milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
12 มกราคม 2565
ภาษาไทย

Axie Infinity ผู้นำโมเดล Play-to-Earn เทรนด์ใหม่ในอุตสาหกรรมเกม NFT

“Play-to-Earn” กลไกที่เปลี่ยนจากกิจกรรมผ่อนคลายหรืองานอดิเรกอย่างการเล่นเกมให้สามารถสร้างรายได้ได้ ซึ่งกลไกนี้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม NFT โดยเกมแนว Play-to-Earn ที่โด่งดังจนทำให้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจก็คือ Axie Infinity บน Ethereum ที่ได้แรงบันดาลใจจากเกม Pokémon และรูปแบบคล้ายกับเกม Animal Crossing จาก Nintendo ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดย Axie Infinity จัดเป็น Decentralized Autonomous Organization (DAO) ที่ตอนนี้มี Market Cap กว่า 375 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีผู้ใช้มากที่สุดกว่า 1 ล้านคนในหมวด Play-to-Earn วันนี้ SCB 10X จึงนำบทสนทนาจากงาน REDeFiNE TOMORROW 2021 ระหว่าง Jeffrey Zirlin Co-Founder & Growth Lead แห่ง Sky Mavis สตูดิโอผู้ผลิตเกม Axie Infinity กับ Kenrick Drijkoningen, Founding Partner ของ LuneX Ventures กองทุนด้าน Crypto และ Digital Asset ที่ได้รับอนุญาตแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโอกาสนี้ SCB 10X จึงขอสรุป Session ดังกล่าวให้ทุกท่านได้ติดตามกัน



1200x800 Axie & The Future of NFT Games 01.png

 ทำความรู้จัก Axie Infinity


Axie Infinity เป็นเกมที่ถูกพัฒนาขึ้นในปี 2018 โดยบริษัท Sky Mavis สตูดิโอเกมสัญชาติเวียดนาม โดยที่นี่จะให้ความสำคัญกับ Gamer ว่ามีความสนใจอย่างไร มีพฤติกรรมการใช้งานแบบไหน เพราะ Gamer นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจดิจิทัลนี้แล้ว ยังมีอิทธิพลต่อ Community และเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าที่แท้จริงในอุตสาหกรรมนี้ด้วย ซึ่งหนึ่งในงานของ Jeffrey คือการแนะนำให้คนทั่วโลกได้รู้จักกับ Axie Infinity เกมแนวต่อสู้แบบ PvE (Player Versus Environment) ที่มีการสะสมตัวละครในรูปแบบสัตว์เลี้ยง โดยได้ใช้ Blockchain ที่มีจุดเด่นเรื่องความเป็นอิสระทางการเงินมารวมกับสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ Digital Assets เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้เล่นเกมรู้สึกเป็นเหมือนเจ้าของระบบเศรษฐกิจในนั้น ดังนั้นหนึ่งในแนวทางการสร้างรายได้คือการขายตัวสัตว์เลี้ยงของผู้ใช้งานที่จัดเป็น NFT ซึ่งสามารถซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนได้ นอกจากนี้ทรัพยากรทั้งหมดในเกมยังเป็น Token ERC-20 ที่สามารถขายบน Ethereum ได้เช่นกัน รวมถึงสามารถแลกเปลี่ยนเงินไปที่ Uniswap แน่นอนว่าท่ามกลางความน่าสนใจและตื่นเต้นนี้ย่อมมีความเสี่ยงหรือความกังวลปะปนมาด้วย

Axie ทำให้โลกเห็นถึงผลการใช้กลไกแบบ “Play-to-Earn” ตอนนี้จึงมีการลงทุนใน Yield Guild Games (YGG) มากขึ้น โดย YGG จะลงทุนใน NFT และมีเป้าหมายคือการเป็นผู้พัฒนาเศรษฐกิจในโลก Virtual ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้ Jeffrey คิดว่าจะไปถึงเป้าหมายนี้ได้ก็คือการพัฒนาและการเติบโตของเกมที่มีลักษณะแบบ Bottom-Up หรือ Organic คือทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ Jeffrey กล่าวว่า Axie คือการผสมผสานระหว่างการทำงานกับการเล่นเกม  เป็นงานรูปแบบใหม่ อาจจัดอยู่ใน Gig Economy หรืออาจเรียกได้ว่า Passion Economy ก็ได้ โดยเขาพบว่าเมื่อผู้ใช้งานมีทรัพยากรในเกมถึงจุดหนึ่งพวกเขาจะเริ่มให้คนในครอบครัวหรือจ้างคนอื่นให้คนมาเล่นแทน อย่างเช่นตัวเขาเองที่ให้ภรรยาใช้บัญชีของเขาเล่นเกมในเวลาที่เขาทำงาน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่พวกเขาคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีต้นทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ได้ การจ้างให้คนอื่นมาเล่นแทนจึงเป็นการสร้างรายได้คนกลุ่มนี้ และทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย จึงอาจสังเกตได้ว่า Streamer ใน Community นี้เป็นหน้าใหม่ Axie เป็นเกมแรกที่พวกเขาสตรีม เปลี่ยนจากผู้เล่นธรรมดากลายเป็น Influencer เพราะความชอบในเกมนี้และเพื่อบอกต่อให้คนเข้ามาเพิ่ม เศรษฐกิจในเกมจะขยายมากขึ้น โดยกว่า 55% ของผู้ใช้งานรู้จัก Axie ผ่านคนใกล้ตัวอย่างเพื่อนหรือครอบครัว



ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในปีที่ผ่านมา


ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา Axie มีผู้ใช้งานกระโดดจากหลักพันไปหลักล้าน โดยพวกเขาทำ User Acquisition ผ่านโฆษณาทาง Instagram และ Facebook เป็นหลัก ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เรียกว่า CAC (Customer Acquisition Cost) โดยมักจะนำมาเทียบอัตราส่วนกับ LTV (Lifetime Value) เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดทางธุรกิจ และพวกเขาก็มีค่า LTV มากกว่า CAC หมายความว่าต้นทุนในการหาผู้ใช้งานหนึ่งคนน้อยกว่ามูลค่าที่ผู้ใช้งานจ่ายให้กับพวกเขา กล่าวคือธุรกิจมีโอกาสเติบโตขึ้น 

ทว่ามีนักวิจารณ์และคนบางส่วนมองว่าการเติบโตของ Axie มาจากกระแสของ NFT ทำให้ราคาของสินทรัพย์ในเกมรวมถึง SLP (Token ในเกมที่จะได้รับเมื่อผ่านด่าน) เมื่อเวลาผ่านไปหรือเมื่อผู้เล่นถึงจุดอิ่มตัวไม่เล่นแล้วก็จะทำให้ราคาลดลง  อย่างไรก็ตาม Jeffrey คิดว่าการเติบโตของ Axie ก็เหมือนกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Emerging Market ที่โตได้เพราะเงินลงทุนจากต่างประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาก็สามารถแยกได้ว่านักลงทุนกลุ่มไหนที่ลงทุนตามกระแสหรือกลุ่มไหนเข้ามาเพื่อลงทุนจริงๆ ซึ่งสอดคล้องกับ Kenrick ที่คิดว่าสิ่งนี้จะเป็นจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อถึงเวลานั้นผู้เล่นส่วนมากเล่นเพื่อหารายได้หรือเล่นเพื่อผ่อนคลาย แต่สุดท้ายแล้วผู้เล่นที่มาจากการเป็นผู้ใช้งาน DeFi จริงๆ ย่อมอยากจะแนะนำเกมนี้ให้คนอื่นต่อไป

อย่างไรก็ตามหลายคนมองว่าการจะเข้ามาเล่น Axie นั้นมีความวุ่นวาย เนื่องจากจะต้องมี Ronin Wallet ที่ไว้เก็บ NFT ของเกม แต่ Ronin ยังไม่สามารถส่งเหรียญไปยัง Exchange Wallet โดยตรงได้ จึงต้องส่งเหรียญไปยัง Software Wallet อื่นก่อน ซึ่งในที่นี้ก็คือ Metamask กระเป๋าเงินบน Ethereum Chain แบบ Open Source ที่ใช้กับ dApps ได้หมด และสามารถเชื่อมต่อกับ Smart Contract ได้ แล้วถ้าเป็นมือใหม่ในโลก Crypto ก็ต้องมี Exchange Wallet บัญชีสำหรับซื้อ ETH ก่อนด้วย ดังนั้น Kenrick จึงเกิดคำถามว่าทำไมการลงทะเบียนหลายขั้นตอนนี้ถึงทำให้คนจำนวนมากพยายามจนเข้ามาเล่น Axie ได้และประทับใจในที่สุด ซึ่ง Jeffrey ได้ตอบว่าไม่มีใครที่รู้วิธีใช้งานของสิ่งใดๆ ก็ตามตั้งแต่เกิด ทุกสิ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นมีประโยชน์กับคน สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนให้มีอิสรภาพทางการเงินมากขึ้นได้ ผู้คนย่อมมีความพยายามในการเรียนรู้ที่จะใช้งานสิ่งนั้น แต่พวกเขาก็จะพยายามทำให้มันง่ายขึ้นในอนาคต เพราะเขาให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและประสบการณ์ในการใช้งานของผู้เล่นเป็นหลัก



