milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
06 เมษายน 2566
ภาษาไทย

Web 5.0 คืออะไร แตกต่างกับ Web 3.0 อย่างไร?

ผู้ที่สนใจเทคโนโลยี Blockchain คงรู้จักหรือได้ยินแนวคิดของ Web 3.0 หรือล่าสุด Web 5.0 ซึ่งกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงกันเป็นวงกว้างเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา โดย Web 3.0 เป็นอินเทอร์เน็ตที่ถูกสร้างด้วยแนวคิดระบบกระจายศูนย์ที่มุ่งเน้นให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถควบคุมข้อมูลของตนเองได้อย่างเต็มที่และอิสระ และแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ทำงานบน Web 3.0 ไม่ต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์กลาง แต่ทำงานบนเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer (P2P) ที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และ Web 3.0 มีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจำนวนหนึ่งเข้ามาลงทุนเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในพื้นที่ และต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ได้มีแนวคิดของ Web 5.0 ที่ส่งเสริมแนวคิดของ Web 3.0 ไปสู่การกระจายศูนย์ที่มากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์ที่เรียกความสนใจได้อย่างยิ่ง เนื่องจากมี Jack Dorsey อดีต CEO ของ Twitter ได้ออกมานำเสนอแนวคิดของ Web 5.0 นี้

และในบทความนี้ SCB 10X พาทุกคนไปทำความรู้จักกับแนวคิดของ Web 5.0 ว่ามีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกของการใช้ Web ในอนาคตอย่างไร ?

Article5SEP_1200X800.jpg

Web 5.0 คืออะไร?


อย่างที่ทราบกันดีว่า
Web 3.0 เป็นระบบกระจายศูนย์ที่ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลของตนได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงคอนเทนต์และเชื่อมต่อโดยไม่มีข้อจำกัดจากองค์กรหรือตัวกลางที่ควบคุมอินเทอร์เน็ตอย่างที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลว่าแพลตฟอร์มจะนำข้อมูลไปใช้หรือเปิดเผยโดยไม่ผ่านการยินยอมจากผู้ใช้ 

แต่ล่าสุดการเปิดตัวแนวคิดของ ‘Web 5.0’ ถูกคาดหมายว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ถัดไปของ World Wide Web เนื่องจากแนวคิดที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำให้นักพัฒนาสามารถทำงานพัฒนา Decentralized Web Apps (DWAs) ได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้หลักฐานสำหรับอ้างอิง (Credentials) ที่สามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระและมี Web Nodes ที่ไม่ใช่ระบบรวมศูนย์ (Centralized) แต่ใช้การตรวจสอบแบบ Decentralized Identifier ซึ่งมีความแตกต่างจากระบบในปัจจุบันที่ต้องมีคนกลางคอยควบคุมการตรวจสอบและยืนยันรวมไปถึงเป็นผู้ควบคุมและเป็นเจ้าของข้อมูล

ดังนั้น Web 5.0 มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้มีความเป็นเจ้าของในข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลอื่นๆ ของผู้ใช้อย่างสมบูรณ์ โดยทีมงานนักพัฒนาเบื้องหลังกำลังทำงานเพื่อสร้างระบบให้เกิดการกระจายศูนย์มากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคลและจัดการกับพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น


ทำไมจึงต้องมี Web 5.0?

สาเหตุที่ Web 5.0 เกิดขึ้นเนื่องจากทีมพัฒนาที่นำโดย Jack Dorsey ต้องการให้ตระหนักถึงความโปร่งใส การจัดการและความเป็นเจ้าของข้อมูล ซึ่งเข้าคิดว่าในยุคของ Web 3.0 ปัจจุบันยังดีไม่เพียงพอ รวมถึง Web ปัจจุบันที่ถึงแม้ว่าจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้อย่างสะดวกแต่ก็ยังขาดส่วนเลเยอร์หลักรองรับ หรือหมายถึงผู้ใช้ต้องใช้ความพยายามเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวกับบัญชีและรหัสผ่านจำนวนมาก ซึ่งทำให้จำหรือจัดการได้ยาก รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลสำหรับยืนยันตัวตนใน Web ปัจจุบันได้กลายเป็นทรัพย์สินของบุคคลที่สามอีกด้วย

ซึ่งปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่ Web 5.0 มุ่งเน้นเพื่อแก้ไขด้วยแนวคิดที่ต้องการทำให้ข้อมูลของผู้ใช้เกิดการกระจายศูนย์อย่างปลอดภัยและทำให้ผู้ใช้สามารถใช้ข้อมูลได้ง่ายพร้อมกับไปกับความมั่นใจยิ่งขึ้น 


เบื้องหลังโปรเจกต์ Web 5.0

ทีมพัฒนาที่อยู่เบื้องหลัง Web 5.0 นำโดย Jack Dorsey อดีต CEO ของ Twitter และปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง Block (เปลี่ยนชื่อจาก Square) ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินใหม่รวมถึงได้ประกาศแผนการสร้าง Web 5.0 เมื่อต้นปี 2022 โดยบริษัทสาขาของ Block ที่รู้จักกันในชื่อ ‘TBD’ กำลังดำเนินการพัฒนา Web 5.0 โดยอธิบายถึงแนวคิดใหม่นี้ในเบื้องต้นว่าเป็นการนำฟังก์ชันการทำงานของ Web2 มาพัฒนาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Blockchain หรือ Cryptocurrencies 


Web 5.0 ทำงานอย่างไร?

การทำงานของ Web 5.0 เริ่มจาก “DWNs” (Decentralized Web Nodes) ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของเครือข่ายแบบ Distributed และทำให้เกิดเครือข่าย Peer-to-Peer สำหรับผู้ใช้ โดยที่ผู้ใช้จะเปิดการใช้งาน DWNs ด้วยตนเองบนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยน ส่งต่อและยืนยันตัวตน

การใช้ DWNs ระหว่างผู้ใช้ส่งผลให้มีที่สำหรับเก็บข้อมูลรูปแบบตาข่ายโดยที่ไม่ต้องพึ่งเซิร์ฟเวอร์กลางหรือบุคคลที่สามควบคุม รวมไปถึงทำให้ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบสื่อสารถึงกันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางเช่นกัน ซึ่งผู้ใช้จะได้รับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

และเมื่อผู้ใช้เป็นผู้ควบคุม DWN ด้วยตนเอง ก็ทำให้สามารถตัดสินใจในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะของตนเองหรือผู้ใช้เป็นผู้ให้สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของตนเท่านั้น

อีกคุณสมบัติสำคัญในการทำงานของ Web 5.0 คือการใช้ DIDs (Decentralized Identifiers) และ Verifiable Credential (VC) ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานเพื่อใช้สร้าง Self-Sovereign Identity (SSI) ที่ทำให้การยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือเท่ากับการยืนยันตัวตนในโลกความจริงและผู้ใช้เป็นเจ้าของข้อมูลโดยสมบูรณ์ ซึ่งการรวมกันของคุณสมบัติดังกล่าวช่วยให้สามารถสร้างระบบ ‘Decentralized Identity’ หรือการยืนยันตัวตนแบบกระจายศูนย์ หมายความว่าผู้ใช้สามารถระบุตัวตนได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง หรือสามารถกล่าวในอีกแง่มุมได้ว่า Decentralized Identity มีองค์ประกอบที่สัมพันธ์กับ Blockchain แบบสาธารณะที่ไม่จำเป็นต้องเก็บบันทึกข้อมูลไว้ใน Blockchain 


Web 5.0 แตกต่างกับ Web 3.0 อย่างไร?

วิสัยทัศน์สำคัญของ Web 5.0 มีความคล้ายกันกับ Web 3.0 แต่แตกต่างกันที่ลักษณะเฉพาะ โดยแนวคิดของแอปพลิเคชันต่างๆ บน ‘Web 3.0’ อยู่ในรูปแบบของ Smart Contracts ที่ทำงานบน Blockchain สาธารณะ หรือที่คนในวงกว้างกล่าวถึง Web 3.0 ว่าเป็นแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (DApps) ซึ่งโค้ดที่จำเป็นต่างๆ อยู่ในเครือข่ายกระจายศูนย์ที่ทำงานบน Blockchain

แต่สำหรับ Web 5.0 มี Decentralized Web Applications (DWAs) ที่ไม่ได้ทำงานบน Blockchain แต่จะใช้ “DWNs” (Decentralized Web Nodes) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer ที่เป็นอิสระจาก Blockchain สาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน และด้วย Web 5.0 ทำให้ผู้ใช้มีสิทธิ์ควบคุมข้อมูลโดยสมบูรณ์และข้อมูลต่างๆ จะถูกบันทึกลงบน DWNs (Decentralized Web Nodes) แต่ในทางกลับกัน Web 3.0 จะบันทึกข้อมูลบนเครือข่ายกระจายศูนย์


Web 5.0 จะเปิดให้ใช้งานจริงแบบสาธารณะเมื่อใด? 

ปัจจุบัน Web 5.0 ยังเป็นเพียงโครงการแบบ Open-Source ที่อยู่ในช่วงของการดำเนินการพัฒนา ซึ่งทีมงานยังต้องอาศัยเวลาเพื่อวางแผนการเปิดให้ใช้งานจริงรวมถึงวิธีการที่จะนำ Web 5.0 ไปใช้งาน 

อย่างไรก็ตาม Web 5.0 ที่คาดหมายว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคตรุ่นต่อไปยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่แผนของโครงการที่เสนอออกมาทำให้เห็นภาพรวมเกี่ยวกับการใช้งานและบริการในอนาคตอันใกล้ โดยทีมงานเบื้องหลังใช้เวลาทำงานพัฒนา Web 5.0 เป็นระยะเวลากว่าทศวรรษและแนวคิดนี้กำลังถูกปรับแต่งโดยผู้สร้างและผู้ที่เริ่มใช้เนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา โดยในอนาคตยิ่งมีผู้ใช้งาน Web 5.0 มากเท่าใดก็ยิ่งมีโอกาสที่แนวคิดนี้จะเข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept