วิธีสังเกตโครงการ Crypto ที่เป็น “Scam”
ด้วยตลาด Crypto ที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นำมาสู่ Scam ที่เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนแห่งปี 2022 ในโลก Crypto ไม่ว่าจะเป็น Scam ประเภท Pump And Dump ไปจนถึงทำเว็บไซต์ปลอมหลอกนักลงทุนหน้าใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นนักหลอกลวงเหล่านี้ก็พร้อมที่จะหาวิธีใหม่ๆ เพื่อทำโปรเจกต์หลอกลวงนักลงทุนต่อไป ดังนั้น นักลงทุนที่สนใจเริ่มต้นเข้ามาในวงการ Crypto ควรระวังและตระหนักถึงความเสี่ยง ซึ่งบทความนี้ SCB 10X จึงนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ Scam รูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางป้องกันและพิจารณาไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ Scam ของ Cryptocurrency
ภาพรวมกลลวงหรือ Scam ในโลก Crypto
สแกมเมอร์หรือนักต้มตุ๋นคิดค้นแผนกลโกงที่ซับซ้อนมากขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากผู้ที่มีประสบการณ์น้อย ตั้งแต่การปั่นราคาซึ่งเป็นกลลวงแบบดั้งเดิมไปจนถึงการแทรกแซงหาจุดบกพร่องในแอปพลิเคชันที่ใช้จัดการและจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้
วิธีคลาสสิกในการหลอกลวงผู้ใช้ใน Crypto ที่พบบ่อยและรู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ “Rug Pull” ซึ่งเป็นแผนการที่นักต้มตุ๋นสร้างเหรียญหรือโปรเจกต์ขึ้นมาและโปรโมตเหรียญอย่างดุเดือดโดยอ้างสิทธิ์หรือประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้รับแบบปลอมขึ้นมาหรือเกินจริง
โดยสแกมเมอร์เหล่านี้ตั้งใจที่จะเพิ่มมูลค่าของ Token ด้วยการหลอกว่าผู้ใช้จะได้รับผลตอบแทนอย่างง่ายดายหรือได้กำไรที่ดี และสิ่งที่ทำให้กลลวงมีความแนบเนียนมากเนื่องจากสแกมเมอร์หรือนักต้มตุ๋นมีการวางแผนอย่างละเอียดเพื่อที่จะสร้างปริมาณการซื้อขายปลอมขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด รวมถึงสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ใช้ว่าโครงการของตนมีความยั่งยืนหรือเป็นโปรเจกต์ระยะยาว ซึ่งวิธีการจะแตกต่างจากกลลวงที่พบบ่อยอย่าง “Pump And Dump” จากนั้น เมื่อโปรเจกต์โตและมีขนาดใหญ่มากพอตามที่วางแผน ทีมของสแกมเมอร์ซึ่งเป็นถือผู้เหรียญมากที่สุดก็จะขายออกทั้งหมดและโกยกำไรมหาศาล หรือเป็นการขจัดสภาพคล่อง ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือสแกมเมอร์ก็ปล่อยให้นักลงทุนหรือผู้ใช้ต้องถือเหรียญที่ไร้มูลค่าและขายต่อไม่ได้
จุดน่าสังเกตของโปรเจกต์ที่น่าจะเป็น Scam
เมื่อทราบถึงตัวอย่างของ Scam ในโลก Crypto ในบางส่วนแล้ว มาดูข้อสังเกตเพื่อพิจารณาโปรเจกต์ที่คาดว่าอาจสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวงผู้บริโภค ดังนี้
- การเตรียมเอกสาร หรือ White Paper
White Paper หรือเอกสารที่ใช้อธิบายวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งผู้ใช้ควรตั้งข้อสงสัยและตรวจสอบ เนื่องจากอาจมีเพียงแค่ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นสิ่งที่จะผลักดันให้ราคาเหรียญสูงขึ้น แทนที่จะอธิบายด้านโมเดลธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจ หรือเกี่ยวกับ Code และแง่มุมอื่นๆ ของโครงการ ซึ่งโครงการที่น่าเชื่อถือและตั้งใจจริงมักมีเอกสาร White Paper และงานวิจัยอย่างละเอียดที่สอดคล้องกันกับจุดประสงค์
- แผนงานหรือ Roadmap
Roadmap หรือแผนงานเป็นตัวแสดงให้เห็นถึงแผนผังของโครงการอย่างชัดเจน ซึ่งอธิบายถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ใน Protocol ของโปรเจกต์ คล้ายคลึงกับเป็นเอกสาร White Paper ฉบับย่อที่สรุปกลยุทธ์ระยะยาวของโครงการ รวมถึงระบุความสำเร็จที่เกี่ยวข้องในอดีต โดยหากแผนงานไม่สมเหตุสมผลหรือไม่มีอยู่จริง ก็คาดเดาได้ว่าอาจเป็น Scam
- ทีมงานที่เกี่ยวข้อง
อัตลักษณ์หรือตัวตน เบื้องหลังประวัติด้านอาชีพ และความสัมพันธ์ของคนในทีมเป็นอีกข้อสำคัญที่ขาดไม่ได้ที่ต้องพิจารณา โดยหากสมาชิกในทีมของโครงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถระบุตัวตนได้ต่อสาธารณะก็จะเป็นสัญญาณที่ดีและทำให้โครงการมีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องสังเกตและระมัดระวังคือการประกาศหุ้นส่วนก่อนกำหนดโดยที่เป็นโครงการใหม่ไม่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากโดยส่วนใหญ่โครงการหรือธุรกิจขนาดใหญ่มักใช้เวลาและความพยายามมาอย่างต่อเนื่องในการสร้างชื่อเสียง
นอกจากนี้ ควรระวัง Token หรือเหรียญคริปโตที่ถูกโปรโมตโดยคนดังหรือทำโฆษณาอย่างหนักแต่มีความคลุมเครือ ซึ่งทำให้ดูน่าสนใจมากเกินความเป็นจริง เนื่องจากวัตถุประสงค์ของมิจฉาชีพเหล่านี้คือการเพิ่มความรู้สึกถึงความสำคัญของโครงการ ซึ่งมีผลต่อราคาในเชิงบวก และทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเกิดความกลัวที่จะพลาดหรือที่เรียกว่า “FOMO” ในที่สุด
- พิจารณาความเคลื่อนไหวบนเว็บไซต์หรือ Social Media
เว็บไซต์ที่ดูเหมือนสร้างและดีไซน์ดูเป็นมือสมัครเล่นถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดี โดยที่เคล็ดลับช่วยตรวจสอบคือการค้นหา Domain ของเว็บไซต์ที่ต้องการในเว็บไซต์บริการตรวจสอบ Domain เช่น who.is เป็นต้น โดยที่อยู่ Domain บางแห่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าสำหรับเว็บไซต์ที่หลอกลวง แต่หากเป็นเว็บไซต์ที่โดยรวมดูดีน่าเชื่อถือ ก็สามารถตรวจสอบได้จากลิงก์ที่เชื่อมไปยังเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง หากพบว่าลิงก์ใช้การไม่ได้หรือพบว่าคอนเทนต์หมดอายุก็มีส่วนที่ทำให้ทราบในเบื้องต้นได้ถึงความเอาใจใส่ต่อแผนการระยะยาวของโครงการ
อีกประเด็นที่ต้องระมัดระวังคือโครงการที่มีการอ้างอิงปลอมหรือเกินจริงโดยใช้ชื่อของเว็บชื่อไซต์ที่น่าเชื่อถืออื่นมาเกี่ยวข้องรับรองโครงการของตน ซึ่งความจริงไม่เป็นเช่นนั้น รวมถึงเมื่อมีข้อความที่รับรองหรือกล่าวเกินจริงก็สามารถตั้งข้อสงสัยได้ทันที
นอกจากนี้ อีกวิธีสังเกตหนึ่งสามารถตรวจสอบได้ทาง Social Media หรือ Community ของโปรเจกต์ หากพบว่ามีผู้ใช้อื่นได้ตำหนิหรือให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับของผิดพลาดของ Token หรือ Protocol แต่ไม่มีการตอบสนองจากทีมงานหรือมีความคลุมเครือก็ควรอยู่ให้ห่างจากโปรเจกต์นั้น รวมไปถึงผู้ใช้ใหม่สามารถตรวจสอบค้นหาการตอบรับ ความคิดเห็นและความรู้สึกของชุมชนในโปรเจกต์โดยการอ่านกระทู้หรือข้อมูลบน Twitter และช่องทางอื่นๆ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้เป็นอย่างดี
- ตรวจสอบสภาพคล่องหรือ Liquidity
มีโอกาสสูงที่จะเป็นการหลอกลวงหากเหรียญหรือ Token นั้นๆ มีรายชื่อเหรียญสำหรับการซื้อขายอยู่ในแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนต่างๆ น้อยแห่งมาก ทั้งกับแพลตฟอร์มประเภท Centralized และ Decentralized
นอกจากนี้ ที่สำคัญการพิจารณาสภาพคล่องของ Token ก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยสภาพคล่องหมายถึงมูลค่ารวมของสินทรัพย์ที่มีให้ซื้อขายในตลาดหรือ Pool ซึ่งการมีสภาพคล่องต่ำมักจะหมายถึงโครงการ Crypto ที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือมีผู้ใช้น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่สามารถตรวจสอบสภาพคล่องของแต่ละแพลตฟอร์มได้ โดยที่ผู้ใช้สามารถค้นหาและตรวจสอบได้ทั้งจากเครือข่าย Blockchain และ Exchange ที่เกี่ยวข้องกับ Token ที่ค้นหา
สรุป
ปฏิเสธไม่ได้ว่านักลงทุนจำนวนมากที่เข้ามาเป็นรายแรกหรือเข้ามาช่วงแรกเริ่มใน Crypto ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากเกิดความเข้าใจผิดและคาดหวังจะได้ผลตอบแทนมากเช่นกัน นำมาสู่การตกเป็นเหยื่อของนักหลอกลวงที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น สิ่งจำเป็นที่สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงไม่ให้ผู้ใช้ใหม่สูญเสียทรัพย์สินโดยโปรเจกต์ที่เป็น Scam คือการพยายามศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอและวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Crypto ที่เกิดนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดกลโกงใหม่ๆ อย่างไม่มีสิ้นสุดเช่นกัน