แนวทางการพัฒนาของ Axie Infinity กับ Ronin Wallet 

 
Kenrick ตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินงานแบบ Centralized น่าจะเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าสำหรับ Axie แทนที่พวกเขาจะสร้าง Sidechain กับ Wallet เป็นของตัวเอง แต่ Jeffrey กล่าวว่า ที่พวกเขาไม่ทำอย่างนั้นก็เพราะว่าจากการที่รวบรวมข้อมูลการใช้งานทั้งหมดทำให้รู้ว่าผู้ใช้งานไม่ได้สนใจว่าจะเป็น Chain ไหน ขอแค่ให้การใช้งานราบรื่นรวมถึงเรื่องสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในเกมที่ควรจะมีความสะดวกในการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขาย จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องดำเนินงานแบบ Decentralize ผ่านการใช้ Governance Token (Axie Infinity Shards: AXS) และ Axie มีการเติบโตขึ้นมากเมื่อสามารถย้ายฐานโทเค็นจาก Ethereum Mainnet ไปยัง Ronin Sidechain Wallet ได้โดยตรง เพราะผู้เล่นไม่จำเป็นต้องเสียค่าแก๊สราคาแพงอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้ใช้งานและจำนวนเงินใน Ronin เป็นจำนวนมาก พวกเขาย่อมต้องการความน่าเชื่อถือและการตรวจสอบ Axie จึงมีการอัปเดต Consensus ให้มีผู้ตรวจสอบสำหรับ Merkle Proofs ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอน R&D เพื่อให้เข้ากับ EVM (Ethereum Virtual Machine) มากที่สุด เพราะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากของวงการ DeFi ซึ่ง Jeffrey มองว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เกมได้รับการพัฒนาต่อไปในทางที่ถูกต้อง เขาจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและคิดว่า Axie เป็นโปรโตคอลต้นแบบสำหรับการพัฒนาเกมสัตว์ประหลาดบน Blockchain 

โดยในอนาคตทาง Sky Mavis จะมี Software Development Kit (SDK) ทำให้ทุกคนสามารถที่จะสร้างเกมที่มีศักยภาพแบบ Axie และสามารถเพิ่มมูลค่าในระบบนิเวศนี้ได้ นอกจากนี้พวกเขายังเปิดตัว DEX เพื่อซื้อขายโทเค็น AXS และ SLP โดยสร้างเครือข่ายบน Ronin ที่เชื่อมโยงกับ Ethereum ซึ่งเป็นการสร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับ Axie ทำให้ Axie Infinity เป็นหนึ่งในเกมแรกในโลกที่มี DEX ของตัวเอง และ Jeffrey เชื่อว่าในอนาคต Ronin สามารถเป็นแพลตฟอร์มการจัดจำหน่ายสำหรับเกมอื่นๆ ได้อย่างมีศักยภาพ เมื่อเหล่านักพัฒนามีวิธีการแก้ปัญหาเรื่อง Scaling โดยปัญหาที่ Axie พบในตอนนี้คือข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์เริ่มมีความวุ่นวายและช้าลงเมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเขามองว่าปัญหานี้ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะแสดงให้เห้นว่าเกมของพวกเขากำลังเติบโต แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องรีบแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน


และนี่คือเรื่องราวที่น่าสนใจของ Axie Infinity ผู้นำอุตสาหกรรมเกม NFT ที่สร้างเงินให้กับผู้เล่นได้ เกมที่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบ Virtual ต้นแบบการพัฒนาโมเดล “Play-to-Earn” และในโอกาสต่อไป SCB 10X จะมีเรื่องราวของ Blockchain ที่น่าสนใจมาให้ติดตามกันอีกอย่างแน่นอน 


สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชม session นี้ย้อนหลังได้ที่: YOUTUBE

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept