จับตา Stablecoins: อนาคตการเงินรูปแบบใหม่หลังยุควิกฤตธนาคาร?
สถานการณ์ของธนาคารหลายแห่งระดับโลกกลายเป็นเรื่องน่ากังวลในช่วงที่ผ่านมา พร้อมทั้งวิกฤตที่หลายประเทศต้องเจออย่าง เงินดอลลาร์ขาดแคลน ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้หลายคนออกมาพูดถึง Stablecoin ที่จะเข้ามามีบทบาทและสร้างประโยชน์ในช่วงที่ค่าเงินอ่อนค่า

ในบทความนี้ เป็นบทสรุปจากงาน REDeFiNE TOMORROW 2023 หัวข้อ “Stablecoins: Redefining Trust and Stability in a Post-Banking Crisis” พูดคุยกับ Jeremy Allaire, CEO และ Co-founder ของ Circle (USDC) โดยมี Stephen Richardson, Head of APAC and SVP Financial Markets Group ของ Fireblocks เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในเนื้อหาได้มีการอภิปรายถึงการเดินทางของ Circle ตลอดจนการออก USDC และเปิดแผนอนาคตในการสร้างประสบการณ์การใช้งาน USDC อย่างไร้รอยต่อ
เส้นทางกว่า 10 ปีของ Circle
หลังจากเกิดวิกฤตทางการเงิน เมื่อปี 2008-2009 Jeremy เริ่มมีความสนใจในระบบการเงินมากขึ้น ต่อมาในปี 2012 เขาได้เริ่มศึกษาเรื่องคริปโต และในปี 2013 จึงได้ก่อตั้ง Circle ขึ้นมา ด้วยความต้องการในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตที่มีเงินสกุลดอลลาร์เป็นเงินดิจิทัล และสามารถใช้งานบนอินเทอร์เน็ตสาธารณะได้ เช่นเดียวกับที่สามารถใช้งาน Data ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ นั่นเอง
นอกจากนี้ เมื่อ 10 ปีก่อน ความสนใจเกี่ยวกับ Smart Contract เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมี Programmable Money ตามมา ทำให้สามารถเข้าไปเขียนโค้ด และสร้างระบบเศรษฐกิจโครงข่ายอินเทอร์เน็ต Jeremy จึงเห็นว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีเงินดอลลาร์หมุนเวียนอยู่ในนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง และการสร้างระบบดังกล่าวขึ้นมาจะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการเงิน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นบนโลกและบนอินเทอร์เน็ต
ซึ่งต่อมาอีก 5 ปี Circle สามารถเปิดตัว USDC หรือ USD Coin ซึ่งเป็น Stablecoin และปัจจุบันก็นับว่ามีศักยภาพในระบบการเงินหลัก
โอกาสและความท้าทายของ Stablecoin
ความท้าทายแรกที่ Jeremy ชี้ให้เห็นคือ ประสบการณ์ทางเทคโนโลยี และประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ที่อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่อง Stablecoin และยังคงมีความซับซ้อน ยุ่งยาก รวมไปถึงมีความเสี่ยงในการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม พบว่ามีโอกาสจากความซับซ้อน ยุ่งยาก และความเสี่ยงในการใช้งานนี้ ที่ทำให้เกิด Smart Account ที่ช่วยให้การเงินบน Blockchain มีความโปร่งใสและมีประโยชน์มากขึ้น
นอกจากนี้ Jeremy มองว่า Stablecoin ถือเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่ แต่ปัจจุบันสามารถนำมาใช้ทำธุรกรรมได้โดยมีการรับรองเป็น Fiat Money และมีการปรับให้สอดคล้องกับกฎหมายในหลายประเทศ แต่เขาแนะนำเพิ่มเติมว่า ยังคงต้องการระเบียบและข้อบังคับ (Regulations) ที่ชัดเจนมากขึ้นอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะในตลาดหลัก ๆ ของโลก
Circle กับการรับมือกับวิกฤตการเงินดิจิทัล
Circle ได้ดำเนินการภายใต้ระเบียบทางการเงินดิจิทัลของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ 5 ปีก่อน โดยได้มีการยื่นเอกสารการดำเนินงานทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง มีการทำบัญชีผ่านบริษัทตรวจสอบบัญชี และดำเนินการภายใต้กฎเกณฑ์พื้นฐาน จึงมั่นใจได้ว่า Circle มีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับโดยรัฐบาล (Fiat Infrastructure) และทำงานร่วมกับระบบธนาคาร
Circle พยายามจะเพิ่มคุณภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานของตลาดที่มี USDC ทำงานอยู่ข้างในให้ทำงานได้อย่างโปร่งใส
เมื่อปีที่แล้ว Circle ได้ร่วมมือกับ BlackRock พัฒนาเสถียรภาพและส่วนสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานของ USDC และเปิดตัว Circle Reserve Fund ที่มีเงินทุนสำรอง 80% และได้รับการรับรองโดย กลต. สหรัฐฯ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้ถือ USDC โดยเฉพาะแบบรายบุคคล เพราะจะมีความปลอดภัย โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้แบบรายวัน ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ Stablecoin
ต่อมาก็ได้นำไปสู่ความร่วมมือกับ Bank of New York Mellon หนึ่งในหน่วยงานกำกับดูแลกองทุนสำรองรายใหญ่ของโลก ทำให้สามารถเพิ่มความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสให้กับ Stablecoin ได้
Jeremy กล่าวต่อว่า เขามีความเชื่อในเรื่อง Full Reserve Money หรือ การที่เงิน Stablecoin มีการสำรองมูลค่าให้เท่ากับเงินดอลลาร์ และสามารถใช้งานได้บนอินเทอร์เน็ตสาธารณะอย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ เขามองว่า ทั้ง Circle และธนาคารต่าง ๆ กำลังมองหากลไกที่จะลดการพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเจอความล้มเหลวของธนาคาร (อย่างเช่นกรณีของ Credit Suisse)
หลังจากวิกฤตการเงินผ่านพ้น Circle ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในหลายด้าน คือ 1) การถือครองกระแสเงินสดให้มีคุณภาพสูงที่สุด ซึ่งหากเกิดความเสี่ยงทางการเงิน จะมีการสนับสนุนที่เพียงพอ 2) มีการแยกโครงสร้างของ Reserve Fund ให้รับรอง ตั๋วเงินคลังระยะสั้น (Treasury Bill) และธุรกรรมจะขายหลักทรัพย์และมีสัญญาจะขายคืน (Reverse Repo) โดยเป็นสัญญาไตรภาคี ซึ่งจะช่วยให้การจัดการสำหรับองค์กรดำเนินไปได้ด้วยเช่นกัน
Jeremy ได้กล่าวต่ออีกว่า ได้มีการพยายามมาอย่างต่อเนื่องในการป้องกัน USDC จากความเสื่อมถอยของเงินดอลลาร์ (De-Dollarization) เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเป็นหนี้ และค่าเงินดอลลาร์กำลังอ่อนค่าลง
Jeremy ยังกล่าวต่อว่า USDC เรียกได้ว่าเป็นเงินดิจิทัลที่อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดในโลก มีความปลอดภัยและโปร่งใสมากที่สุด ทุกคนสามารถเชื่อมั่นได้ โดย Circle จะยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ
ภาคเอกชนจะมีส่วนช่วยในการจัดการกับปัญหาเงินดอลลาร์อย่างไร?
จากปัญหาที่เกิดทั้งทางเศรษฐกิจ ปัญหาสงคราม ปัญหาวิกฤตทางการเงิน การขาดแคลนเงินดอลลาร์สำรอง ทำให้หลายภาคส่วนพยายามสร้างระบบชำระเงินทางเลือกขึ้นมาหลายรูปแบบ
Jeremy มองว่า ภายใต้โครงสร้างของเงินทุนสำรองที่เป็น Fiat Money และระบบการเงินระหว่างประเทศกำลังอยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งควรต้องติดตามความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง
Jeremy อธิบายเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เงินดอลลาร์สำหรับสหรัฐฯ ยังเป็นส่วนสำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นทั้ง Soft power และ Hard power ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นเหมือนรากฐานของระบบการเงินทั่วโลก แต่ในอนาคต Jeremy มองว่า สกุลเงินดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะตัดสินใจเข้าร่วมการแข่งขันนี้อย่างไร
รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงต้องมีการออกนโยบายที่ชัดเจน และสร้างกรอบการันตีเงินดอลลาร์ดิจิทัลสำหรับหน่วยงานเอกชน ธนาคาร สถาบันการเงินต่าง ๆ ด้วยกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่รัฐต้องไม่ปิดโอกาสการสร้างนวัตกรรม และไม่ปิดกั้นในการแข่งขัน
กฎระเบียบที่เหมาะสมของ Stablecoin ในมุมมองของ Jeremy Allaire
ในปัจจุบัน ฉันทามติที่เกิดขึ้นทั่วโลกเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของ Stablecoin ที่เห็นได้ชัด คือ Stablecoin ถูกจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการชำระเงินและเป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องมีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานกำกับดูแลความมั่นคง ธนาคาร และสถาบันการเงิน
ความก้าวหน้าด้านกฎเกณฑ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เห็นได้ว่าหลายประเทศทั่วโลกเริ่มร่วมมือกัน แต่ทางฝั่งของผู้พัฒนาและออก Stablecoin ยังถูกจัดให้มีมาตรฐานเดียวกับธนาคาร ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงในการจัดการ การถูกควบคุมการทำงาน และข้อจำกัดอีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับ Regulator ยังมีความท้าทายอยู่เช่นกัน เนื่องจาก Stablecoin นั้นใช้งานบน Blockchain ไม่ได้อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานปิดแบบดั้งเดิมที่ Regulator สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นความท้าทายในการออกกฎเกณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตสาธารณะนี้ และ Jeremy เสนอว่า ทั้งภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกัน เพราะหากไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกิดขึ้นมา ความหวังที่จะให้มีผู้ใช้งานเพิ่มเป็นวงกว้างจะไม่เกิดขึ้น
Jeremy ยกตัวอย่างเคสความร่วมมือของ G20 และ คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board) ในการออกข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับสมาชิกประเทศกลุ่ม G20 ในการจัดการออกกฎระเบียบ Stablecoin โดยปัจจุบันนี้ สมาชิกในกลุ่ม G20 ได้มีการร่างกฎหมาย พร้อมออกกฎระเบียบขึ้น นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความร่วมมือระดับโลก
แนวทางต่อไปของ Circle
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บน Blockchain จะเห็นว่ามี Innovations เกิดขึ้นมากมาย ซึ่ง Circle เองก็มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้ USDC สามารถใช้งานได้บนหลายเชนอย่างไร้รอยต่อ โดยขณะนี้มีการดำเนินการอยู่แล้วบน 10 เชน จะเพิ่มอีก 5 เชน
แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ยังคงมีความซับซ้อน และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการ Bridges (การโอนย้ายสินทรัพย์ข้ามเชน) ซึ่งสินทรัพย์ที่ถูกโอนย้ายเชนมากที่สุดคือ USDC และยังคงมีปัญหาอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายสูง และมีความเสี่ยง
Circle จึงออก Cross-Chain Transfer Protocol ที่สามารถ Burn และ Mint USDC ข้ามเชน และโอนย้าย USDC ข้ามเชนได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีการปิดกั้นประเภทสินทรัพย์ และไม่มีความเสี่ยง
อนาคตของ Circle
Jeremy กล่าวว่า Circle จะมุ่งสร้างมาตรฐานที่สูงต่อไป เพื่อก้าวไปเป็น Full Reserve Digital Currency Bank และต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบการชำระเงินสำหรับ Digital Currencies
สำหรับแผนงานต่อไปของ Circle คือ 1) ขยายโครงสร้างพื้นฐานของ Stablecoin ให้แข็งแรงที่สุด เพื่อทำให้ Fiat Money ทำงานได้ดีที่สุดบน Blockchain 2) ต้องการให้มีการเปิดใช้งาน USDC ในระบบธนาคารทั่วโลก พร้อมส่งเสริมความพร้อมใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงและใช้งาน USDC ได้อย่างไร้รอยต่อ และ 3) เดินหน้าให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่นักพัฒนา Web2 สถาบันการเงิน FinTech และอื่น ๆ ให้สามารถเข้ามาพัฒนาเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้งานด้านต่าง ๆ ได้ โดยจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานด้านนี้จาก 100 ล้านผู้ใช้งาน เป็น 1,000 ล้านผู้ใช้งาน
รับชมทั้งหมดได้ที่ YouTube: Stablecoins: Redefining Trust and Stability in a Post-Banking Crisis