cloud และ R3 ในการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทำธุรกรรม นอกจากนี้ยังได้จับมือกับธนาคารทุนสำรองอินเดีย (Reserve Bank of India) เปิดให้สามารถทำธุรกรรมข้ามเขตแดนผ่าน CBDC ได้อีกด้วย



Wholesale CBDC settlement: การทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน



หากสถาบันทางการเงินและธนาคารของแต่ละประเทศสามารถเชื่อมต่อกันโดยตรงตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่ต้องพึ่งพิงตัวกลาง จะช่วยลดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ลงได้ เช่น Settlement Risk, Credit Risk และ Operational Risk ซึ่งระบบนี้จะทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีต้นทุนที่ถูกลง ช่วยลดระยะเวลาการทำธุรกรรมระหว่างประเทศลงได้อีกด้วย 

 

 

Efficient Financial Services Access: การเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

คงเป็นเรื่องที่ดีกว่า หากผู้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ในบราซิล ที่ธนาคารกลางแห่งบราซิล (Brazil's Central Bank) ได้ออก DREX หรือ Digital Real ซึ่งเป็น CBDC ที่ออกแบบมาเพื่อคนบราซิล ให้สามารถเข้าถึง และใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เทคโนโลยี

 

นอกจากบราซิลแล้วในยุโรปก็มีการออก Digital Euro เงินยูโรรูปแบบดิจิทัล ที่ออกแบบมาให้มีการใช้งานที่มีความเป็นส่วนตัว สามารถเข้าถึงได้ง่ายบนหลายแพลตฟอร์ม รองรับทั้งผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารและอุปกรณ์ดิจิทัล และสามารถใช้ทำธุรกรรมได้หลายรูปแบบภายใต้การกำกับดูแลของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม การจะออก Digital Euro ยังคงต้องรอกระบวนการทางกฎหมายของ EU ที่กำลังดำเนินการอยู่ ณ ขณะนี้ 

อย่างไรก็ตาม Stablecoin ก็ยังคงเป็นประเด็นที่น่าติดตามต่อไป ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ได้ส่งเสริมให้ Stablecoin กระโดดขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินต่างลงมาเล่น วันข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจาก Stablecoin หรืออาจจะได้เห็นบทบาทที่มากขึ้นในโลกการเงิน Real world ก็เป็นไปได้

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept