milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
23 มิถุนายน 2565
ภาษาไทย

Play-to-Earn เกมรูปแบบใหม่ที่จะมา Disrupt อุตสาหกรรมเกมในอนาคต

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมมีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในรูปแบบเกมที่น่าจับตามองที่สุดในตอนนี้ก็คือ Play-to-Earn ประกอบกับกระแสของ Metaverse ทำให้สิ่งนี้น่าสนใจมากขึ้น วันนี้ SCB 10X จึงนำบทสัมภาษณ์ของคุณ  Gabby Dizon ผู้ก่อตั้ง Yield Guild Games (YGG) สตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเกมรูปแบบ Play-to-Earn ที่มีเป้าหมายเพื่อกระจายรายได้ให้กับผู้เล่นเกมทั่วโลกด้วย Blockchain จนเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จที่ทำให้ Axie Infinity เป็นเกมที่มีผู้เล่นเกือบ 2 ล้านคนทั่วโลก ดำเนินรายการโดยคุณ Kasima Tharnpipitchai, Entrepreneur in Residence, SCB 10X  ในหัวข้อ Play-To-Earn and the Future of Gaming Metaverse จากงาน SCB 10X Open House in Metaverse มาให้ทุกท่านได้ติดตามกัน

Screencredit11_1200X800-04 (1).jpg


YGG คืออะไร?

Yield Guild Games ได้ถูกริเริ่มขึ้นโดย Gabby Dizon และ Beryl Li ที่ปล่อยเช่าไอเทมในเกม Axie Infinity ให้สำหรับผู้เล่นที่กำลังทรัพย์น้อย โดย Axie เป็นเกมรูปแบบ Play-to-Earn ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ยิ่งในช่วงการระบาดของ Covid-19 ที่คนต้องการหารายได้เสริม ซึ่งเริ่มต้นในประเทศฟิลิปปินส์ โดยก่อนจะมาก่อตั้ง YGG, Gabby ทำงานในอุตสาหกรรมเกมมานานกว่า 18 ปี โดยจุดเปลี่ยนของเขาเกิดขึ้นเมื่อปี 2017 เมื่อรู้จักกับโลกคริปโตกับการใช้ Smart Contract และเมื่อเขาทดลองเล่น Cryptokitty จึงตระหนักว่า NFT จะเข้ามา Disrupt อุตสาหกรรมเกมในอนาคต

Yield Guild Games (YGG)  เป็นองค์กรอิสระที่กระจายอำนาจ (DAO) ที่ลงทุนใน NFT ใช้ได้ทั้งในเกมบนบล็อกเชน และ Metaverse โดยเฉพาะเกมรูปแบบ Play-to-Earn ซึ่งจะทำการรวบรวมทรัพย์สิน NFT ในเกมต่างๆ แล้วให้คนในชุมชนยืม โดยที่ผู้เล่นก็ยังคงได้รางวัลจากการเล่นเกมอยู่ ทำให้ไม่ต้องมีเงินต้นเพื่อเริ่มเล่นเกม คนจึงมีโอกาสเข้าสู่วงการคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัลได้มากขึ้น เพราะแค่มีเวลาที่จะเล่นเกมก็เพียงพอแล้ว เปรียบเสมือนโครงการทุนการศึกษาหรือการให้กู้ยืม นอกจากนี้ YGG ยังสอนวิธีใช้งาน Digital Wallet วิธีเล่นเกม และวิธีรักษาความปลอดภัยของสินทรัพย์ให้กับคนในชุมชนด้วย

YGG ร่วมมือกับเกมจำนวนมากโดยทำการซื้อสินทรัพย์ในเกมตั้งแต่เนิ่นๆ หรือบางเกมอาจซื้อตั้งแต่ก่อนที่เกมจะเปิดให้เล่นอย่างเป็นทางการ รวมแล้วกว่า 40 เกม เพื่อจะได้ในราคาที่ถูกและสามารถนำไปปล่อยให้ผู้เล่นที่ไม่มีทุนทรัพย์ได้ นั่นหมายความว่า YGG จะเป็นเจ้าของ Govenance Tokens ในแต่ละเกม พวกเขาจึงเป็นตัวแทนของผู้เล่นในการเข้าไปกำกับดูแลเกมนั้นๆ ทำให้เสียงของผู้เล่นดังมากขึ้นเมื่อมีการลงมติหรือเมื่อมีการเปิดรับความคิดเห็น เนื่องจากผู้เล่นแต่ละคนอาจไม่มีโอกาสเสนอแนะว่าเกมจะมีประโยชน์ต่อฐานผู้เล่นอย่างไร หรือไม่มีประสบการณ์ที่กว้างขวางหรือมากพอเมื่อเทียบกับทางทีมงานที่อยู่ในสังคมเกมหลายประเภท  และ YGG ยังมีข้อมูลเชิงลึกของแต่ละเกม จึงสามารถให้คำแนะนำทั้งวิธีการเล่น การทำงานและกลไกของกิลด์ให้กับผู้เล่นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในการซื้อที่ดินบน The Sandbox เพื่อให้ผู้เล่นสามารถสร้างรายได้และเล่นเกมในนั้นได้ อย่างเช่น League of kingdoms, Splinterlands และกำลังจะมีเกมใหม่อีก 2-3 เกม 



ฟิลิปปินส์เป็นฐานผู้ใช้งานใหญ่ที่สร้างความสำเร็จให้กับ YGG และ Axie Infinity จริงหรือไม่?


ฟิลิปปินส์เป็นรองจากประเทศไทยที่ขึ้นชื่อว่ามีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งความจริงแล้วคนเหล่านี้ไม่ได้มีความแอคทีฟแค่เพียงบน Social เท่านั้น พวกเขายังให้ความสนใจในเรื่องของเกมด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจการที่ Axie มีฐานผู้เล่นในประเทศฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมาก เพราะมันสามารถทำรายได้ให้กับผู้เล่นได้ด้วย สิ่งที่น่าสนใจในโลก Metaverse คือตอนนี้ผู้เล่นเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนในการใช้เวลาไปกับเกม หรือสิ่งต่างๆ ใน Metaverse ได้โดยไม่สนใจว่าพวกเขามาจากประเทศใด ไม่มีการแบ่งแยกเกิดขึ้นแล้ว สำหรับ Gabby แล้ว Metaverse เป็นสถานที่ที่ทำให้คนสามารถสื่อสารและตอบโต้กันแบบออนไลน์ได้ และเมื่อเข้าสู่ Web 3.0 จะทำให้คนมีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของในเนื้อหาที่สร้างขึ้นมาเองได้ เพราะในปัจจุบันเนื้อหาในโซเชียลมีเดียไม่ถือว่าผู้ใช้เป็นเจ้าของเนื้อหา แต่ใน Web 3.0 คนจะมีโอกาสเป็นเจ้าของเนื้อหาที่ตัวเองสร้าง ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้ล้วนมีมูลค่าในตัวมันเอง เช่น NFT ที่ปกติแล้วเป็นเพียงรูปโปรไฟล์ธรรมดา นอกจากนี้แล้วเขามองว่าเรื่องการเงินยังคงเข้ากับ NFT ได้เป็นอย่างดี และปัจจุบัน Digital Asset ที่มีการใช้งานที่มากขึ้น ทำให้สะดวกในการทำงานบนโลกของ Web 3.0 ที่ไม่มีข้อจำกัดทางเรื่องข้อมูลเหมือนกับ Web 2.0 ที่ข้อมูลมหาศาลถูกผูกขาดโดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่เพียง 3 รายเท่านั้น และยิ่งเป็นการสร้างเกมด้วย NFT บน Metaverse ยิ่งทำให้การทำงานร่วมกันของส่วนประกอบต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Head Office ของ YGG อยู่ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ พวกเขาจึงเริ่มสร้างฐานผู้ใช้งานและความร่วมมือในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ค่อนข้างง่าย ซึ่งครอบคลุมมาเลเซีย ไทย และเวียดนาม สำหรับพื้นที่ที่น่าจับตามองในการขยายชุมชนของ YGG คือ ประเทศในกลุ่ม Emerging Markets และประเทศบราซิลที่มีตลาด eSports รวมถึงเหล่า Streammer และผู้เล่นจำนวนมากที่ให้ความสนับสนุนเกมรูปแบบ Play-to-Earn 


วิวัฒนาการของเกม

ในยุค 90’s เป็นยุคของ Shareware Game ที่ต้องซื้อ Licence เพื่อเล่นเกมใน PC ต่อมาในยุค 20’s เป็นช่วงเวลาของ Freeware Game โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาหลีที่เป็นผู้บุกเบิกรูปแบบธุรกิจเกมที่เล่นฟรีได้จริงๆ เช่น Maplestory หรือเกมกลุ่ม MMO และปรากฏการณ์การเข้ามาของ Smartphone ในปี 2010 ธุรกิจเกมแบบ Free-to-Play ก็เติบโตขึ้นอย่างมาก ด้วยจำนวนผู้ที่มีอุปกรณ์มือถือหลายร้อยล้าน รูปแบบเกมที่พัฒนาให้มีความน่าสนใจและซับซ้อน แพลตฟอร์มสามารถหาเงินได้ทั้งจากการขายแอพเกม สิ่งของในเกม หรือจะเป็นการขายพื้นที่โฆษณาบนเกม ทำให้อุตสาหกรรมเกมเติบโตอย่างแท้จริง โดยในปี 2021 มีการซื้อแอพเกมรวมแล้วมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และตอนนี้ผู้สร้างเกมกำลังย้ายรายได้จากผู้เล่นที่จ่ายเงินเพื่อซื้อเกมหรือ Item ไปเป็นการจ่ายเงินแทนความพยายาม ซึ่งตอนนี้นักพัฒนาออกแบบเกมตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อให้ผู้เล่นสามารถสร้างรายได้และเป็นเจ้าของของเศรษฐกิจในเกมได้จริงๆ บทบาทและกิจกรรมจำนวนมากจะทำให้เศรษฐกิจในเกมมีความซับซ้อนมากขึ้น มีสิ่งต่างๆ อย่างเช่น สกุลเงิน Tokens หรือ NFT ได้ ทำให้มีประสบการณ์แปลกใหม่บนโลกเสมือนจริงนอกเหนือจากแค่เล่นเพื่อความสนุกเท่านั้น และที่กล่าวมานี้คือรูปแบของ Play-to-Earn ที่จะมา Disrupt อุตสาหกรรมเกมในอนาคตที่จะถึงนี้

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept