milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
VC Knowledge Sharing
27 สิงหาคม 2564
ภาษาไทย

รู้จัก Perpetual Futures เครื่องมือการเงินเพิ่มศักยภาพ Digital Asset

ในโลกการเงินและการลงทุน Futures Contract หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า Futures เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นอย่างมาก รวมถึงช่วยปลดล็อกศักยภาพใหม่ๆ ของตลาดอันนำมาสู่นวัตกรรมที่มีในปัจจุบัน นักลงทุนส่วนใหญ่รู้จัก Futures ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์หรือตลาดทุน แต่ยังไม่คุ้นเคยกับ Perpetual Futures ซึ่งเป็นเครื่องมือด้านการลงทุนที่แพร่หลายในแวดวง Cryptocurrency ทั้ง CeFi และ DeFi ด้วยความใหม่ของเครื่องมือและศักยภาพของนวัตกรรม หลายคนคงอยากรู้ถึงที่มาของ Futures ชนิดนี้แล้ว ในครั้งนี้ ทีม Venture Capital ของ SCB 10X จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับนวัตกรรมข้างให้ทุกท่านได้เข้าใจจนกระจ่างไปพร้อมกัน

Perpetual Future.png

มาทำความรู้จักสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ Futures


ก่อนที่จะทำความรู้จักกับ Perpetual Futures เรามาทำความรู้จักกับนวัตกรรมในตลาดทุนที่เป็นพื้นฐานกันก่อน ซึ่งก็คือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ Futures นั่นเอง

Futures เป็นเครื่องมือในตลาดทุนสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ โดยเป็นการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายว่าจะทำการซื้อขายสินทรัพย์ในอนาคต ด้วยราคาที่ทำการตกลงไว้ในวันที่เริ่มสัญญา ผลก็คือผู้ซื้อจะได้ซื้อสินค้าในราคา ณ วันที่ตกลง แม้ราคาตลาดจะผันผวนสูงขึ้น ส่วนผู้ขายจะได้ขายสินค้าในราคา ณ วันที่ตกลง โดยที่สินค้านั้นยังอยู่ในระหว่างการผลิต หรือยังใช้ประโยชน์จากสินค้าหรือสินทรัพย์นั้นๆ อยู่

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน คือการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของโคเนื้อระหว่างเกษตรกรกับร้านอาหาร เกษตรกรมีลูกโคเนื้อที่จะพร้อมขายใน 3 เดือนข้างหน้าแต่ต้องการการันตีราคาขายในเวลานี้ ขณะที่ร้านอาหารมี Demand ชัดเจนว่าจะต้องจัดเลี้ยงในอีก 3 เดือนข้างหน้าโดยต้องซื้อสินค้าในราคาตลาดเวลานี้ เพื่อเป็นการควบคุมความเสี่ยง เกษตรกรและร้านอาหารจึงตกลงทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ระบุให้เกษตรกรขายวัวในราคาปัจจุบัน และทำการส่งมอบให้กับร้านอาหารในอีก 3 เดือนข้างหน้า

perpetual future.png

สาเหตุที่ Futures เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้งานในตลาดเงินอย่างแพร่หลาย ประกอบด้วย 3 เหตุผล ได้แก่

  • ลดความเสี่ยงจากราคาผันผวน Futures เป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้กับหลายสินทรัพย์ ช่วยให้ทุกฝ่ายควบคุมความเสี่ยงให้สามารถยังดำเนินธุรกิจไปได้ โดยส่วนใหญ่มักจะใช้ลดความเสี่ยง 3 ลักษณะ ได้แก่ Exchange Risk ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินให้บริการได้ตามปกติ Market Risk ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตลาด และ Supply Risk ความเสี่ยงจากการเพิ่มหรือลดของอุปสงค์ซึ่งอาจทำให้สินค้าขาดตลาดเมื่อต้องใช้
  • ผู้ขายสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์นั้นได้ก่อนจะทำการส่งมอบ สาเหตุหนึ่งที่ Futures เป็นเครื่องมือที่ผู้ซื้อนิยมใช้เนื่องมาจาก ผู้ขายสามารถใช้ประโยชน์จากการที่ยังเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นได้ เช่นกรณีของโคเนื้อ ระหว่างที่ผู้ขายเก็บโคเนื้อไว้ก็อาจทำการเพาะพันธุ์ลูกโคเพิ่มเติมได้
  • ผู้ซื้อยังเก็บเงินสดไว้รับผลตอบแทนระหว่างรอปิดสัญญา Futures บางสัญญาเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อจ่ายซื้อแค่สัญญาเป็นสัดส่วนราว 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ซื้อยังมีเงินสดจำนวนที่พร้อมจะจ่ายเพื่อปิดสัญญาเก็บไว้ตามระยะเวลา ซึ่งส่วนนี้ผู้ซื้ออาจนำไปลงทุนระยะสั้นให้ได้ผลตอบแทนได้

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ซื้อมีโอกาสได้รับผลตอบแทน ขณะที่ผู้ขายยังต้องแบกรับค่าดูแลสินทรัพย์ก่อนส่งมอบ จึงมักมีการเสนอค่า Basis เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ขาย ซึ่งจะคำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคาตลาดและราคา Futures ตามระยะเวลาเสนอสัญญา

perpetual future - 1.png

ตลาด Futures เป็นตลาดที่มีได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ในประเทศไทยเองก็มีตลาด Futures คือ TFEX ซึ่งอยู่ในการดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


Perpetual Futures การต่อยอดเพื่อสอดรับศักยภาพของ Digital Asset


จะเห็นได้ว่า Futures เป็นนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในกรณีที่ไม่สามารถส่งมอบสินทรัพย์ได้ทันที แต่ต้องการซื้อขายในราคาซึ่งเห็นว่ามีความเหมาะสมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในมุมของ Digital Asset ซึ่งการส่งมอบทำได้อย่างสะดวก และการร่างสัญญาเพื่อให้ส่ง Digital Asset ก็ถือเป็นต้นทุน การออกสัญญาซื้อขายแบบเดิมที่มีกำหนดเวลาส่งมอบจึงไม่เหมาะ แต่เพื่อให้สินทรัพย์เกิดสภาพคล่องมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการคิดค้น Perpetual Futures

Perpetual Futures หรือบางแห่งเรียกว่า Perpetual Swap หมายถึงสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบไม่มีกำหนดเวลา ผู้ที่ทำการซื้อขายสามารถถือสัญญาได้โดยไม่จำเป็นต้องส่งมอบ Asset ระหว่างกัน Perpetual Futures เกิดขึ้นมาเนื่องจากความต้องการของผู้ถือสินทรัพย์ซึ่งไม่ต้องการขายสินทรัพย์ออกเนื่องจากใช้สร้างผลตอบแทนผ่าน DeFi อยู่ หรือติดสัญญาห้ามซื้อขายเนื่องจากซื้อสินทรัพย์ผ่าน ICO ก็สามารถสร้างผลตอบแทนระหว่างที่ไม่สามารถซื้อขายจริงได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Perpetual Futures ไม่จำเป็นต้องมีการส่งมอบ จึงไม่ถูกควบคุมราคาโดยการปิดสัญญา ณ วันที่ส่งมอบเหมือน Futures ทำให้มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ Price Divergence คือการที่ราคา Futures กับราคาตลาดหรือ Spot ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเท่ากับเป็นสินทรัพย์คนละชนิดซึ่งผิดวัตถุประสงค์การใช้งาน ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการจึงคิดค้นกลไกที่เรียกว่า Funding Fee ขึ้น เพื่อสร้างแรงกดดันในการควบคุมให้ราคา Futures เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคา Spot โดยมีวิธีจัดการดังนี้

  • เมื่อราคา Futures ขึ้นสูงสวนทางกับราคา Spot ที่ลดต่ำลง ผู้ซื้อจะต้องจ่าย Funding Fee ให้กับผู้ขาย เพื่อกดดันให้เกิดการขาย และราคา Futures จะลดต่ำลง
  • เมื่อราคา Futures ลงต่ำสวนทางกับราคา Spot ที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ขายจะต้องจ่าย Funding Fee ให้กับผู้ซื้อ เพื่อกดดันให้เกิดการซื้อ และราคา Futures จะเพิ่มสูงขึ้น

perpetual future - 2.png

เนื่องจากยังเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่เพิ่งเกิดขึ้น ผู้ให้บริการแต่ละรายจะมีเกณฑ์การคำนวณและการกำหนด Funding Fee ที่แตกต่างกันไป นักลงทุนจะต้องคำนึงถึง Funding Fee ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์และ Futures


ภาพรวมตลาด Perpetual Futures ในปัจจุบัน และอนาคต

ตลาด Perpetual Futures เกิดขึ้นครั้งแรกในตลาด Crypto ในปี 2016 โดยมี BitMex เป็นผู้ให้บริการรายแรก ปัจจุบัน Perpetual Futures เป็นประเภทสินทรัพย์ที่มีการซื้อขายในสัดส่วนที่สูงมากในตลาด Cryptocurrency ทั้งยังมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2020 ซึ่ง Exchange ระดับโลกหลายรายหันมารองรับบริการนี้ เช่น Binance, FTX 

Perpetual Futures ยังขยายขอบเขตประเภทสัญญาให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น Vanilla คือการนำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าไปค้ำประกันเพื่อ Trade Crypto และ Inverse Contract ที่สามารถใช้ Crypto ค้ำประกันเพื่อ Trade เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงการเพิ่มประเภทสินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันในการทำสัญญา Perpetual Futures นอกเหนือจาก Fiat money ให้รองรับ Stablecoin หรือ Cryptocurrency เมื่อมีรูปแบบที่หลากหลายทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนหาผลตอบแทนกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความนิยมและการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ Washtrading หรือการที่ Exchange ทำการซื้อขายกับตัวเองเพื่อเพิ่ม Volume ทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งนี้ Washtrading เป็นกรณีที่พิสูจน์ได้ยาก แต่ก็เป็นที่จับตาของ Regulator อยู่เช่นกัน

แม้ว่าภาพรวมปัจจุบันของ Perpetual Futures จะดูไปได้สวยในส่วนของผู้ให้บริการบน CeFi แต่นวัตกรรมนี้ก็ยังได้รับการพัฒนาต่อยอดอยู่บน DeFi เช่นกัน โดยรายที่กำลังพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมอยู่ ประกอบด้วย

  • Alpha Finance Fintech Startup ใน Portfolio ของ SCB 10X กำลังพัฒนา Perpetual Futures แบบที่ไม่มีค่า Funding Fee โดยนำ Funding rate ใส่เข้าไปในราคาสัญญาเพื่อให้ง่ายต่อการลงทุน และกำลังพัฒนาสัญญา Futures ให้เป็น Token เพื่อที่สามารถโอนสิทธิ์ความเป็นเจ้าของหรือหาผลตอบแทนกับ DeFi อื่นๆ ได้
  • Injective Protocol ผู้ให้บริการ Decentralized Exchange ระดับโลก กำลังพัฒนา Perpetual Futures สำหรับ non-crypto asset เช่น หุ้นหรือสินค้าอุปโภคบริโภค โดยที่สามารถปิดสัญญาด้วยการจ่ายเงินส่วนต่างกำไรแทนการส่งมอบสินค้า

จะเห็นได้ว่า Perpetual Futures แม้เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นในแวดวง Crypto แต่ก็เป็นแนวคิดที่ต่อยอดจาก Traditional Finance ทั้งยังมีโอกาสนำไปใช้กับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจาก Digital Asset ในอนาคตด้วย ดังนั้น โลกการเงินทุกวันนี้ การเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ไปพร้อมกับความเข้าใจแนวคิดเดิมจึงจำเป็นอย่างมาก ซึ่งในโอกาสหน้า ทีม Venture Capital ของ SCB 10X จะมีความรู้เรื่องนวัตกรรมทางการเงินและการลงทุนมานำเสนอกันอีก อย่าพลาดติดตาม

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept