milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
05 มกราคม 2566
ภาษาไทย

Crypto Custody คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ?

จำนวนผู้ใช้และมูลค่าโดยรวมของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจกับสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นนำมาสู่การเติบโตและกระแสที่ร้อนแรงของ Crypto Custody” หรือการดูแลรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลนับตั้งแต่ปี 2021 

Arti6_2_800.jpg


Crypto Custody คืออะไร?

“Crypto Custody” หมายถึงกระบวนการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินจากการโจรกรรม โดยมีผู้รับฝากทรัพย์สินหรือ Custodian เป็นบุคคลที่สามที่สามารถจ้างให้ดูแลความปลอดภัยสินทรัพย์ Crypto ของผู้ลงทุน ซึ่ง Custodian หรือผู้รับฝากทรัพย์สินมีมาตั้งแต่ปี 1960 และเป็นส่วนหนึ่งของระบบธนาคารแบบดั้งเดิม 

แต่เมื่อพูดถึงในแง่การรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ Crypto จะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยในทางเทคนิคผู้ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เป็นผู้จัดเก็บสินทรัพย์ เนื่องจากข้อมูลและธุรกรรมทั้งหมดถูกบันทึกอยู่ใน Blockchain ซึ่งสิ่งที่พวกเขาปกป้องคือ Private Keys หรือรหัสส่วนตัวของผู้ใช้ที่เป็นส่วนสำคัญของการเข้าถึง Crypto Wallet ซึ่งเป็นที่จัดเก็บสินทรัพย์

Custodian นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการเติบโตและให้เกิดการนำไปใช้ในวงกว้างของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเห็นได้ว่าปัจจุบันนักลงทุนสถาบันจำนวนมากยังคงมีความกังวลและไม่เลือกลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเนื่องจากยังขาดความปลอดภัยที่มากพอ โดยนักลงทุนสถาบันต้องบริหารจัดการกับเงินจำนวนมาก อย่างเช่น กองทุน Hedge Funds กองทุนบำเหน็จบำนาญ หรือ Investment Banking ซึ่งกองทุนหรือกลุ่มสถาบันเหล่านี้ Regulation กำหนดให้มี Custody เป็นพันธมิตรเพื่อดูแลรักษาสินทรัพย์ให้มีความปลอดภัย


ทำไม Crypto Custody จึงสำคัญ


จุดประสงค์หลักของ Crypto Custody คือการดูแลรักษาความปลอดภัยของสินทรัพย์ดิจิทัล (Cryptocurrency) และเนื่องจาก Private Key รหัสที่ใช้ในการทำธุรกรรมหรือเข้าถึงการถือครอง Crypto เป็นรหัสที่จำได้ยากและสามารถถูกแฮ็กได้ รวมถึงวิธีการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างเช่น Online Wallet หรือ Exchange Wallet ก็ยังมีความเสี่ยงถูกแฮ็ก เช่นเดียวกันกับ Cryptocurrency Exchanges หรือไม่ว่าจะเป็นวิธีการการเก็บ Private Key แบบ Offline ก็ยังเสี่ยงต่อการสูญหายและเมื่อสูญหายก็กู้คืนได้ยาก 

นอกจากนี้ สำหรับนักลงทุนรายบุคคลหาก Private Keys สูญหายก็มีความเสี่ยงในระดับหนึ่ง แต่สำหรับนักลงทุนสถาบันที่ถือสินทรัพย์จำนวนมากขึ้นย่อมมีความเสี่ยงที่มากขึ้นตามมา ซึ่งจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากขึ้น

โดยสรุป Crypto Custody เป็นวิธีการรักษาความปลอดภัย Private Key ที่ใช้เข้าถึงสินทรัพย์ในกระเป๋าเงินดิจิทัลของผู้ลงทุน ในการธนาคารแบบดั้งเดิมมีผู้ดูแลสินทรัพย์โดยเป็นสถาบันการเงินที่กฎหมายได้กำหนด แต่ในโลก Crypto เจ้าของสินทรัพย์สามารถเป็นผู้รักษาหรือจัดการสินทรัพย์ของตนเองได้ หรือสามารถจ้างให้บุคคลที่สามหรือองค์กรช่วยเป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ได้เช่นกัน ดังนั้น Crypto Custody จึงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท

ความแตกต่างระหว่างการดูแลสินทรัพย์ด้วยตนเอง (Self-Custody) กับการดูแลโดยบุคคลที่สาม (Third-Party Custody) 

  • การดูแลรักษาสินทรัพย์ด้วยตนเอง (Self-Custody) คือการที่ผู้ลงทุนถือ Private Key ด้วยตนเอง อาจเก็บด้วยการใช้อุปกรณ์ประเภท Hardware และ Software หรือในรูปแบบที่ง่ายที่สุดคือเขียนลงในกระดาษ ซึ่งหมายความว่านักลงทุนเป็นเพียงคนเดียวที่รับผิดชอบและสามารถเข้าถึงสินทรัพย์ได้ ดังนั้นจึงต้องรับความเสี่ยงทั้งหมดเช่นกัน รวมถึงต้องรักษาอุปกรณ์สำหรับเก็บรักษา Private Key หรือสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง เพราะหากลืม Private Key หรือทำอุปกรณ์อย่างเช่น Cold Wallet สูญหายก็จะทำให้สูญเสียสินทรัพย์ Crypto ที่ยากต่อการกู้คืน

  • การดูแลสินทรัพย์โดยบุคคลที่สาม (Third-Party Custody) เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการรับผิดชอบและจัดการบัญชีด้วยตนเอง หรือผู้ที่ไม่ถนัดกับเทคโนโลยีที่ซับซ้อน และโดยทั่วไปได้ถูกสร้างมาเพื่อนักลงทุนสถาบัน ดังนั้นการรักษาความปลอดภัยจึงสูงขึ้นในอีกระดับ โดยผู้ให้บริการดูแลสินทรัพย์จะได้รับการจดทะเบียนและอยู่ภายใต้การควบคุมซึ่งได้รับใบอนุญาตระดับรัฐหรือระดับประเทศเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากสินทรัพย์

    ในเบื้องต้นผู้ให้บริการจะทำหน้าที่เก็บ Private Key ของนักลงทุนด้วยความปลอดภัยสูง หรือในมุมมองหนึ่งคล้ายกับลักษณะของบัญชีเงินฝากธนาคารที่เมื่อลงทะเบียนเปิดบัญชีต้องผ่านการตรวจสอบการยืนยันตัวตนและมีการตรวจสอบเพื่อป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งการจัดเก็บสินทรัพย์ Crypto กับผู้ให้บริการดูแลสินทรัพย์ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบแบบเดียวกันเพื่อให้แน่ใจว่าสินทรัพย์ถูกกฎหมายส่วนการเลือกประเภทการดูแลสินทรัพย์ Crypto เบื้องต้นสามารถเริ่มจากการพิจารณาความต้องการของตนเอง ซึ่งความเหมาะสมขึ้นอยู่กับประเภทของนักลงทุน เช่น เป็นนักลงทุนประเภทรายย่อยหรือสถาบัน หรือพิจารณาตามจำนวนสินทรัพย์ที่ได้ถืออยู่ รวมถึงความถนัดและความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี

ตัวอย่างกรณีการใช้งาน

ที่ผ่านมามีผู้ให้บริการดูแล Cryptocurrency รายใหญ่ขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Coinbase แพลตฟอร์ม Cryptocurrency Exchange ที่หลายท่านรู้จักกันดี ก็ได้เพิ่มบริการดูแลสินทรัพย์ระดับสถาบันและบริการที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นมีการเข้าซื้อกิจการ Keystone Capital โบรกเกอร์ที่ขึ้นทะเบียนจากแคลิฟอร์เนีย และการเข้าซื้อกิจการ Xapo ผู้ให้บริการด้านการจัดเก็บข้อมูลระดับสถาบันที่ทำให้ Coinbase กลายเป็นบริษัทรับฝากสินทรัพย์ Crypto รายใหญ่ที่สุดในปี 2020 

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ Sygnum ธนาคารสินทรัพย์ดิจิทัลแห่งแรกของโลก และผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าถึงได้ทั่วโลก มีบริการหลากหลาย เช่น Tokenization และ Lending แต่โซลูชันที่เป็นแกนหลักและเป็นจุดเด่นการให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของ Sygnum คือ ‘Custody’ หรือการดูแลความปลอดภัยในการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทาง Sygnum ให้บริการด้านความปลอดภัยในการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้ระดับในระดับสถาบัน (Institutional-Grade) ที่ผู้ใช้สามารถไว้วางใจได้อย่างเต็มที่ 


อนาคตของ Cryptocurrency Custody มีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

โซลูชันหรือบริการ Cryptocurrency Custody ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยจากนักวิเคราะห์และนักลงทุนสถาบันต่างมองว่าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างตลาดการลงทุนสถาบันแบบดั้งเดิมกับพื้นที่สกุลเงินดิจิทัลที่กำลังเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าการพัฒนาครั้งใหญ่อย่างน้อยประมาณสองครั้งสามารถส่งผลต่ออนาคตของ Cryptocurrency Custody 

การพัฒนาประการแรก คือการเข้ามาของผู้เล่นรายใหญ่ที่สามารถเขย่าตลาดในช่วงของการเริ่มต้นได้ ซึ่งมี Use Case ที่เริ่มเกิดขึ้น อย่างเช่น Coinbase และ Fidelity Investments ที่เป็นผู้นำในการเสนอหรือให้บริการ Cryptocurrency Custody

การพัฒนาประการที่สอง คือความชัดเจนด้านกฎระเบียบ โดยข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บสกุลเงินดิจิทัลยังไม่มีความชัดเจนใน Regulation ปัจจุบัน นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งการพัฒนาหรือวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อมีหน่วยงานกำกับดูแลเข้ามากำกับและกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept