milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
19 มีนาคม 2564
ภาษาไทย

อัปเดทภาพรวม HealthTech ประเทศไทย และโอกาสเติบโตสู่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ

นอกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพหรือ Healthcare ก็เป็นภาคหนึ่งที่ถือว่ามีศักยภาพสูง ทั้งด้านคุณภาพที่ไทยรักษามาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับ และเทรนด์ประชากรที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นการสร้าง Demand ให้กับธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาค Healthcare ก็เป็นภาคหนึ่งที่กำลังถูก Disrupt จากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลไม่น้อย เป็นสาเหตุให้เทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพหรือ HealthTech เติบโตขึ้น และการเติบโตนี้ได้รับการจับตาว่าจะสอดรับกับศักยภาพในอุตสาหกรรม Healthcare ของบ้านเราขนาดไหน SCB 10X จึงขอชวนทุกท่านไปสำรวจภาพกว้างของ HeathTech ในประเทศไทยกัน

1200x800 Health Tech Landscape in Thailand 03.png

แย้มอุตสาหกรรม Healthcare ไทย กับศักยภาพที่สูงอันดับต้นของโลก

เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ ภาคการแพทย์และการดูแลสุขภาพถือเป็นภาคหนึ่งที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในระดับโลก โดยข้อมูลจาก BOI ระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรม Healthcare และ Medical ในระดับสูงผ่านประเด็นดังต่อไปนี้

  • ไทยเป็นตลาดด้าน Medical Tourism ใหญ่อันดับที่ 5 ของโลก จากข้อมูลในปี 2019 ประเทศไทยทำรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์มากถึง 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการต้อนรับผู้ใช้บริการด้านการดูแลสุขภาพจากต่างประเทศราว 3.5 ล้านคน จากตัวเลขดังกล่าวทำให้ไทยเป็นตลาดด้าน Medical Tourism ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก
  • เป็นผู้นำในตลาดอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของอาเซียน นอกจากการด้านการให้บริการแล้ว การผลิตอุปกรณ์ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยยังถือเป็นผู้นำของภูมิภาคด้วย โดยเมื่อปี 2019 ประเทศไทยส่งออกและนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์รวมกันมากถึง 27,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นส่งออกมากถึง 18,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 8,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าที่สูงระดับนี้มาจากการเป็นฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์กว่า 600 บริษัท
  • ความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่เพียงแต่การผลิตเท่านั้น แต่การบริโภคในประเทศก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยจากการที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยไทยมีสัดส่วนประชากรอายุเกิน 60 ปี มากที่สุดในอาเซียน และมีความต้องการใช้บริการด้านสุขภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มชาวต่างชาติที่ประสงค์ใช้บริการรักษาโรคในประเทศไทยร่วมด้วย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานบริการในประเทศไทย

ประเด็นทั้งหมดนี้เป็นส่วนรวมที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพของไทยให้อยู่ในระดับโลก ซึ่งเมื่ออุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นมาก การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพหรือ HealthTech ก็เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้บริการเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น


ภาพรวมตลาด HealthTech ของไทย เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ASEAN

จากรายงานของ INSEAD เรื่องภาพรวมอุตสาหกรรม Healthcare และ HealthTech ใน 4 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีพัฒนาการด้าน HealthTech ที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี อย่างไรก็ตาม ในรายงานฉบับดังกล่าวได้นำเสนอตัวเลขที่บ่งชี้ถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยในประเด็นดังต่อไปนี้

  • ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพของไทยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน ในรายงานระบุว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 247 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าอีก 3 ประเทศในกลุ่มสำรวจเฉลี่ย 2 เท่า ตัวเลขดังกล่าวมาจากการอุดหนุนจากภาครัฐฯ ซึ่งประเทศไทยมีอัตราส่วนการอุดหนุนสูงที่สุดใน 4 ประเภทข้างต้นเช่นกัน
  • มีพัฒนาการในอุตสาหกรรม Healthcare สูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค เมื่อเจาะลงไปยังการสนับสนุน Startup ด้าน HealthTech โดยเปรียบเทียบกับ 4 ประเทศข้างต้น พบว่าประเทศไทยมีจำนวนการสนับสนุนสูงที่สุด รวมถึงพบการสนับสนุนในเทคโนโลยีพื้นฐาน (Fundamental) ที่ชัดเจนอย่างกลุ่ม Biotechnology ด้วย
  • สัดส่วนการลงทุนใน HealthTech ไทยยังไม่สูง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีพัฒนาการสูงที่สุด แต่มูลค่าการลงทุนใน HealthTech ของไทยยังต่ำกว่า อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมถึงสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่จ่ายเงินลงทุนในด้าน HealthTech สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยในปี 2019 ทั้งภูมิภาคมีมูลค่าการลงทุนรวมที่ 266 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สิงคโปร์ทุ่มเงินลงทุนในด้าน HealthTech คิดเป็นสัดส่วน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนดังกล่าว ขณะที่ อินโดนีเซียและเวียดนามคิดเป็นประเทศละ 15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศไทยอยู่ในสัดส่วนไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์
  • ช่องว่างการเข้าถึงบริการระหว่างเขตเมืองกับเขตชนบท ในรายงานของ INSEAD อ้างอิงข้อมูลจาก WHO ระบุว่าประเทศไทยยังมีปัญหาด้านการดูแลสุขภาพในเขตชนบท ทั้งในด้านคุณภาพการรักษาและการเข้าถึง ซึ่งในส่วนนี้เองเป็นหนึ่งในปัญหาที่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแก้ไขในอนาคต

กางแผนที่ Health Tech Startup Ecosystem 

จากที่เราได้ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ดังนั้น แวดวงการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพของไทยเองก็มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักไม่แพ้กัน Thai HealthTech Association ได้รวบรวมข้อมูล HealthTech Startup ในประเทศไทยและระบุเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ว่ามี Startup HealthTech 56 ราย ประกอบด้วย Startup ด้าน TeleHealth ที่ให้บริการทางการแพทย์ทางไกล, Remote Monitoring การติดตามอาการแบบทุกที่ทุกเวลา, Clinic Management Solution ช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนทำงานด้านการแพทย์ ไปจนถึง BioTechnology นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านนวัตกรรมร่วมสนับสนุนมากมาย

ทั้งนี้ ตัวอย่าง Startup ไทยในอุตสาหกรรม Healthcare และ HealthTech ที่น่าสนใจ ได้แก่

  • Arincare ผู้พัฒนาระบบ Pharmacy Management System ทำให้ร้านขายยาหรือคลีนิคสามารถจัดการสินค้าได้ดีขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้ระบบจัดการจากต่างประเทศ โดย Arincare ได้ระดมทุน Series A ไปเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา
  • Meticuly เป็น Startup ที่พัฒนาการผลิตชิ้นส่วนกระดูกแบบ 3D Print โดยใช้ AI คำนวณลักษณะของแบบกระดูกให้เหมาะกับความต้องการรักษาของแต่ละคน ทำให้มีต้นทุนวัสดุถูกกว่าการรักษาแบบเดิมถึง 3 เท่า โดย Meticuly ได้ระดมทุน Series A เป็นมูลค่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปี 2019
  • Ooca หนึ่งใน HealthTech Startup ที่พัฒนา TeleHealth Platform ด้านสุขภาพจิตแบบครบวงจร ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ได้จากทุกที่ในช่วงเวลาที่ยืดหยุ่นกว่าการเดินทางไปสถานพยาบาลด้วยตัวเอง

 

บทความนี้คงช่วยให้หลายคนเห็นภาพรวมของ HealthTech ในประเทศไทยมากขึ้น และด้วยแนวโน้มของอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพที่มีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ส่งให้ HealthTech กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตเป็นแน่ ในโอกาสต่อไป SCB 10X จะมีเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับ HealthTech มาให้ผู้อ่านได้ติดตามอย่างแน่นอน



ที่มาของข้อมูล boi.go.th, insead.edu และ Facebook : HealthTechThailand 

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept