milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
23 ธันวาคม 2564
ภาษาไทย

ทัศนคติและแนวทางต่อไปของ Polygon ผู้นำ Multi-Chain เพื่อผลักดัน DeFi บน Ethereum Chain

ถ้าพูดถึง Cryptocurrency คงไม่มีใครไม่รู้จัก Ethereum Blockchain ที่มีขนาดใหญ่และเป็นที่นิยมอันดับที่ 2 รองจาก Bitcoin โดยมี Market Cap อยู่ที่ 14,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีปริมาณการหมุนเวียนของเงินในแต่ละวันกว่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สำคัญคือบนเครือข่าย Ethereum ถือเป็น Community ที่รวมนักพัฒนาไว้เป็นจำนวนมากที่สุด และมี dApps มากที่สุด แต่ Ethereum ก็มีปัญหาในเรื่องของค่าธรรมเนียมที่แพง และความสามารถในการรองรับปริมาณธุรกรรมที่ยังมีไม่มาก จึงต้องใช้เวลานาน 

Polygon จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้าง  Layer 2 Solution ซึ่ง Polygon เป็นแพลตฟอร์มแรกที่สร้างขึ้นเพื่อ Scaling บน Ethereum และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยการออกแบบอย่างรอบคอบและง่ายต่อการใช้งาน ทำให้สามารถรองรับธุรกรรมกว่า 65,000 tps (รายการต่อวินาที) บน SideChain เดี่ยวและใช้เวลายืนยัน Block เพียง 2 วินาที ส่งผลให้ Polygon มีมูลค่า TVL 8,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  และราคาเหรียญ MATIC (Native tokens ของ Polygon) ก็มาแรงแบบไม่มีทีท่าว่าจะลงในช่วงกลางปีที่ผ่านมา แม้ว่า ETH จะมีความผันผวนหรือราคาดิ่งลงในบางช่วงก็ตาม วันนี้ SCB 10X จึงนำบทสัมภาษณ์จากงาน REDeFiNE TOMORROW 2021 ของคุณ Sandeep Nailwal, Co-Founder และ COO ของ Polygon ที่เป็นผู้นำตลาด Layer 2 ในการใช้โซลูชัน Plasma ตั้งแต่ยุคแรก และดำเนินรายการโดยคุณ Gautam Chhugani, Crypto Strategy Director แห่ง Bernstein บริษัทวิจัยใต้ร่ม AllianceBernstein (ARK invest) ที่มีสินทรัพย์มูลค่ากว่า 680,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ว่ามีความเป็นมารวมถึงแนวทางในการดำเนินกิจการต่อไปอย่างไรมาให้ติดตามกัน


1200x800 Polygon & The Future of Layer 2 01.png

จาก Matic สู่ Polygon


ก่อนจะมาเป็น Polygon แบบทุกวันนี้ บริษัทนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ Matic Network ซึ่งเป็น Layer 2 Solution หรือก็คือโปรเจกต์ที่ถูกสร้างขึ้นมาครอบ Layer 1 อย่างเช่น Bitcoin หรือ Ethereum โดยสร้าง Blockchain ขึ้นมาอีกตัว ส่วนใหญ่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาด้าน Scalability ลดค่าธรรมเนียม และเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม โดย Polygon เป็นหนึ่งโซลูชันที่ทำให้ Ethereum หนึ่งในเชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก Crypto พร้อมกับกลายเป็นระบบ Multi-Chain ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือ  Layer 2 Solution นี้เป็นหนึ่งในตัวสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการ DeFi 

นอกจากนี้ Polygon เป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ที่ใช้โซลูชัน Plasma ที่มี 3 คุณลักษณะเด่นคือ Speed, Non-custodial และ Security โดยในตอนแรกโซลูชันนี้เป็นแนวคิดของ Joseph Poon กับ Vitalik Buterin (co-Founder of Ethereum) ที่ใช้ Consensus แบบ PoA (Proof of Authority) แต่สามารถปรับมาใช้แบบ PoS (Proof of Stake) อย่างที่ Polygon ใช้อยู่ในปัจจุบัน หลังจากที่ Matic Network ได้พัฒนาระบบนิเวศใน Layer 2 บน Etherium แล้วก็มีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น จึงทำการรีแบรนด์เป็น Polygon ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม Sandeep มองว่านี่เป็นการสร้างแบรนด์ใหม่โดยขยายขอบเขตจากเดิม ไม่ใช่รีแบรนด์แบบที่คนส่วนมากกล่าว เนื่องจาก Matic ก็ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม แต่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการ Stake รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของระบบและการใช้งานระบบ Governance และพวกเขาเพิ่มกลยุทธ์ในการเป็น Multi-Chain ที่สมบูรณ์และครบวงจร (Suite of Solutions) โดยการสนับสนุนโซลูชันอื่นใน Layer 2 นอกจากเดิมที่มีแต่ Plasma เช่น Sidechains, State Channels, Validium, ZK Rollups (Zero- Knowledge Rollups) และ Optimistic Rollups เพราะที่สุดแล้วพวกเขาต้องการที่จะมีโซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละบริการในระบบนิเวศ และแน่นอนว่าคงไม่มีโซลูชันใดที่ตอบโจทย์ทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งล่าสุดพวกเขาเพิ่งได้เปิดตัว Polygon SDK ซึ่งเป็น Modular ที่มีความยืดหยุ่นในการรองรับ dApps ที่จะเกิดขึ้นอีกมากในแต่ละ Chains 




มุมมองต่อความล้มเหลวการลงทุนและการถูกโกง


ในเดือนมิถุนายน 2021 Polygon ได้ใช้เงิน 10.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการสนับสนุนโครงการต่างๆ เพื่อให้นักพัฒนาสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ DeFi ที่ซับซ้อนและน่าสนใจมากขึ้นบน Ethereum ได้ผ่านทาง Polygon โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้งาน ซึ่ง Sandeep บอกว่าพวกเขาไม่ได้กังวลเลยหากว่าโครงการเหล่านั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจล้มเหลวตั้งแต่ออกแบบโมเดล เพราะมันก็เป็นเพียงความล้มเหลวในแบบจำลองเพื่อที่จะหาแนวทางที่ดีขึ้น เนื่องจาก Polygon ต้องการเป็น Multi-Chain จึงไม่ได้ต้องการเพียงแค่โซลูชันเดียวเท่านั้น ต้องหาแนวทางที่หลากหลายเพื่อเสนอเป็นทางเลือกแก่นักพัฒนาและผู้ใช้งานจนกว่าจะเป็นที่ยอมรับ แต่การที่มีข่าวเรื่องฉ้อโกงในโลก Crypto อย่างต่อเนื่องย่อมส่งผลต่อการยอมรับของผู้ใช้งาน 

อย่างไรก็ตาม Sandeep ไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นอุปสรรค เขามองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดการ Hack หรือ Rugpull เพราะในวงการนี้มันก็ไม่ต่างกับตลาดเสรี ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็จะหาวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ เช่น  Aave หรือ Compound ที่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียด จึงไม่ได้ถูก Hack บ่อยหรือในจำนวนเงินที่มากเมื่อเปรียบกับที่อื่น หรือแม้แต่ในโปรโตคอลที่ใหญ่กว่าบางตัว เช่น MakerDAO ที่ถูกแฮ็ก ก็ไม่ได้ทำบริษัทต้องปิดตัวลง เพราะถึงแม้เงินที่โดนโกงจะมีมูลค่ามาก แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับขนาดของระบบนิเวศทั้งหมด และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นคนในวงการก็จะเรียนรู้และพัฒนาขึ้น ซึ่งเขาคิดว่านี่คือพลังของเครือข่าย Ethereum อย่างเช่น การพัฒนามาใช้ Multi-Signature Wallet (Multisig) ที่เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมมากขึ้น โดยหลักการคือต้องใช้กุญแจอย่างน้อย 2 จาก 3 ดอก ในการปลดรหัสเพื่อใช้งาน ซึ่งคุณจะพกติดตัว 1 ดอก เก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยของคุณ 1 ดอก และอยู่ที่ผู้ให้บริการ Multisig อีกหนึ่งดอก และโปรโตคอลนี้ทำให้มีการใช้งาน Crypto ในชีวิตประจำวันมากขึ้นด้วย



ก้าวต่อไปของ Polygon ในปี 1-2 ปีนี้


ก่อนหน้านี้ Matic ค่อยๆ ปรับ Adoption Approach ให้ช้าลง จนกระทั่งเป็นหนึ่งใน Blue Ships ได้ในปี 2018 ดังนั้นจึงถึงเวลาที่จะขยายตัวอีกครั้ง เมื่อกลายเป็น Polygon พวกเขาจะวิจัยและพัฒนาโปรโตคอลหรือโซลูชันใหม่ๆ เพื่อให้ครอบคลุมการเป็น Scaling Solutions ที่ใหญ่ที่สุดบน Etherium สำหรับ Sandeep แล้ว Polygon มีความได้เปรียบอย่างหนึ่งจากการที่พวกเขามีผู้ก่อตั้งเป็นวิศวกรถึง 4 คน  โดยแต่ละคนก็มีความถนัดและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน และให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกับนักวิจัยเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงได้ง่าย และสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับผู้ใช้งาน โดยตอนนี้พวกเขากำลังสร้าง Aggregator และกำลังทำงานร่วมกับทุกคนในระบบนิเวศนี้ด้วยโซลูชัน Optimistic Rollups แต่สำหรับระยะยาวเขามองว่าโปรโตคอล Zero- Knowledge Proof (
ZKP) จะยั่งยืนกว่าในเลเยอร์นี้ ซึ่ง ZKP คือ กระบวนการยืนยันธุรกรรมระหว่างผู้ยื่นข้อมูลและผู้ตรวจสอบ โดยผู้ยื่นเพียงแค่พิสูจน์ว่ารู้ข้อมูลบางส่วนจริง ทำให้ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด แม้แนวคิดนี้จะถูกคิดครั้งแรกตั้งแต่ปี 1985 แต่ปัจจุบันแนวคิดของโปรโตคอลนี้ ZKP จะทำให้การตรวจสอบธุรกรรมเร็วขึ้น และข้อมูลทางการเงินของเราจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ที่สำคัญคือมีความปลอดภัยที่สูงขึ้นด้วย นี่จึงเป็นแนวทางต่อไปของ Polygon ซึ่งเขาจะออกมาเผยรายละเอียดเพิ่มเติม และหาสมาชิกเข้าทีมเพิ่มเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ Polygon วางแผนที่จะสร้าง DAO (Decentralized Autonomous Organization) เพื่อช่วยกระจายความรับผิดชอบของตัวเองไปยังเครือข่าย เพื่อให้เหมาะกับ DeFi มากขึ้น เพราะหนึ่งในเป้าหมายของ Polygon ก็คือผลักดันวงการ DeFi ให้มีระบบนิเวศที่ใหญ่ขึ้น

Sandeep และทีมเชื่อว่าในอนาคต Ehereum จะกลายเป็น Fundamental Settlement Layer พื้นฐานของ Web 3.0 จึงผลักดันให้ Polygon เป็น Decentralized Execution Platforms ที่นักพัฒนาจะสามารถเลือกใช้โซลูชันแบบก็ได้ พวกเขาจึงยังจะสร้าง Chain ที่ขนานแต่กับ Ethereum ต่อไป โดย Sandeep ไม่คิดว่า Ethereum 2.0 หรือ EIP-1559 จะทำให้ผู้ใช้งานของเขาลดลง เพราะ Ethereum 2.0 จะมี 64 ชาร์ด คล้ายกับ Ethereum ในปัจจุบัน และหลังจากที่เพิ่ม PoS ให้กับ chain เดียวในปัจจุบัน จะสามารถประมวลผลได้ 50 tps ต่อชาร์ด รวมทั้งหมดเป็น 3,200 tps ซึ่งมีพื้นที่พอแค่ข้อมูลแอปพลิเคชันเท่านั้น แต่การดำเนินธุรกรรมจะเกิดขึ้นบนเลเยอร์ 2 ดังนั้นในการจะเป็น Multi-Chain หรือ Suite of Solutions จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรอย่างมาก จึงอาจสังเกตได้ว่าแทนที่ Polygon จะเน้นขาย Native Token (MATIC) แต่พวกเขากลับเก็บไว้เป็นสินทรัพย์คงคลังเพื่อใช้พัฒนาระบบนิเวศนี้ต่อไป โดยโทเค็นที่เขาถือในตอนนี้อาจมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และในตอนนี้พวกเขามีทีมผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศและหลายสาขาที่ร่วมมือกันเพื่อ Scaling บน Ethereum ให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับการขยายฐานการใช้งานที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเห็นได้ชัดจากอุตสาหกรรม NFT ที่มีผู้ใช้งานหลักล้านคน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้งานได้ทันใจบน Ethereum 2.0 อย่างไรก็ตาม Sandeep คิดว่าสำหรับเป้าหมายในการเป็น Multi-Chain ในเชิงเทคนิคจะไม่มีวันใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ เพราะการจะรวบรวมแต่ละโซลูชันในเลเยอร์ 2 มักจะมีปัญหาและพวกเขาต้องตามพัฒนาอยู่เสมอ 

เมื่อกล่าวถึง NFT แน่นอนว่าทาง Polygon เองก็กำลังจะลงแข่งขันในอุตสาหกรรมเกม NFT ด้วย โดยแยกทีมนักพัฒนาเกมและนักพัฒนาเว็บออกมาตั้งสตูดิโอโดยเฉพาะ เพราะ Sandeep เชื่อว่า NFT จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าใน web 2.0 และ 3.0 ซึ่ง Polygon Studios สนับสนุนกองทุน UNXD Culture จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐในการลงทุนและขยายโครงการเกมของ Web 3.0 บนเครือข่าย เพื่อให้ Polygon เป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนที่มีจำนวนเกมและผู้ใช้งานมากที่สุด นอกจากนี้ยังลงทุนมูลค่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐในการเปิดเป็นตลาด NFTสำหรับแบรนด์สินค้าหรูหราและไลฟ์สไตล์ ครีเอเตอร์ดิจิทัล และครีเอทีฟโฆษณาอิสระ 

และในปลายปีนี้ Polygon ก็เตรียมที่จะปล่อย Optimistic Rollups ออกมาให้ลองใช้งาน และจะตามมาด้วย  Application Specific Chains กับ Enterprise Chains ต่อไป ซึ่งรายละเอียดของแต่ละโซลูชันจะเป็นอย่างไร หรือจะมีเรื่องราวของ Blockchain ไหนที่น่าสนใจ  SCB 10X จะนำมาให้ทุกท่านได้ติดตามกันอย่างแน่นอน



สามารถรับฟัง Session นี้ย้อนหลังได้ที่: YOUTUBE

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept