milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
15 ธันวาคม 2563
ภาษาไทย

FinTech กับการก้าวสู่ยุค Decentralised Finance (DeFi)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีต่างๆ มีส่วนยกระดับภาคการเงินให้เป็นอย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะเทคโนโลยี Blockchain ที่นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินอย่าง Cryptocurrency แล้ว  ยังนำไปสู่แนวคิดใหม่ของโลกการเงินรูปแบบที่มีชื่อว่า DeFi ซึ่งแนวคิดนี้กำลังเข้ามาท้าทายโลกการเงินแบบเดิมด้วยการออกแบบขั้นตอนที่ Disrupt การมีอยู่ของสถาบันการเงิน รวมถึงเปลี่ยนวิธีการกำกับดูแลที่มีอยู่เดิมไปอย่างมาก ครั้งนี้ SCB 10X ขอชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ DeFi พร้อมกับที่มา ประโยชน์ และจุดสำคัญที่ควรทราบไปด้วยกัน 

1200.800 WHAT IS DE_FI.png

DeFi คืออะไร เกี่ยวข้องกับ Blockchain อย่างไร

DeFi หรือ Decentralised Finance ซึ่งเป็นแนวคิดทางการเงินแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยี Blockchain มาทำหน้าที่บันทึกและดำเนินธุรกรรม แทนตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ธนาคาร หรือศูนย์รับแลกเปลี่ยนต่างๆ ซึ่งจุดแข็งของ DeFi คือการบันทึกและดำเนินธุรกรรมอัตโนมัติ สามารถบันทึกได้ทันทีที่มีการตกลง และมีความเสี่ยงต่อการโดนโจมตีและบิดเบือนข้อมูลในระบบที่ต่ำกว่า

ปัจจุบัน DeFi มีบริการทางการเงินที่ครอบคลุมการใช้งานที่หลายคนคุ้นเคย เช่น บัญชีเงินฝาก การกู้ยืมเงินระหว่างรายย่อย (Peer-to-peer Lending) ไปจนถึงการประกันภัย ด้วยบริการแบบเดิมที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น พร้อมกับแนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุนมีส่วนร่วมบน Platform ทำให้ DeFi ขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2020 ซึ่ง Bloomberg ระบุว่า DeFi เป็นบริการทางการเงินที่เร่งมูลค่าของ Cryptocurrency ให้สูงขึ้นถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเดือนกันยายนปี 2020 สินทรัพย์ค้ำประกันในบริการของ DeFi มีมูลค่าอยู่ที่ราว 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ


เส้นทางสู่โลกการเงินในยุค DeFi

ระบบการเงินในปัจจุบัน เป็นการเงินแบบรวมศูนย์หรือ Centralised Finance ที่เรียกอย่างย่อว่า CeFi ซึ่งเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยศตวรรษที่ 17 เมื่อรัฐบาลอังกฤษประกาศจัดตั้งธนาคารกลางเพื่อออกธนบัตร (Banknote) อ้างอิงกับสินทรัพย์มีค่าเพื่อควบคุมให้เงินตราอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยมีบรรดาธนาคารเป็นผู้ดำเนินการแจกจ่ายธนบัตรให้ประชาชนใช้เป็นเงินตราอย่างทั่วถึง ธนาคารเหล่านี้เองจึงถือเป็นตัวกลางที่คอยดำเนินการทางการเงินให้เราอย่างในปัจจุบัน

ต่อมา การพัฒนาของเทคโนโลยีที่ผสานภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคการเงิน ทำให้ Financial Technology มีส่วนผลักดันโลกการเงินให้ก้าวไปอีกขั้น หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกจับตามากที่สุดคือ Blockchain เทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลอัตโนมัติ ที่สถาบันการเงินใช้ลดหรือรวบขั้นตอนดำเนินการ ส่งผลให้ต้นทุนของธุรกรรมต่างๆ ลดลง บริการได้รวดเร็ว และมีขอบเขตกว้างขวางยิ่งกว่าเดิม ทั้งยังเป็นพื้นฐานสำคัญของ Cryptocurrency สกุลเงินเข้ารหัสที่อยู่ในความสนใจของหลายๆ คน

อย่างไรก็ตาม Blockchain มีศักยภาพมากกว่าแค่ลดขั้นตอนดำเนินงานที่ตัวกลางทำระหว่างกัน แต่ยังสามารถเข้ามาทำงานแทนหน้าที่หลักๆ ของตัวกลางได้เลย ทำให้เกิดการพัฒนาบริการทางการเงินบน Blockchain มากมาย ทั้งบัญชีเงินฝาก การโอนเงิน การชำระเงิน สินเชื่อระหว่างรายย่อย ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์

จุดแข็งของโครงการเหล่านี้คือ มีผลลัพธ์เหมือนกับการทำงานโดยตัวกลาง ทุกธุรกรรมจะได้รับการยืนยันความถูกต้องและบันทึกลงในระบบทันที มีการปกป้องตัวรายการธุรกรรมในระดับสูงผ่านการเข้ารหัสและการกระจายบัญชีที่ถูกต้องไปยังผู้ใช้ส่วนใหญ่ในระบบ และที่สำคัญคือทุกคนในระบบมีสิทธิ์ทำธุรกรรมระหว่างกันด้วยตัวเอง ไม่ต้องอาศัยการยืนยันจากตัวกลาง จึงเป็นที่มาของ DeFi หรือ  การเงินแบบกระจายศูนย์หรือ Decentralised Finance นั่นเอง


ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาสู่ DeFi

แนวคิดการเงินแบบ DeFi ใช้คุณสมบัติจากเทคโนโลยี Blockchain ไม่ว่าจะเป็น Distributed Ledger และ Smart Contract แน่นอนว่าด้วยความเป็นดิจิทัลทำให้สามารถต่อยอดและผสานกับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้อีกมาก แต่หากถามถึงประโยชน์หลักๆ ที่จะเกิดขึ้นจากแนวคิด DeFi ในปัจจุบัน จะมีอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ ได้แก่

  1. ใช้งานได้ทั่วโลกตั้งแต่แรก เดิมทีการทำบริการทางการเงินจะอยู่จำกัดบนเครือข่ายของตัวกลางเท่านั้น กล่าวคือ หากตัวกลางไม่ได้เชื่อมเครือข่ายกับปลายทาง เราก็ไม่สามารถทำธุรกรรมไปยังปลายทางนั้นได้ ต่างจาก DeFi ส่วนใหญ่ที่ใช้ Blockchain บน Internet ทำให้ทุกคนที่ใช้บริการระบบเดียวกันนี้สามารถใช้บริการได้จากทุกที่บนโลก
  2. ทำงานอัตโนมัติได้ทุกขั้นตอน แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น แต่การเงินแบบรวมศูนย์ก็ยังไม่สามารถทำงานเป็นอัตโนมัติได้ทุกขั้นตอน ทำให้นอกจากจะมีต้นทุนแล้ว ยังอาจนำไปสู่ข้อผิดพลาดได้ ส่วน DeFi ยืนพื้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมาตั้งแต่แรก และมักออกแบบให้ตัวกลางทำงานได้อัตโนมัติ จึงทำงานได้แม่นยำกว่า
  3. ต้นทุนธุรกรรมต่ำกว่า ค่าบริการต่ำกว่า ผลตอบแทนน่าสนใจกว่า แนวคิด DeFi ใช้เทคโนโลยีที่มีความพร้อมทั้งการเข้าถึงและการทำงานโดยอัตโนมัติเพื่อบันทึกธุรกรรม โดยส่วนมากจึงมีค่าใช้จ่ายดำเนินการที่ต่ำกว่าการทำงานของตัวกลางแบบรวมศูนย์ที่ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่จัดทำโครงสร้างพื้นฐานจนถึงการสร้างระบบ เมื่อต้นทุนธุรกรรมต่ำลง จึงสามารถกำหนดค่าบริการที่ต่ำกว่า รวมถึงให้ผลตอบแทนอย่างดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าเดิมได้
  4. ขยายขีดจำกัดของโลกการเงิน เมื่อ DeFi มีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทุกคนจึงมีส่วนร่วมกับการทำงานของระบบได้มากกว่าที่เคย ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเงื่อนไขผ่าน Smart Contract ทำให้การกู้เงินหรือการเคลมประกันภัยเป็นไปโดยอัตโนมัติ การแบ่งสิทธิ์ถือครองหลักทรัพย์ในหน่วยย่อยกว่าเดิมทำให้เข้าถึงนักลงทุนได้มากขึ้น หรือการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ระหว่างกันด้วยค่าธรรมเนียมดำเนินการที่ต่ำลง

CeFi และ DeFi กับข้อถกเถียงถึงมาตรฐานการดูแลด้านการเงิน

แม้ว่า DeFi จะเป็นแนวคิดทางการเงินที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่ก็ใช่ว่าแนวคิดนี้จะเป็นที่ยอมรับสำหรับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้กำกับดูแลที่ต้องเผชิญความท้าทายในการป้องกันธุรกรรมไม่พึงประสงค์ 

เนื่องจากระบบการเงินแบบ CeFi สิทธิ์การบันทึกและจัดการทั้งหมดจะอยู่ที่บรรดาผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งหากเป็นธุรกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ผู้กำกับดูแลจะสามารถควบคุมผ่านตัวกลางได้โดยตรง จึงการระงับเหตุและยับยั้งความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นบนระบบ DeFi ผู้กำกับดูแลอาจไม่สามารถควบคุมความเสียหายผ่านการทำงานร่วมกับตัวกลางได้ ทำให้หลายประเทศยังชะลอโครงการทางการเงินแบบ DeFi และสนับสนุนกับการเพิ่มประสิทธิภาพของ CeFi แทน

อย่างไรก็ตาม การรวมศูนย์การควบคุมดูแลทั้งหมดไว้ที่ตัวกลางก็เป็นความเสี่ยงไม่แพ้กัน เนื่องจากผู้กระทำผิดสามารถโจมตีระบบของตัวกลางได้โดยตรง อันจะนำมาสู่ความเสียหายที่รุนแรงจนถึงขั้นที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ โดยธนาคารกลางยุโรปอ้างอิงรายงานประเมินว่าหากเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ไปยังธนาคารสำคัญของโลก อาจนำมาสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงถึง 654 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และแน่นอนว่า DeFi ซึ่งใช้คุณสมบัติกระจายศูนย์ของข้อมูลจะสามารถลดความเสี่ยงจากการโจมตีรูปแบบดังกล่าว

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงตื่นเต้นกับศักยภาพในอนาคตของ DeFi ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่น่าติดตามเกี่ยวกับแนวคิด DeFi อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบสำคัญและตัวอย่างการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง ซึ่ง SCB 10X จะขอนำเสนอให้ทุกท่านได้ติดตามกันในโอกาสต่อไป

อ้างอิงข้อมูลจาก bloomberg.com, independent.co.uk และ consensys.net 

 

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept