milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
17 ธันวาคม 2563
ภาษาไทย

จากแนวคิดสู่การใช้จริง ตัวอย่างบริการทางการเงินจาก Decentralized Finance

ในบทความก่อน เราได้นำเสนอถึงนิยามและศักยภาพในอนาคตของแนวคิดทางการเงินใหม่อย่าง Decentralized Finance ให้ทุกท่านได้ทราบกันไปแล้ว แต่สิ่งที่จะบอกถึงแนวโน้มความสำคัญของ DeFi ได้ดีที่สุดคือตัวอย่างของบริการทางการเงินที่เกิดขึ้นด้วยแนวคิด DeFi ซึ่งปัจจุบันบริการที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะเป็น Disruptor ของระบบการเงินแบบเดิมเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้ผู้คนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในวันนี้ เราจึงขอแนะนำตัวอย่างการใช้งานของแนวคิดการเงินแบบ DeFi ที่น่าสนใจให้ทุกท่านได้รู้จักกัน

1200.800.jpg

ตัวอย่างการใช้งาน DeFi ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

สิ่งที่ทำให้ DeFi ได้รับความสนใจจากทุกคนคือบริการทางการเงินที่ทำงานได้ไกลกว่าขอบเขตของบริการรูปแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็วและแม่นยำที่มากกว่า ต้นทุนดำเนินการต่ำลง ความปลอดภัยสูงกว่า ไปจนถึงความยืดหยุ่นของบริการที่ CeFi ยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งตัวอย่างการใช้เหล่านี้ล้วนเป็นบริการที่เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังอยู่ในความสนใจของธุรกิจและภาคนโยบายที่ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ประกอบด้วย

  • Decentralized Exchanges 

บริการแลกเปลี่ยนเงินถือเป็นบริการพื้นฐานที่ทุกคนใช้กัน ซึ่งเดิมทีในโลก CeFi ผู้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนเงินระหว่างกันจะทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจดบันทึกรายการ การรับและส่งมอบเงิน ไปจนถึงการยืนยันตัวตน การยืนยันความถูกต้องของธุรกรรม การสร้างความปลอดภัยให้กับรายการธุรกรรม ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่มาก มีต้นทุนสูงค่าดำเนินการและค่ารักษาระบบสูง และเป็นต้นทุนที่ผู้ใช้ต้องมีส่วนช่วยรับผิดชอบด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างระบบ Decentralized Exchange หรือ DEXs ที่กระจายหน้าที่ของบรรดาผู้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนเงินให้ดำเนินการโดยระบบทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนจดบันทึก การรับและส่งมอบเงิน ขั้นตอนนี้จะดำเนินการโดยอัตโนมัติผ่าน Smart Contract โดยรายการธุรกรรมใหม่จะบันทึกไปยังผู้ใช้จำนวนมากในระบบ ธุรกรรมที่ถูกต้องจึงมีหลายชุด การปลอมแปลงเพื่อทุจริตต้องแก้ไขทั้งระบบซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งตัวกลางไม่ได้ทำหน้าที่จัดเก็บและทำธุรกรรม ส่งผลให้ค่าบำรุงรักษาลดลงอย่างมาก

ที่สำคัญ ธุรกรรมบน DEX เกิดขึ้นเฉพาะระหว่างรายย่อยด้วยกันหรือ Peer-to-Peer เท่านั้น แม้จะทำการโจมตีระบบก็ไม่สามารถสั่งให้เงินเคลื่อนย้ายไปที่ใดที่หนึ่งได้ ต่างจาก CeFi ซึ่งหากตัวกลางถูกโจมตี ก็เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

ตัวอย่าง Startup ที่พัฒนาบริการ DEX ได้แก่ AirSwap ผู้ให้บริการ Peer-to-peer trading หรือ Ren platform แลกเปลี่ยนอย่างง่ายที่พัฒนาให้รองรับการใช้งาน Cryptocerrency ยอดนิยมอย่าง Bitcoin

  • Open Lending Platforms

อีกหนึ่งตัวอย่างการใช้งานที่ได้รับความสนใจอย่างมากในระบบการทำงานของ DeFi คือ Open Lending Platform โดยนอกจากตัว Blockchain จะดำเนินการอัตโนมัติทำให้มีต้นทุนที่ต่ำแล้ว ยังเปลี่ยนวิธีการที่เราคิดกับการกู้ยืมเงินไปอย่างมาก

Open Lending Platform คือพื้นที่กลางที่เปิดรับทั้งผู้ให้กู้และผู้ขอกู้ โดยผู้ให้กู้จะวางเงินเข้าสู่ระบบและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนผู้ขอกู้จะดำเนินการขอเงินกู้โดยต้องวางสินทรัพย์ ซึ่งในระบบส่วนใหญ่จะใช้เป็น Cryptocurrency

ขั้นตอนทั้งหมดจะดำเนินโดยอัตโนมัติผ่าน Smart Contract เริ่มตั้งแต่เมื่อมีผู้มาขอกู้เงินและวางสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อค้ำประกัน ผู้ขอกู้จะได้รับเงินสดที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกัน และเมื่อผู้ขอกู้จะรับสินทรัพย์คืนก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มด้วยเล็กน้อย จึงจะสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ค้ำประกันอยู่ออกมาได้ ซึ่งหากผู้ขอกู้ไม่สามารถคืนเงินได้ สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็จะถูกขายเพื่อเอาเงินสดมาคืนให้กับผู้ให้กู้ เพื่อควบคุมความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนของ Cryptocurrency นั้น

จุดเด่นของ Open Lending Platform อยู่ที่มีต้นทุนดำเนินการที่ถูกกว่าการให้กู้แบบเดิม เหมาะสำหรับการกู้เงินจำนวนน้อยหรือ Micro-Lending ช่วยให้ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงเงินสดโดยเฉพาะกลุ่ม Underbank ผู้ให้กู้เองนอกจากจะมีความเสี่ยงน้อยลงเนื่องจากได้เงินสดคืนหากเกิดความผิดพลาดแล้ว ยังสามารถเลือกกำหนดกลุ่มผู้ขอกู้ จำนวนเงิน ไปจนถึงเป้าหมายการใช้เงินซึ่งมีส่วนต่อผลตอบแทนด้วย

ผู้ให้บริการด้าน Open Lending ที่น่าสนใจ ได้แก่ BlockFi ผู้รับฝาก Cryptocurrency และให้บริการกู้เงินโดยมี Digital Asset เป็นตัวค้ำประกัน, Compound ตลาดเงินที่เชื่อมผู้กู้กับผู้ยืมบน Etheruem และ Aave platform เปิดที่รองรับการฝาก Cryptocurrency และการกู้โดยมี Digital Asset เป็นตัวค้ำประกัน

  • Decentralized Insurance

ประกันภัยเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยควบคุมความเสี่ยงของธุรกิจและส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี แต่ปัญหาคือเมื่อบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยและจัดหาเงินทั้งหมด ความเสี่ยงทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่บริษัทประกันเอง ในโลก DeFi จึงมีแนวคิดกระจายความเสี่ยงและผลตอบแทนของบริษัทประกัน รวมถึงเพิ่มความโปร่งใสให้กับบริการกลุ่มประกันภัยด้วย

แทนที่การหาเงินระดมทุนจะเป็นหน้าที่ของบริษัทประกันเพียงฝ่ายเดียว Decentralized Insurance จะเปิดให้นักลงทุนร่วมลงขันในเงินกองกลาง ซึ่งผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากค่า Premium ของผู้เอาประกัน ในขณะเดียวกัน บริษัทประกันภัยก็จะมีเงินชดเชยไว้สำหรับผู้เอาประกันอย่างแน่นอน

Decentralized Insurance ยังสร้างความโปร่งใสยิ่งขึ้นด้วยการยกเงื่อนไขเอาประกันให้อยู่ใน Smart Contract แบบสาธารณะ ผู้เอาประกันก็จะมั่นใจมากขึ้นเมื่อไม่ต้องขอเอาประกันด้วยเอกสารที่ดูคลุมเครือ และช่วยลดโอกาสปลอมแปลงความเสียหายเพื่อเอาประกัน ลดความเสี่ยงของบริษัทประกันในอีกทางหนึ่ง

สำหรับผู้ให้บริการด้าน Decentralized Insurance ที่น่าสนใจในปัจจุบัน ได้แก่ Etherisc ซึ่งเป็น Platform เปิดให้ทุกคนออกแบบเงื่อนไขประกันภัยร่วมกัน กับ Nexus Mutual ผู้ให้บริการประกันภัยแบบ risk-sharing pool ที่ทุกคนสามารถซื้อความคุ้มครองได้

  • Capital Market และ Tokenization

ตลาดทุนเป็นเขตแดนใหญ่ของโลกการเงินที่มีระบบซับซ้อน ซึ่งปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุนส่วนใหญ่จะเป็นระบบปิดและยังไม่เป็นระบบอัตโนมัติ ทำให้ทั้งการสมัครใช้ การลงทะเบียนใช้งาน การซื้อขายแลกเปลี่ยนยังลำบากและมีต้นทุนที่สูงอยู่

แนวคิด DeFi จะเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวในโลกตลาดทุนด้วยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานร่วมสำหรับบริการที่จำเป็นสำหรับนักลงทุน เช่น ขั้นตอนการระบุตัวตนลูกค้าหรือ Know-Your-Customer เพื่อเข้าใช้งานหรือส่งคำสั่งซื้อขายผ่าน สามารถเปลี่ยนจากการใช้ข้อมูลส่วนตัวทุกครั้งมาเป็น eSignature หรือรหัส Cryptographic บน Blockchain ตัวนักลงทุนจะไม่ต้องใช้ข้อมูลส่วนตัว และทุกขั้นตอนจะดำเนินไปโดยอัตโนมัติ ซึ่ง Goldman Sachs ระบุว่าการทำ KYC บน Blockchain จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมการเงินถึงปีละ 160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจาก KYC แล้ว DeFi ยังรองรับการทำ Tokenization กับสินทรัพย์รูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ดิจิทัลไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ การทำ Tokenization จะช่วยแบ่งสิทธิ์ของสินทรัพย์ที่จะลงทุนได้ละเอียดยิ่งขึ้นโดยอาศัย Blockchain เราจึงสามารถระดมทุนกับสินทรัพย์หลายชนิดที่ระบบแบบเดิมไม่สามารถทำได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์หน่วยย่อยระดับอาคารเดี่ยวหรือห้องอพาร์ตเมนท์ราคาสูง งานศิลปะชิ้นที่มีมูลค่าสูง ไปจนถึงวัตถุดิบผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ก็สามารถระดมทุนเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างผลตอบแทนได้

ผู้ให้บริการด้านการลงทุนแบบ DeFi ที่น่าสนใจได้แก่ Harbor ผู้ให้บริการ Tokenization สินทรัพย์ทางเลือก และ Securitze ผู้ให้บริการด้าน Digitize สินทรัพย์บน Blockchain แบบครบวงจร

แม้ว่ายังมีกรณีศึกษาอีกมาก แต่จากตัวอย่างเหล่านี้ก็น่าจะทำให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นถึงศักยภาพของ DeFi ที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะกับผู้ใช้ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์เต็มที่หากโลกการเงินก้าวสู่การให้บริการแบบกระจายศูนย์มากขึ้น ทั้งนี้ โลกของ DeFi ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่ง SCB 10X จะนำเสนอแก่ทุกท่านในโอกาสต่อไป


ที่มาของข้อมูล consensys.net, tokeny.com และ academy.binance.com

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept