milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
trending
08 พฤษภาคม 2567
ภาษาไทย

ERC-404 คืออะไร? ทำความรู้จักนวัตกรรมใหม่ ผสานฟังก์ชันโทเคน Fungible และ Non-Fungible

Ethereum แพลตฟอร์มที่เปิดให้เหล่านักพัฒนาเข้ามาพัฒนา DApps ได้อย่างอิสระ ซึ่งหนึ่งใน DApps ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็หนีไม่พ้นที่เกี่ยวข้องกับ Token (โทเคน) ที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรูปแบบตั้งแต่ สกุลเงิน ไปจนถึง ของสะสมหรืองานศิลปะ


Article5APRTh_1200X800.jpg


บน Ethereum จะมีมาตรฐานในการสร้างโทเคนอยู่หลายรูปแบบ จะมีชื่อที่หลายคนเคยเห็นหรือเคยได้ยินมา อย่างเช่น ERC-20 สำหรับ Fungible Tokens และ ERC-721 สำหรับ Non-Fungible Tokens หรือ NFTs


ก่อนจะไปทำความเข้าใจกับโปรโตคอล ERC เราจะขออธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง Fungible Tokens และ Non-Fungible Tokens หรือ NFTs กันก่อน


  • Fungible Tokens คือ สินทรัพย์ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติเฉพาะตัว หนึ่งโทเคนจะมีค่าเท่ากับอีกหนึ่งโทเคน และยังสามารถแบ่งส่วนได้ ตัวอย่างเช่น 1 ETH จะมีมูลค่าเท่ากับอีก 1 ETH และเราสามารถแลกเปลี่ยนได้โดยที่ไม่ต้องใช้ทั้ง 1 ETH
  • Non-Fungible Tokens ในทางกลับกันคือ สินทรัพย์ที่มีความเฉพาะตัว มีมูลค่าเฉพาะตัว และไม่สามารถแบ่งแยกส่วนได้ ซึ่งแต่ละโทเคนจะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างที่เราเห็นได้จากงานศิลปะต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม โทเคนทั้ง 2 แบบนี้มีข้อจำกัดและความท้าทายในตัวเองอยู่ อย่างใน ERC-20 ที่ขาดความเฉพาะตัว อีกทั้งยังไม่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการ ในขณะที่ ERC-721 สามารถทำได้ แต่กลับขาดสภาพคล่อง เนื่องจากมีมูลค่าการแลกเปลี่ยนสูง นอกจากนี้ การจะเชื่อมเอา Fungible Tokens และ Non-Fungible Tokens เข้ามาด้วยกัน หรือสร้างเป็นโทเคนแบบ Hybrid หลายฝ่ายยังมองว่าเกิดขึ้นได้ยาก


แต่เมื่อไม่นานมานี้ เราจะเห็นข่าวของโทเคน “ERC-404” อีกหนึ่งความเป็นไปได้ของการเชื่อมเอา Fungible Tokens และ Non-Fungible Tokens เข้าไว้ด้วยกัน มาตรฐานใหม่ที่น่าจับตาในการสร้างโทเคน ซึ่งหลังจากเปิดตัวได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ERC-404 ก็มีมูลค่าการแลกเปลี่ยนพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องกว่า 76 ล้านดอลลาร์ภายใน 24 ชั่วโมง โดยมีซัพพลายอยู่เพียง 8,000 โทเคน 


ERC-404 คืออะไร? มีความน่าสนใจอย่างไร? และจะเข้ามามีบทบาทอย่างไรบนระบบนิเวศ Ethereum บทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับรูปแบบโทเคนที่หลังจากเปิดตัวได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ก็มีมูลค่าการแลกเปลี่ยนพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องกว่า 76 ล้านดอลลาร์ภายใน 24 ชั่วโมง โดยมีซัพพลายอยู่เพียง 8,000 โทเคน อย่าง “ERC-404” กัน



ERC-404 คืออะไร?


ERC-404 คือ มาตรฐานการสร้างโทเคนที่ยังอยู่ในช่วงของการทดสอบ ซึ่ง ERC-404 ถูกคิดค้นและพัฒนาโดย “ctrl” และ “Acme”


แนวทางการพัฒนา ERC-404 คือการรวมเอาฟีเจอร์ของ ERC-20 ซึ่งเป็นโทเคน Fungible ที่สามารถแบ่งแยกสัดส่วนได้ เข้ากับฟีเจอร์ของ ERC-721 ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และผู้ถือสามารถใส่อัตลักษณ์ของตัวเองลงไปได้


ERC-404 ยังเป็นคอนเซ็ปต์ของ “Semi-Fungible Tokens” อีกด้วย ซึ่งผู้ที่สนใจเป็นเจ้าของโทเคนจะสามารถเป็นเจ้าของเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของโทเคนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งโทเคน ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และเพิ่มความยืดหยุ่นในสินทรัพย์ดิจิทัล



การทำงานของ ERC-404


หัวใจสำคัญของ ERC-404 คือ ความสามารถในการ Mint (สร้างเหรียญ) และ Burn (ทำลายเหรียญ) ซึ่งโทเคน ERC-404 จะสามารถแบ่งแยกสัดส่วน และยังสามารถแลกเปลี่ยนออกไปในรูปแบบ NFTs ได้ ซึ่งกลไกนี้จะทำให้ผู้ถือโทเคนสามารถแยกส่วนของโทเคนให้เล็กลงได้ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าสูงได้ บวกกับเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด 


โทเคน ERC-404 จะแสดงถึงลักษณะพิเศษสำคัญในแต่ละส่วนของ NFT ผู้ถือโทเคนสามารถเป็นเจ้าของได้ทั้งโทเคน หรือจะสะสมแต่ละสัดส่วนจนเพียงพอที่จะ Burn และรับโทเคน NFT เหรียญใหม่แทน


และเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นในกลไกการทำงานของ ERC-404 เราจะพาไปดูเป็นข้อ ๆ ดังนี้


  • รวมฟีเจอร์ของ ERC-20 และ ERC-721 ไว้ด้วยกัน: ตามที่อธิบายมาข้างต้น โทเคน ERC-404 ถูกออกแบบมาเพื่อปิดช่องว่างระหว่าง Fungible และ Non-Fungible Tokens ลง ซึ่งเหรียญ ERC-404 จะมีฟังก์ชันที่รวมเอาความพิเศษของโทเคนทั้ง 2 รูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน
  • แบ่งสัดส่วนและเป็นเจ้าของ NFTs ได้ง่าย ๆ : หนึ่งในฟีเจอร์สำคัญของโทเคน ERC-404 คือ สามารถเป็นเจ้าของแบบแบ่งสัดส่วนได้ โดยที่ผู้ถือโทเคนไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งโทเคน ซึ่งเป็นการรวมความสามารถของ Fungible Tokens ที่สามารถแยกสัดส่วนได้ เข้ากับ NFTs ที่มีมูลค่าสูง และมีความเป็นเอกลักษณ์นั่นเอง
  • มีกลไก Minting และ Burning: โดยเมื่อเราทำการแลกเปลี่ยนโทเคน ERC-404 ซึ่งเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของ NFT ตัว NFT ส่วนที่เหลือนั้นจะสามารถถูก Burn ไป แต่ถ้าเราสะสมส่วนที่เหลือเข้ามาไว้จนครบทั้งโทเคน ตัว NFT นั้นจะถูก Mint เป็นโทเคนใหม่ได้ ซึ่งกลไกนี้จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนโทเคนแบบไร้รอยต่อ ด้วยการเป็นเจ้าของ NFT ได้ง่ายขึ้นผ่านขั้นตอนแบบเดียวกับการแลกเปลี่ยน Fungible Tokens

ความแตกต่างของ ERC-404 และการนำไปใช้งาน


ด้วยความสามารถในการเป็นเจ้าของ NFT แบบที่แบ่งแยกสัดส่วนได้นั้น ERC-404 จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเป็นเจ้าของและเพิ่มสภาพคล่องในตลาดได้ ทำให้การแลกเปลี่ยน NFTs ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของโทเคนทั้งโทเคน ซึ่งการรวมเอาความพิเศษของทั้ง Fungible และ Non-Fungible Tokens เข้าด้วยกัน ช่วยเปิดทางให้เกิดโปรเจกต์ NFT ใหม่ ๆ หรือแอปพลิเคชันที่น่าสนใจมากขึ้นบนระบบนิเวศ Ethereum ตัวอย่างเช่น


  • งานศิลปะและของสะสม: ด้วยความสามารถในการเป็นเจ้าของ NFT เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งได้นั้น ผู้ที่มีความสนใจจะสามารถเข้าถึงงานศิลปะหรือของสะสมที่มีมูลค่าสูงที่ตัวเองสนใจได้ ทำให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่มีคุณค่าได้อย่างเท่าเทียม
  • อสังหาริมทรัพย์: ที่ผ่านมาอสังหาริมทรัพย์ถูกแปลงมาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล และได้รับความนิยม ซึ่งการเกิดขึ้นของ ERC-404 จะช่วยผลักดันให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากการเป็นเจ้าของแบบแบ่งสัดส่วนได้ ทุกคนจะสามารถเข้าถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น
  • Gaming และ Metaverse: สำหรับโลก Gaming และ Metaverse การเป็นเจ้าของโทเคนแบบเป็นสัดส่วนนั้นจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์และ Virtual Land ภายในเกม อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเศรษฐกิจบนโลก Virtual ได้อีกด้วย
  • ระบบการเงินแบบ Decentralized: การเป็นเจ้าของสัดส่วนของสินทรัพย์หรือแชร์ของสตาร์ทอัพหรือโปรเจกต์ จะช่วยเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพหรือโปรเจกต์ต่าง ๆ ได้

ตัวอย่างโปรเจกต์ ERC-404 ที่น่าสนใจ



ถึงแม้ว่า ERC-404 จะเปิดตัวได้เพียงไม่นาน แต่หลายฝ่ายให้ความสนใจกับสินทรัพย์ตัวนี้ โดยที่ผ่านมามีโปรเจกต์ที่ได้ทดลองเอาโปรโตคอล ERC-404 เข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับภูมิทัศน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลบน Ethereum และด้วยการนำเอา ERC-404 ไปใช้งานมากขึ้น ในอนาคตเราอาจจะมีโอกาสได้เห็นโปรเจกต์ของ Semi-Fingible Tokens มากขึ้น


โดยตัวอย่างของโปรเจกต์ที่เกี่ยวข้องกับ ERC-404 ที่น่าสนใจ อย่างเช่น

  • Pandora: โปรเจกต์แรกที่เป็นแนวทางของ ERC-404 คือ โปรเจกต์ของ Pandora ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นเจ้าของ NFTs ของ Pandora แบบแยกสัดส่วนได้
  • DeFrogs: โปรเจกต์ของ DeFrogs เกิดขึ้นหลังจากที่ Pandora ประสบความสำเร็จในการใช้งาน ERC-404 โดยโปรเจกต์ของ DeFrogs จะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นเจ้าของ 10,000 frog PFPs หรือ Profile Picture NFTs โดยการซื้อ 1 โทเคนของ DeFrogs จะเท่ากับ Minting 1 NFT
  • Monkees: Monkees คือผู้เล่นรายล่าสุดในการรับเอา ERC-404 ไปใช้ โดยโปรเจกต์จะมีความคล้ายคลึงกับ DeFrogs คือเปิดให้เป็นเจ้าของคอลเล็กชันของ Monkey PFPs ซึ่งทาง Monkees ยืนยันว่าการใช้ ERC-404 นี้ทำให้พวกเขาเห็นการเติบโตแบบเป็นรูปธรรมมากกว่าแบบเดิม

นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์อย่างเช่น Punks404 และ EtherRock404 ที่จะดำเนินงานด้วย ERC-404 ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างด้านมูลค่าทางตลาดและปริมาณการซื้อ-ขายกับโปรเจกต์ของผู้เล่นที่กล่าวมาข้างต้น



ข้อจำกัดและความท้าทาย


ERC หรือ Ethereum Request for Comments คือ มาตรฐานสำหรับการเขียนโปรแกรมบน Ethereum ที่นักพัฒนาจะต้องมีการยื่นเสนอ และมีการเปิดให้คอมมูนิตี้ทดลองใช้งาน เพื่อตรวจสอบว่ามีความเป็นไปได้ ปลอดภัย และมีประโยชน์


อย่าไงก็ตาม ERC-404 ยังไม่ได้รับการการตรวจสอบ (Unaudited) และยังไม่ผ่านขั้นตอนของการยื่น Proposal ทั้ง ERC และ EIP (Ethereum Improvement Proposal) ซึ่งการที่ ERC-404 ยังไม่ได้รับการตรวจสอบนี้ทำให้เกิดความกังวลเรื่องของความเปราะบางและความไร้ประสิทธิภาพ รวมไปถึงความเสี่ยงในการดำเนินงานบนระบบนิเวศ Ethereum 


นอกจากนี้ การเชื่อมเอาความสามารถของ Fungible และ Non-Fungible Tokens เข้าไว้ด้วยกันในโทเคนเดียวยังมีความท้าทายในอีกหลายด้าน บวกกับยังต้องมีการทดสอบในเรื่องของการทำงานและความปลอดภัย โดยความท้าทายของ ERC-404 ที่ยังต้องให้ความสนใจ อย่างเช่น

  • ความกังวลด้านสภาพคล่อง: ในขณะที่ ERC-404 ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสามารถด้านสภาพคล่องด้วยการเป็นเจ้าของโทเคนเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ แต่ยังคงต้องอาศัยอีกหลายปัจจัยเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง ทั้งด้านจำนวนผู้ใช้งาน แพลตฟอร์มที่จะใช้งาน รวมถึงความสามารถของตลาด ซึ่งโปรเจกต์แรก ๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะยังมีปัญหาและมีอุปสรรค จนกว่าจะมีการใช้งานมากขึ้น
  • จำนวนผู้ใช้งานน้อย: เนื่องจาก ERC-404 ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา และมีเพียงไม่กี่โปรเจกต์ที่ดำเนินงานภายใต้ ERC-404 ทำให้มีจำนวนผู้ใช้งานน้อยเมื่อเทียบกับ ERC-20 และ ERC-721
  • ความท้าทายด้านเทคนิค: ด้วย ERC-404 คือการรวมเอาฟีเจอร์ของทั้ง Fungible และ Non-Fungible Tokens เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้มีความซับซ้อนในด้านเทคนิค อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในด้านของความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายเกี่ยวกับแพลตฟอร์มเทรดสินทรัพย์และวอลเล็ตในปัจจุบันที่จะต้องรองรับโทเคนแบบ Hybrid นี้
  • การลงทุนแบบเก็งกำไร: การลงทุนในโปรเจกต์ ERC-404 มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการลงทุนแบบเก็งกำไร ซึ่งอาจจะส่งผลถึงตลาดที่ทุกฝ่ายจะมุ่งไปสู่การลงทุนแบบนี้ และอาจจะถึงขั้นฟองสบู่แตกตามมา
  • ความไม่แน่นอนด้านการกำกับดูแล: ความพิเศษของ ERC-404 อาจจะเป็นตัวดึงดูดที่ดีให้ฝั่งของผู้กำกับดูแลเข้ามาสนับสนุนโลกคริปโตและ NFTs มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีการถกเถียงกันในด้านนี้ ซึ่งหากมีการกำกับดูแลที่เหมาะสมเข้ามา การรับเอา ERC-404 ไปใช้งานก็อาจจะมีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางทีมผู้พัฒนา ERC-404 ได้ออกมายืนยันว่ากำลังดำเนินการทำ EIP เพื่อนำเสนอมาตรฐานการใช้งาน ซึ่งอาจจะใช้เวลาในการตรวจสอบค่อนข้างนาน และหากได้รับการอนุมัติ จะได้รับการยอมรับโดย Ethereum Foundation และจะสามารถใช้งานได้บน Ethereum



สรุป


การเกิดขึ้นของ ERC-404 คืออีกหนึ่งก้าวสำคัญของการพัฒนาบนระบบนิเวศ Ethereum ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่จะนำไปสู่การสร้างโทเคนที่มีความยืดหยุ่น ด้วยการเชื่อมฟังก์ชันสำคัญของ Fungible และ Non-Fungible Tokens เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของโทเคนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดอีกด้วย


อย่างไรก็ตามการพัฒนาที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ทำให้ยังไม่ได้รับการตรวจสอบภายใต้ระบบของ Ethereum และยังมีความกังวลในเรื่องของความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และการใช้งานโทเคนแบบ Hybrid ยังมีข้อจำกัด 


อ้างอิง: Cyberscope, Anndy Lian’s LinkedIn, Nasdaq, CoinDesk, Transak

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept