milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
03 มิถุนายน 2564
ภาษาไทย

Decentralized Finance กับแนวโน้มการใช้งานในโลกจริง

เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกการเงินกำลังจับตาวิวัฒนาการใหม่ที่รู้กันในชื่อ Decentralized Finance หรือ DeFi อย่างไรก็ตาม บริการทางการเงินที่ดีไม่ได้มีคุณสมบัติแค่สามารถโอน แลกเปลี่ยน หรือใช้งานได้อย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ยังต้องเชื่อมโยงเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันเป็นสินทรัพย์จริงบนโลกได้ด้วย และเพื่อให้เห็นภาพการเชื่อมโยงและแนวโน้มดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกับ Rune Christensen, Co-founder ของ MakerDAO และ CEO ของ Maker Foundation ผู้บุกเบิกวงการ DeFi และมีประสบการณ์การ Implement DeFi ใน Real World Asset ร่วมกับคุณมุขยา พานิช Chief Venture and Investment Officer, SCB 10X ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ซึ่ง SCB 10X ขอสรุปบทสนทนาดังกล่าวให้ทุกท่านได้ติดตามกัน

1200x800 The Future of DeFi and the role of Real World Assets 01.png

แนวคิดต่อ Cryptocurrency จากผู้สร้างโครงการ DeFi ที่เก่าแก่ที่สุดของโลก

MakerDAO เริ่มก่อตั้งในปี 2015 โดยถือเป็นโครงการ Decentralized Finance ที่มีอายุยืนนานที่สุด และยังคงดำเนินการมาจนทุกวันนี้ MakerDAO เป็นผู้พัฒนาเหรียญ DAI ซึ่งเป็น Stable Coin เหรียญลำดับต้นๆ ของโลก โดยล่าสุด DAI เป็นสินทรัพย์มีมูลค่ารวมสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การเป็นผู้ก่อตั้ง MakerDAO ทำให้ Rune เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มบุกเบิกวงการ Decentralized Finance ของโลก ซึ่ง Rune ได้เริ่มเข้ามาให้ความสนใจแวดวงนี้ด้วยการเริ่มต้นศึกษาและใช้งาน Cryptocurrency อย่าง Bitcoin ตั้งแต่ปี 2011 การทำงานของ Cryptocurrency ทำให้เขาเชื่อในศักยภาพของเทคโนโลยี Blockchain และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

แต่เนื่องจากเขาเริ่มเห็นถึงโอกาสเกิดฟองสบู่ใน Bitcoin จากการเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงเนื่องจากการออกแบบระบบที่เป็น Decentralized โดยสมบูรณ์ ดังนั้น เพื่อให้ Blockchain สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เขาจึงเกิดแนวคิดที่จะลดข้อเสียที่เกิดขึ้นจากความผันผวนในระบบ จึงเป็นที่มาของการพัฒนา Stable Coin หรือหมายถึง Cryptocurrency ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้มูลค่าคงที่จนสามารถใช้งานได้เสมือนเงินตราทั่วไป


Ecosystem ของ Stable Coin กับความเสี่ยง 2 รูปแบบที่ต้องบริการจัดการ

การพัฒนา Stable Coin เป็นที่สนใจของผู้เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย เนื่องจากการลดความผันผวนด้วยการผูกกับสินทรัพย์อื่นแต่ยังคงไว้ซึ่งศักยภาพการทำงานของ Blockchain ทั้งนี้ Rune ให้ข้อสรุปว่า Stable Coin คือ โมเดลการให้บริการของธนาคารทั่วไปที่ทำงานได้ดีขึ้นด้วย Blockchain

เพื่อให้เห็นรายละเอียดมากขึ้น Rune จึงพาไปยังจุดเริ่มต้นของการพัฒนา Stable Coin และการเริ่มต้นของ Ecosystem โดยเริ่มแรกนั้น Stable Coin เป็นระบบที่พัฒนาในรูปแบบ Centralized แน่นอนว่าทำให้สามารถกำกับดูแลมูลค่าของเหรียญและใช้ในการแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การเป็น Centralized นั้นก่อให้เกิดข้อเสียในการพัฒนาการทำงานรูปแบบใหม่ เพราะต้องมีการพูดคุยกับผู้กำกับดูแลก่อน ซึ่งความเสี่ยงลักษณะนี้เรียกว่า Regulatory Risk

ต่อมาจึงเกิดการพัฒนา Decentralized Stable Coin ขึ้น ซึ่งช่วยลบข้อเสียจากการกำกับดูแลออกไป อย่างไรก็ตาม Decentralized Stable Coin เองก็มีความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน (Black Swan Event) ที่ส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับวิกฤตซัพไพรม์ในปี 2008 ซึ่งเนื่องจากระบบเป็นแบบ Decentralized อันมีแนวโน้มดำเนินการตามผลกระทบ สินทรัพย์อย่าง Stable Coin อาจจะนำไปสู่การลดมูลค่าอย่างมหาศาลและเกิดการสูญเงินทั้งหมดได้

นอกจากนี้ในระบบ Decentralized อาจทำให้วิกฤตต่างๆ มีโอกาสเกิดขึ้นได้จากตัวเทคโนโลยีที่บกพร่อง การพัฒนาฟังก์ชันการทำงานในระบบที่เกิดช่องโหว่ หรือการกำกับดูแลที่ไม่รอบคอบ ซึ่งความเสี่ยงข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับ Stable Coin เท่านั้นแต่เกิดขึ้นได้กับสินทรัพย์ที่ใช้ระบบ Decentralized ความเสี่ยงลักษณะนี้เรียกว่า Volatirity Risk

ด้วยเหตุนี้ Maker จึงได้ออกแบบระบบ DAI โดยใช้สินทรัพย์ Centralized Stable Coin และ Decentralized Digital Asset ร่วมกันค้ำประกันมูลค่าของ DAI โดยทีมพัฒนา Maker จะคอยประเมินความเสี่ยงทั้ง 2 ด้านและจัดการสัดส่วนสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้ DAI มีมูลค่าคงที่จนใช้งานด้านต่างๆ ได้

Rune ยังเสริมว่า ในวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้น ระบบ Centralized แม้จะมีการกำกับดูแล แต่หากเกิดวิกฤตแล้ว ก็ยากที่ทุกคนจะรู้ต้นเหตุ เนื่องจากทั้งระบบกำกับดูแลโดยคนกลุ่มเดียว ส่วน Decentralized จะเป็นในทางตรงกันข้ามที่ทุกคนสามารถเข้าไปดูธุรกรรม คอยช่วยรักษาระบบให้ทำงาน และได้รางวัลจากการทำให้ระบบดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ


DeFi สู่การนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพกับสินทรัพย์บนโลกจริง

แม้ว่าเราจะพูดถึง DeFi และ Digital Asset กันมาตลอด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมทางการเงินจะมีคุณค่าที่ชัดเจนก็ต่อเมื่อสามารถกลายเป็นบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบนโลกจริงได้

Rune กล่าวว่า การพัฒนาของ DeFi เป็นเหมือนการอัปเกรดกลไกของนวัตกรรมทางการเงินให้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น โดยสามารถทำในสิ่งที่ระบบดั้งเดิมทำไม่ได้ เช่น การยืมเงินมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งตรงนำไปใช้ได้ภายในหลักวินาที หรือการยืมเหรียญ DAI มูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลา 30 วินาที และจ่ายดอกเบี้ยการยืมตามมูลค่าการยืมของ 30 วินาทีนั้น

จากสิ่งที่ Rune กล่าว แสดงให้เห็นว่าแนวคิดทางการเงินและเทคโนโลยีมีความพร้อมจะให้บริการดังกล่าวแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ DeFi ยังไม่เกิดการนำไปใช้อย่างกว้างขวางมาจากปัจจัยสำคัญคือการเชื่อมโยงระหว่าง DeFi กับสินทรัพย์จริงบนโลก ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจริง

Rune ย้ำว่าอันที่จริงแล้ว DeFi พยายามทำในสิ่งที่ธนาคารและสถาบันการเงินทั่วไปดำเนินการอยู่ แต่เพิ่มคุณสมบัติพิเศษจาก Blockchain เข้าไป โดยเขายกตัวอย่างการให้สินเชื่อแก่บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ โดยพวกเขาเอาโครงการก่อสร้างเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้ยืม DAI ไป ซึ่ง DAI สามารถนำไปขอกู้เงินสกุลต่างๆ ได้

Rune กล่าวว่า DeFi ไม่ได้เป็นระบบที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินควรให้ความสนใจ แต่ SME เองก็สามารถได้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้ได้ โดยเขาหวังว่า DeFi จะเป็นตัวเชื่อมโยง SME เข้ากับตลาดทุนได้ในอนาคต

DeFi and Real world assets.jpg

การปรับตัวของสถาบันการเงินดั้งเดิมสู่ยุคแห่ง Decentralized Finance

ตามที่ Rune ระบุจะเห็นได้ว่า DeFi สามารถให้บริการทางการเงินหลักแก่ผู้ใช้ได้แล้ว ดังนั้นประเด็นที่ควรถามถึงหนีไม่พ้นการปรับตัวของสถาบันการเงินเดิมเพื่อความอยู่รอดต่อไป

Rune ชี้ว่า Stable Coin มีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การใช้ DAI ในการใช้จ่ายของชาวอาเจนตินาและบางประเทศในแถบอเมริกาใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนจากอัตราเงินเฟ้อของเงินตราในประเทศ

แม้ตัวอย่างนี้จะดูเป็นก้าวกระโดดแต่ Rune ยังแนะนำว่า สถาบันการเงินควรค่อยๆ ก้าวไปทีละน้อย อาจจะเริ่มจากการแลกเปลี่ยนเงินตรากับ Stable Coin ก่อนก็ได้ แต่สิ่งที่ทำให้สถาบันการเงินยังเป็นที่ต้องการคือการเชื่อมโยง DeFi เข้ากับสินทรัพย์ที่มีในโลกจริงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พัฒนา DeFi เห็นว่าเป็นความเชี่ยวชาญของสถาบันการเงินและธนาคารอยู่เดิมแล้ว

เห็นได้ว่าแม้ DeFi จะมีประสิทธิภาพในการ Disrupt แนวคิดทางการเงิน แต่การเชื่อมโยงให้สามารถใช้ได้จริงก็ยังเป็นความท้าทายของแนวคิดทางการเงินนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการใช้เกิดขึ้นจริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เหลือแต่เพียงเวลาเท่านั้นที่เราต้องติดตามว่านวัตกรรมจาก DeFi จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางใด ซึ่ง SCB 10X จะนำมาเสนอทุกท่านในโอกาสต่อไป

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept