milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
trending
03 เมษายน 2567
ภาษาไทย

ทำความรู้จัก ETHDenver 2024: โอกาสและอนาคตของ Open Source ในโลก Blockchain

ประเด็นในโลกคริปโตกลายเป็นประเด็นที่เราได้ศึกษา ได้เรียนรู้มากขึ้นทุกวัน พร้อมกับการพัฒนาที่เดินหน้าไปตลอดเวลา จึงเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่สนใจในเรื่อง Web3 และ Blockchain กับการกลับมาของงานสำคัญของวงการอย่าง ETHDenver 2024 อีเวนต์ใหญ่ด้าน Web3 พื้นที่สำหรับนักพัฒนา นักลงทุน และผู้ที่สนใจในทุกสายงานเข้าร่วมเพื่อศึกษา เรียนรู้ และร่วมสร้างกับ Web3 Community ของ SporkDAO ผู้สนับสนุนหลักของ ETHDenver


Article5MART_1200X800.jpg
                                                          Image credit : www.ethdenver.com

ในบทความนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับ ETHDenver รวมถึงบทบาทที่ทำร่วมกับคอมมูนิตี้ พร้อมกับเจาะประเด็นการสนับสนุน Open Source ในโลกคริปโต



ทำความรู้จัก ETHDenver


ETHDenver หนึ่งในอีเว้นท์ด้าน Web3 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพื้นที่ #BUIDLathon (fka Hackathon) บน Ethereum ที่เหล่านักพัฒนา นักออกแบบ Web3 และผู้ที่สนใจโปรโตคอล Blockchain มาร่วมกันเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมที่น่าสนใจบน Ethereum ร่วมกัน


ความพิเศษของ ETHDenver คือ งานที่เป็นเจ้าของโดยคอมมูนิตี้ (Community-owned) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2018 และกลายเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะของ Community Innovation Festivals ที่รวมเอาเทคโนโลยี Blockchain คอมมูนิตี้ การศึกษา Decentalization ศิลปะ และวัฒนธรรมที่น่าสนใจไว้ด้วยกัน 


นอกจากชื่อเสียงของ #BUIDLathon แล้ว ETHDenver ยังเป็นพื้นที่เปิด (Open Source) ให้ผู้ที่สนใจเข้ามา #BUIDLing หรือสร้าง dApps สร้างโปรเจกต์ ร่วมเขียน White-papers ออกแบบ UX/UI อินโฟกราฟิก หรือเข้ามาเรียนรู้ เชื่อมต่อ และเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้


สำหรับงาน ETHDenver 2024 ที่ผ่านมาได้แบ่งระยะเวลาการจัดงานออกเป็น 3 ช่วง


  • เริ่มต้นที่ #BUIDLWeek ช่วงเวลาของการเข้าร่วม Live Workshop การนำเสนอด้าน Blockchain และ Web3 เข้าร่วม Boot Camps งาน Mini-summits และร่วมไปถึงปาร์ตี้สำหรับคอมมูนิตี้
  • ต่อมาคือ Main Event โดยรวบรวมสมาชิกในคอมมูนิตี้ของ SporkDAO กว่า 20,000 ราย เพื่อแสดงผลงาน ศึกษา เรียนรู้ และสร้างนวัตกรรมร่วมกันในงานที่ Denver
  • ปิดท้ายด้วย MTN Retreat กิจกรรมพักผ่อนสำหรับผู้ร่วมงานใน Colorado ทั้งสกี อาหาร เครื่องดื่ม พร้อมกับพูดคุยสนทนากันในประเด็นเทคโนโลยี Blockchain

ETHDenver กับการผลักดัน Ethereum Ecosystem



ภายในงานได้มีการจัดแบ่งโซน #BUIDL Festival เป็นส่วนที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุน Ecosystem ของ Ethereum ด้วยการรวบรวมเอากลุ่มผู้สนับสนุน ผู้สร้าง ผู้พัฒนา และเปิดโซนสำหรับการเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ


ยกตัวอย่างเช่น โซน SPONSOR SHILLAGES พื้นที่ที่รวบรวมผู้สนับสนุน และนักพัฒนาแห่งโลก Blockchain มาร่วมโชว์ผลงานในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่

  • Defi, NFTs & Gaming (Futureverse)
  • Infrastructure & Scalability (DevTopia)
  • Identity, Privacy & Security (Privacyville)
  • Impact & Public Goods (Regenlandia): SDGs, ReFi เป็นต้น
  • DAOs & Communities (Daotown)

เปิดพื้นที่ MakerSpace มอบโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมเล่น-เรียน-รู้ ในโปรเจกต์คริปโตต่าง ๆ ทั้ง Crypto Art และ VR Space พร้อมกับร่วมทดลองสร้าง Prototype นวัตกรรมที่เป็นการผสมผสานระหว่าง Blockchain และศิลปะ ผ่าน Workshop และ Hackathon


ตัวอย่างโปรเจกต์ที่น่าสนใจ อย่างเช่น AI // Error Art Experiments ที่ศิลปินชาวอิตาลี อย่าง Mattia Cuttini มาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นงานศิลปะและความผิดพลาดของเทคโนโลยี AI ในการสร้างและนำเสนองานศิลปะ และอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่น่าจับตา อย่าง The Art of Chaos งานเวิร์คชอปสำหรับผู้ที่สนใจสร้าง และ Mint NFTs บน Kusama โดย Bruno Skvorc จาก RMRK.app


นอกจากนั้นแล้วยังมี Blockchain Arcade พื้นที่สำหรับ Web3 Gaming ที่จะเปิดให้ทั้งนักพัฒนาเกมและผู้ที่ชื่นชอบได้เข้ามาสัมผัสและทดลองเกมใหม่เป็นที่แรก ซึ่งเป็นเกมที่พัฒนาโดยนักพัฒนาในคอมมูนิตี้ ETHDenver และยังเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในโลก Web3 Gaming อีกด้วย


ตัวอย่างเกมที่เข้าร่วมในงาน ETHDenver อย่างเช่น Aavegotchi เกมที่เปิดให้ผู้เล่นสามารถเก็บและสะสมเหรียญคริปโตเพื่อใช้ในการ Stake อวตาร NFTs บนโลก Metaverse ของ Aavegotchi นอกจากนี้ยังมี Cellula เกม On-chain จำลองการใช้ชีวิต โดยผู้เล่นจะต้องเอาชีวิตรอดและแข่งขันในด้านกลยุทธ์ภายในเกม และ Chibi Clash เกมแนวแฟนตาซีที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยี AI และ Web3 เป็นต้น


อีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจในงาน ETHDenver เนื่องจากงานมีการผลักดันด้านงานศิลปะ จึงมีการเปิด Art Gallery ที่ได้รวมเอาโลกจริงและโลกดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกันผ่านผลงานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ ในสไตล์ Cyberpunk โดยผู้เข้าสามารถสแกนผ่าน QR Code และยังสามารถเข้าชม NFTs ผ่านจอยักษ์ได้อีกด้วย



ทำความรู้จัก SporkDAO ผู้สนับสนุน ETHDenver


SporkDAO คือ เบื้องหลังการวิวัฒนาการของ ETHDenver จากโลก Decentalization แบบทุกคนเป็นเจ้าของ สู่การมีคอมมูนิตี้เป็นเจ้าของ โดยในระบบนิเวศ SporkDAO เมมเบอร์จะสามารถถือและใช้งานเหรียญ $SPORK ในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งใช้งานอีเว้นท์ของ SporkDAO ซึ่งรวมไปถึง ETHDenver และใช้ในการลงทุน


SporkDAO ยังเป็นเจ้าของอีก 4 บริษัทย่อย (ในที่นี้จะเรียกว่า Prongs) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำงานในด้านแตกต่างกันไปบน SporkDAO Ecosystem 


นอกจากนี้ SporkDAO ยังได้มีการสนับสนุนอีเว้นท์อื่น ๆ ได้แก่ 


  • ColoradoJam โครงการ Sandbox และ Incubator ที่ทำร่วมกับ Jared Polis นายกเทศมนตรีของ Colorado ในการเฟ้นหาและพัฒนานวัตกรรม Blockchain และ Web3 สำหรับปรับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ
  • Bufficorn Ventures กองทุนคอมมูนิตี้สำหรับผู้เข้าร่วม Hackathon ที่ผ่านการคัดเลือกไปสู่รอบ Seed

ETHDenver อยู่ภายใต้การสนับสนุนของ SporkDAO องค์กรที่เป็นเจ้าของโดยคอมมูนิตี้ กำลังมีภารกิจในการ #BUIDL หรือสร้าง Denver, Colorado สู่การเป็นศูนย์กลางของ Ethereum และนวัตกรรม Blockchain และเพื่อสนับสนุนคอมมูนิตี้ Web3 ทาง SporkDAO มีการระดมทุนกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่เข้าร่วมใน ETHDenver 2024



ทำความรู้จัก Open Source กระดูกสันหลังของโลก Cryptocurrencies


การเกิดขึ้นของงานอย่าง ETHDenver เป็นการปูทางให้กับ Open Source ได้เป็นอย่างดี จากการมีส่วนร่วมของคอมมูนิตี้ บวกกับการสร้างโลก Decentralization บนระบบนิเวศ Ethereum ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


สำหรับ Open Source หลายคนอาจจะเคยรู้จักกับ OSS หรือ Open Source Software ซึ่งก็คือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือจากนักพัฒนาทั่วโลก ให้เข้ามาสร้างและพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ดีกว่าขึ้นในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะมี Source Code หรือโค้ดต้นแบบให้เหล่านักพัฒนานำไปพัฒนาต่อ ออกแบบใหม่ หรือแก้ไขปรับปรุงตามความต้องการเฉพาะด้านได้ และเมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าขึ้น Blockchain ที่เกิดขึ้นมาก็มาจากแนวคิดของการสร้างพื้นที่ Open Source เปิดให้ทุกคนที่สนใจเข้ามาร่วมสร้างคอมมูนิตี้และสร้างสรรค์ผลงานในด้านต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ทั้งซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน (dApps) โปรแกรม แพลตฟอร์ม นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ Decentalized เป็นต้น ดังนั้น Open Source จึงเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของ Bitcoin, Ethereum และเหรียญ Cryptocurrencies อื่น ๆ อีกมากมาย


Open source มีข้อดีหลายอย่างในด้านการพัฒนาในโลกคริปโต ตัวอย่างเช่น


  • ตรวจสอบได้: โค้ดสำหรับ Cryptocurrencies ที่เขียนขึ้นบน Open Source นักพัฒนาทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และสามารถแก้ไข Bugs หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นทางออกของการถูกขโมยโทเคน หรือการที่มีใครคนใดคนหนึ่งควบคุม Blockchain นั้น ๆ 

  • ปลอดภัยและโปร่งใส: เนื่องจากนักพัฒนาทุกคนในคอมมูนิตี้สามารถเข้าไปตรวจสอบและทำการแก้ไขโค้ดได้ ทำให้เพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำงาน รวมไปถึงการเข้าไปแก้ไข Bugs หรือข้อผิดพลาดของโค้ด ก็ทำให้การใช้งานมีความปลอดภัยมากขึ้น

  • ทำการ Fork ได้: การ Fork คือการเปลี่ยนแปลงโปรโตคอลบน Blockchain เดิม ไปเป็น Blockchain สายใหม่ โดยมีข้อมูลของ Blockchain เดิมทำงานอยู่แต่จะมีการปรับเปลี่ยน แก้ไขไปสู่ทิศทางใหม่ อย่างเช่น การ Fork โปรโตคอล Ethereum หลังจากเหตุการณ์แฮกเมื่อปี 2016 ทำให้ทุกวันนี้เรากำลังใช้งานบนเวอร์ชั่น Fork

  • เกิดนวัตกรรมใหม่: การ Fork นอกจากสร้างโปรโตคอลใหม่แล้ว ยังทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้เช่นกัน อย่างเช่น Bitcoin Cash (BTC) และ Bitcoin SV ที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการในการพัฒนาการทำธุรกรรมที่เร็วขึ้น และทำใด้ในปริมาณที่ใหญ่ขึ้นกว่า Bitcoin 

ความท้าทายของ Open Source และความร่วมมือจากคอมมูนิตี้


แม้ว่า Open Source จะมีข้อดีในการสร้างโลก Decentralization ที่ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างเท่าเทียม แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์บน Blockchain ในปัจจุบัน หลายฝ่ายมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ด้าน Centralization จากการเข้ามาขององค์กรใหญ่ และการหวังเก็งกำไรแบบรวดเร็วจากนักลงทุน ส่งผลให้ระบบนิเวศคริปโตมีความผันผวน และหลายคนก็เริ่มไม่มั่นใจว่าโลกคริปโตมีความเป็น Decenralized จริงหรือไม่ 


ซึ่งทีมของ Ethereum มีความต้องการจะพัฒนาโลก Decentralized ไปสู่อีกขั้น คือ ต้องการให้ทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตมีความ Decentralized เนื่องจากแอปพลิเคชันในตอนนี้ถูกควบคุมโดยบริษัทใหญ่ อย่าง Facebook, Twitter (X), TikTok หรือ Google ที่เป็นเจ้าของ Data ควบคุมการทำงานทุกอย่าง หรือมีการสร้างคอมมูนิตี้ภายใต้กรอบที่กำหนดโดยองค์กรนั้น ๆ 


ผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องบน Blockchain คงหนีไม่พ้นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แต่จะเห็นว่ามีเจ้าใหญ่ที่เป็นทั้ง TradFi เช่น JPMorgan, Fidelity รวมไปถึงธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ก็ลงเล่นในสนามนี้หลายราย และในฝั่งของ CeFi ที่เป็นบริการเกี่ยวกับ Cryptocurrencies อย่างเช่น Coinbase, Binance ก็นับว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดแลกเปลี่ยนคริปโต 


เช่นเดียวกับฝั่ง Centralized Social Media ทาง Centralized Finance ก็มีการควมคุมและกำกับดูแลข้อมูลการดำเนินงานของผู้ใช้งานเช่นกัน และยังส่งผลให้การทำธุรกรรมมีการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงมากขึ้นไปด้วย ในขณะเดียวกัน ความนิยมในการใช้งาน DeFi ก็เพิ่มมากขึ้น ด้วยข้อดีของการทำงานที่มีความโปร่งใสด้วยการทำงานบน Smart Contract อีกทั้งผู้ใช้งานสามารถควบคุมและจัดการข้อมูลของตัวเองได้ 


อย่างไรก็ตาม ด้วยการเพิ่มขึ้นของการใช้งาน DeFi ทำให้ผลลัพธ์ด้านลบ อย่าง สแกมเมอร์ การขโมยสินทรัพย์ การหลอกลงทุน รวมไปถึง Ransomware ทำให้เกิดความเสียหายมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ จากข้อมูลของ Chainalysis พบว่า เมื่อปี 2021-2023 ช่องทางที่ถูกแฮกมากที่สุดคือ แพลตฟอร์ม DeFi โดยในปี 2022 เป็นปีที่มีการขโมยสินทรัพย์สูงที่สุด อยู่ที่มูลค่า 3,100 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ปี 2023 อยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์

Screenshot 2567-04-03 at 10.56.31.png


ซึ่งทางออกของปัญหาเหล่านี้ คือ การร่วมมือกันของคอมมูนิตี้ และหน่วยงานกำกับดูแลในการเข้าไปช่วยเหลือด้านความปลอดภัย

 

การเกิดขึ้นของงานอย่าง ETHDenver ไม่ได้มีเพียงการ Showcase ของเหล่านักพัฒนาด้านคริปโตเท่านั้น แต่ยังมีความร่วมมือกับทางหน่วยงานกำกับดูแลและคอมมูนิตี้คริปโต ที่ได้เข้ามาร่วมสนทนากับในประเด็นด้านกฎหมาย ด้านความปลอดภัย การกำกับดูแล และด้านความยั่งยืน อีกทั้งยังมีการนำเสนอความเป็นไปได้ด้านความปลอดภัยในโลก Blockchain ผ่านซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์จากคอมมูนิตี้ 

 

นอกจาก ETHDenver แล้ว ทาง SporkDAO ยังมีความร่วมมือกับรัฐ Colorado ในการสนับสนุนการออกกฎและการควบคุมสำหรับธุรกิจ Web3 และ Blockchain ใน Colorado ผ่านโครงการ ColoradoJam อีกด้วย

 

นอกจาก SporkDAO และ ETHDenver แล้ว ยังมีอีกแพลตฟอร์ม Open Source ที่น่าสนใจ อย่างเช่น Hyperledger Foundation องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สนับสนุนระบบนิเวศ Blockchain ด้วยการเปิดพื้นที่เป็น Open Source ให้เหล่านักพัฒนา Blockchain จากทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้งาน พัฒนาด้วยความปลอดภัยและมีการกำกับดูแล ภายใต้การทำงานร่วมกับ Linux Foundation

 

นอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกหลาย Open Source ที่น่าสนใจสำหรับนักพัฒนาให้เข้าไปศึกษา ทดลอง และเข้าร่วมพัฒนาระบบนิเวศไปพร้อมกัน อย่างเช่น โปรเจกต์ของ Python, C++ และ Java ที่เปิดช่องทางให้นักพัฒนาที่สนใจเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ผลงานผ่านโปรเจกต์ต่าง ๆ

 

ที่มา: ETHDenver, DAOCentral, CoinDesk, SecurityIntelligence, ECB, Hyperledger, BeInCrypto, Masterthecrypto, Rocket.chat, Coinbase, Business2Community, Geniusee, Chainalysis

 

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept