milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
trending
13 กุมภาพันธ์ 2567
ภาษาไทย

ย้อนดูภาพรวมวิกฤตธนาคารล้มในปี 2023 ส่งผลอย่างไรกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

จากวิกฤตธนาคารล้มละลายทั้ง Silvergate และ Signature สองธนาคารสำคัญสำหรับบริษัท Crypto รวมถึง Silicon Valley Bank ที่มีบริษัทสตาร์ทอัพ Crypto และ VC จำนวนมากเป็นลูกค้าได้ล้มลงตามกันในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2023 เป็นที่จับตามองและสร้างความกังวลไปทั่วโลก บทความนี้จะพาไปย้อนเหตุการณ์นี้กันอีกครั้งว่าเกิดอะไรขึ้นและส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง


Article3JAN_1200X800.jpeg


ภาพรวมเหตุการณ์ธนาคารล้มละลาย


วิกฤตธนาคารในปี 2023 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล่มสลายของธนาคาร Silicon Valley, Silvergate Bank, Signature Bank และ First Republic Bank ทำให้เกิดความท้าทายและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องของระบบธนาคารแบบดั้งเดิมกับตลาดสกุลเงินดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว วิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางการเงินทั่วโลก และชี้ให้เห็นความจำเป็นในการสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความมั่นคงที่มีความละเอียดอ่อนมาก

จากในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2023 Greg Becker, CEO ของ SVB ได้ขายหุ้นทิ้งประมาณ 4 ล้านหุ้น ต่อมาในวันที่ 10 มีนาคม FDIC (สถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐอเมริกา) ได้ประกาศปิด SVB และได้ก้าวเข้ามาไปจัดการแทนเพื่อปกป้องเงินฝากของลูกค้า หลังจากนั้นในวันที่ 13 มีนาคม FED (ธนาคารกลางของสหรัฐฯ) ก็เข้าไปรับประกันเงินฝากทั้งหมดของลูกค้า SVB แบบเต็มจำนวนพร้อมอัดฉีดสภาพคล่องให้ธนาคารต่างๆ เพื่อรับมือการแห่ถอนเงิน

วิกฤตนี้ได้คลี่คลายอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วันของเดือนมีนาคม โดยต้นตอของวิกฤตเกิดจากความผิดพลาดเฉพาะตนในการจัดการความเสี่ยงและปัจจัยหลายประการรวมกัน เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ภายใต้ความเครียดอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงความผันผวนของตลาดคริปโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธนาคารอย่าง Silvergate และ Signature ซึ่งเป็นสองธนาคารที่เปิดรับตลาดสกุลเงินดิจิทัลมากที่สุด จึงยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับสถานการณ์ของพวกเขา


สัญญาณเตือนจากหน่วยงานกำกับดูแล ที่ชี้ให้ธนาคารรับมือกับตลาดสกุลเงินดิจิทัลอย่างรอบคอบ


มีคำเตือนจากหน่วยงานกำกับดูแล เช่น คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ บริษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลาง และสำนักงานผู้ควบคุมเงินตราของสหรัฐฯ ที่ได้มีการประเมินร่วมกันในหัวข้อ "ความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ดิจิทัลต่อองค์กรธนาคาร" โดยหน่วยงานเหล่านี้ได้แจ้งไปยังธนาคารในสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงระยะเวลาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ธนาคารล้มละลายครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม 2023 

โดยพวกเขาแสดงความเชื่อที่ว่าการจัดการกับสินทรัพย์ Crypto บนเครือข่ายแบบเปิด เป็นสาธารณะและกระจายศูนย์ มีแนวโน้มจะไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านการธนาคารที่เป็นไปอย่างปลอดภัยและเหมาะสม ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นต้องใช้แนวทางที่ระมัดระวังและมีกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมเมื่อต้องรับมือกับตลาดสกุลเงินดิจิทัลที่ค่อนข้างใหม่และมีความผันผวนสูง

โดยทั้ง Silvergate และ Signature ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลมากที่สุดได้เผชิญกับความท้าทายนี้ และอ้างอิงได้จากการตรวจการล้มละลายของพวกเขาที่เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างนวัตกรรมและความเสถียรของบริการทางธนาคารแบบดั้งเดิมที่สำคัญ เช่น การชำระเงินและการชำระหนี้ ที่ประสบปัญหาการปรับให้เข้ากับความต้องการและลักษณะเฉพาะของตลาดสกุลเงินดิจิทัล
กระตุ้นให้เกิดการปรับตัวระหว่างโมเดลการเงินโลกสินทรัพย์ดิจิทัลกับการเงินแบบดั้งเดิม

วิกฤตธนาคารยักษ์ใหญ่ล้มในปี 2023 ไม่เพียงแต่เผยให้เห็นถึงความผิดพลาดเฉพาะตน แต่ยังทำให้เห็นถึงความท้าทายในวงกว้างที่สถาบันการเงินต้องเผชิญ เมื่อต้องรับมือกับการบูรณาการระบบโมเดลสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ากับโมเดลการธนาคารแบบดั้งเดิม ดังนั้น ความสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างนวัตกรรมและการรักษาเสถียรภาพจึงกลายเป็นประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการทบทวนว่าสถาบันการเงินจะปรับตัวกับภูมิทัศน์ของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความแตกต่างกันได้อย่างไร


วิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อคริปโตอย่างไร?


Signature, Silvergate และ SVB เป็นธนาคารที่เกี่ยวข้องกับภาคสินทรัพย์ดิจิทัลมากที่สุดและเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ทั้งหมดได้ล้มภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์และปัญหานี้ส่งผลให้สภาพคล่องของ Bitcoin และ Crypto โดยรวมลดลง ณ ขณะนั้น แต่ในภายหลังราคาก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่รัฐบาลก้าวเข้ามาหนุนหลังเพื่อรับประกันเงินฝากทั้งหมดสำหรับผู้ฝากธนาคารเหล่านี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจและจุดประกายความหวังให้กับชุมชนตลาด Crypto ได้เล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับตลาดเหรียญ Stablecoin 

จากความคิดเห็นของ “Nic Carter” หุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง Castle Island Ventures (นักลงทุน VC) ได้แสดงความเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลต่อการหนุนหลังธนาคารที่ล้มลง ส่งผลให้ธนาคารกลับมาอยู่ในสถานะของการจัดหาสภาพคล่องและเป็นการปรับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคสกุลเงินดิจิทัลและสินทรัพย์เก็งกำไรอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เขาให้ความเห็นว่าการที่ได้เห็นธนาคารที่เป็นมิตรกับ Crypto ที่ใหญ่ที่สุดเหล่านี้ต้องปิดให้บริการภายในเวลาไม่กี่วันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เนื่องจากปัจจุบันมีตัวเลือกสำหรับบริษัท Crypto อยู่น้อยมาก และอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องไปจนกว่าจะมีธนาคารใหม่เข้ามาแทนที่

นอกจากนี้ เหตุการณ์นี้ยังส่งผลต่อความไม่เสถียรของ Stablecoin ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ Crypto ที่นักลงทุนมักใช้เพื่อรักษาราคา โดย Stablecoin จะถูกผูกมูลค่าเอาไว้กับสินทรัพย์ในโลกจริง เช่น สกุลเงิน Fiat ต่างๆ (เช่น ดอลลาร์สหรัฐ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ) แต่ด้วยสถานการณ์การเงินที่ไม่ปกติเช่นดังเหตุการณ์ครั้งใหญ่นี้ก็อาจส่งผลให้ราคาลดต่ำลงกว่ามูลค่าที่ตรึงเอาไว้ได้
ในอีกมุมมองหนึ่งก็พบว่ามีทางออกสำหรับภาคสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อ “Mike Bucella” นักลงทุนและเป็นผู้บริหารในด้าน Crypto มาอย่างยาวนานได้ให้ความเห็นว่าหลายคนในอุตสาหกรรมกำลังหันไปพึ่งธนาคารอื่นๆ เป็นตัวเลือก อย่างเช่นธนาคาร Mercury และ Axos ซึ่งเป็นสองแห่งที่รองรับสตาร์ทอัพ หรือในขณะเดียวกัน “Circle” (บริษัทสตาร์ทอัพด้าน Cryptocurrency และออกเหรียญ USDC) ที่ได้เผยต่อสาธารณะว่าได้เลือกธนาคาร “BNY Mellon” เป็นที่เก็บรักษาสินทรัพย์


ผลกระทบในไทยและแนวทางการรับมือ


สำหรับสถานการณ์ในไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาประกาศว่าผลกระทบจากกรณี SVB ต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมีจำกัด เนื่องจากไม่มีธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมโดยรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยใน Fintech และ Startup ทั่วโลกมีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของเงินกองทุนของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ย้ำว่ามีการกำกับดูแลธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและ Venture Capital อย่างเข้มงวด เช่น กำหนดเพดานการลงทุนและกำกับความเสี่ยงด้านต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบจากความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่อเงินฝากของประชาชน และมีการหักเงินลงทุนในเหรียญออกจากเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Common equity tier: CET1) ทุกกรณี 

ส่วนทางด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแนวทางการกับกำดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงในสถานการณ์การเงินโลก เช่น กลไกการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ว่าด้วยพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบธุรกิจมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง เพียงพอ พร้อมรองรับความเสี่ยง และสามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง และมีแนวทางการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เท่าทันสถานการณ์ โดย ก.ล.ต. ได้ติดตามพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้เท่าทันกับความเสี่ยงและสอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลในต่างประเทศ เป็นต้น


สรุป


วิกฤตธนาคารล้มในปี 2023 เกิดจากความผิดพลาดในการจัดการความเสี่ยงและเกิดผลกระทบในกลุ่มสตาร์ทอัพซึ่งเป็นวงจำกัดและได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในทันที แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม วิกฤตธนาคารล้มในปี 2023 ได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคการธนาคารเมื่อเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากตลาดสกุลเงินดิจิทัล และการที่ธนาคารที่มีชื่อเสียงล้มตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นในการตรวจสอบด้านกฎระเบียบ การบริหารความเสี่ยง และแนวทางการบูรณาการเทคโนโลยีทางการเงินที่เป็นนวัตกรรมเข้ากับแนวทางปฏิบัติด้านธนาคารที่เป็นที่ยอมรับอย่างรอบคอบ

Source:
- The block pro research
- https://www.cnbc.com/2023/03/12/signature-svb-silvergate-failures-effects-on-crypto-sector.html
- https://www.investopedia.com/what-happened-to-signature-bank-7370710

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Reject
Accept