milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
30 สิงหาคม 2565
ภาษาไทย

Metaverse กับความสามารถในการทำงานร่วมกันข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform)

ช่วงที่ผ่านมากระแสของ Metaverse ที่ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องได้สร้างโอกาสและประสบการณ์ใหม่ๆ มากมายทั้งด้านนวัตกรรมไปจนถึงด้านอาชีพ แต่ก็มีเรื่องหนึ่งที่ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมักพูดถึงและได้คาดการณ์ไว้ นั่นคือเรื่องความเป็นไปได้ที่ Metaverse แต่ละแพลตฟอร์มจะสามารถเชื่อมต่อหรือทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้นในอนาคต หรือพูดง่ายๆ คือการทำงานข้ามแพลตฟอร์ม ซึ่งจะนำมาสู่โอกาสดีๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย และที่น่าสนใจคืออุตสาหกรรมเกมที่เรียกได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับ Metaverse มากที่สุดก็เริ่มเห็นความสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันการเล่นเกมข้ามแพลตฟอร์มในขณะนี้แม้จะยังมีความท้าทายอยู่ก็ตาม และ SCB 10X ก็ได้เห็นถึงสัญญาณที่น่าสนใจในประเด็นนี้จึงมานำเสนออีกมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับการทำงานข้ามแพลตฟอร์มของ Metaverse ในบทความนี้ 


Article2_Crossplatform_800.jpg

การเติบโตของ Metaverse สู่โอกาสทางธุรกิจและกระบวนการทำงานข้ามแพลตฟอร์ม


อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบัน Metaverse ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ซึ่งจากข้อมูลของ Deloitte คาดว่าจะครอบคลุมช่วงปี พ.ศ. 2564-2573 และระยะที่เติบโตเต็มที่คาดว่าเริ่มตั้งแต่ปี 2031 เป็นต้นไป โดยที่ในระหว่างนั้น Metaverse จากอุตสาหกรรมที่หลากหลายจะค่อยๆ มีการแบ่งปันข้อมูลและพัฒนามาตรฐานที่เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นและมีการรวมตัวกันได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าในช่วงของขั้นตอนนี้จะมีการเชื่อมโยงกันทางระบบนิเวศแบบข้ามอุตสาหกรรม (Cross-Industry) และข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform) และเรื่องมาตรฐานข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ระบบการชำระเงิน และการรับรองความถูกต้องของข้อมูลประจำตัวหรือการยืนยันตัวตนจะมีความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาและการบูรณาการเกี่ยวกับการใช้งาน Metaverse ข้ามแพลตฟอร์ม


ส่วนในแง่มุมมองทางธุรกิจ เนื่องจาก Metaverse สามารถทำในสิ่งที่ไร้ข้อจำกัดที่มีอยู่ในโลกความจริง จึงได้ทำลายเส้นแบ่งระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ และแสดงถึงโอกาสต่างๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในเกือบทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ประเภทฮาร์ดไลน์ ไปจนถึงบริการด้านต่างๆ เช่น ด้านการดูแลสุขภาพและด้านการศึกษา เป็นต้น แต่คาดว่าอย่างน้อยที่สุด Metaverse จำเป็นจะต้องใช้ระบบการประมวลผลแบบ “Edge Computing” และต้องอาศัยการเชื่อมต่อที่เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนกับชิปประมวลผล เซิร์ฟเวอร์ และฮาร์ดแวร์สำหรับเครือข่ายที่เป็นรุ่นต่อไปในอนาคต



ความสามารถการทำงานร่วมกันได้ระหว่างแพลตฟอร์ม Metaverse มีลักษณะอย่างไร?


เพื่อให้เข้าใจความสามารถในการทำงานร่วมกัน (Interoperability) ของ Metaverse เราสามารถยกตัวอย่างการใช้งานได้จากเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งในโลก Blockchain มีทั้งรูปแบบที่สามารถทำงานร่วมกันและไม่สามารถทำงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้เกิด Use Case ที่เป็นนวัตกรรมและเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกัน


ความสามารถในการทำงานร่วมกันช่วยให้ระบบนิเวศของ Blockchain สามารถโต้ตอบ แชร์ข้อมูล และใช้คุณสมบัติและบริการต่างๆ ร่วมกันได้ ในทำนองเดียวกันกับโปรเจกต์ Metaverse ที่คุณสมบัติของการทำงานร่วมกันสามารถทำการโต้ตอบหรือสื่อสารกับโปรเจกต์ Metaverse อื่นๆ ที่แตกต่างกัน รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์ของบริการและคุณสมบัติของแต่ละโปรเจกต์ ไปจนถึงสามารถเชื่อมต่อกันระหว่างแต่ละสังคม การเทรด และกิจกรรมต่างๆ อีกมากมายแบบ Cross-Chain หรือข้ามโปรเจกต์ 


ดังนั้น ความสามารถในการทำงานร่วมกันในโลก Metaverse จึงมีความคล้ายกันกับใน Blockchain อย่างเช่น ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องจัดการกับกระเป๋าเงินหลายกระเป๋า แต่สามารถใช้เพียงหนึ่งกระเป๋าเงินสำหรับเก็บเงินและทำธุรกรรมข้ามโปรเจกต์ Metaverse 


อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ Metaverse สามารถทำงานร่วมกันได้ ผู้ที่สร้างก็ต้องเลือกสร้างบนระบบนิเวศ Interoperable Blockchain หรือหมายถึงระบบนิเวศ Blockchain ประเภทที่รองรับการทำงานร่วมกันได้


นอกจากนี้ ความสามารถในการทำงานร่วมกันของ Metaverse ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ได้แก่

  • ส่วน ‘อินเทอร์เน็ต’ ที่เป็นพื้นฐานเริ่มต้นเพื่อรองรับการเชื่อมต่อของ Metaverse
  • ส่วน ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ที่สนับสนุนองค์ประกอบต่างๆ ของฮาร์ดแวร์เพื่อสร้างประสบการณ์ผู้ใช้งาน รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้สร้างส่วนโครงสร้างพื้นฐานนี้ เช่น Blockchain สำหรับการสร้างระบบนิเวศที่ใช้ร่วมกัน และ Big Data หรือ IoT เป็นต้น 
  • ส่วน ‘คอนเทนต์’ ประกอบด้วยแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อสร้างประสบการณ์สมจริงสำหรับโปรเจกต์ Metaverse ต่างๆ 
  • ส่วน ‘True Metaverse’ จะเกิดขึ้นเมื่อส่วนอื่นๆ ดังกล่าวได้พัฒนาและสร้างโลกเสมือนไปพร้อมๆ กัน


เหตุใดการทำงานร่วมกันระหว่าง Metaverse ที่หลากหลายจึงมีความสำคัญ


ความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่าง Metaverse เป็นสิ่งสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างโปรเจกต์ Metaverse ต่างๆ โดยผู้ใช้สามารถเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์แบบครบวงจรในการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลายใน Metaverse เฉกเช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นบนโลกความจริง


ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มี Metaverse ที่สามารถสร้างระบบให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ความสามารถในการทำงานร่วมกันจะช่วยผลักดันให้ Metaverse พัฒนาไปได้เช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ และหากเราดูที่โครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตจะเห็นได้ว่ามีการสร้างองค์ประกอบที่คอยช่วยเครือข่ายหลักและเครือข่ายย่อยต่างๆ สามารถสื่อสารไปมาระหว่างกันได้อย่างราบรื่น


นอกจากนี้ แม้แต่ผู้นำอย่าง Zuckerberg ที่กำลังพยายามสร้างแพลตฟอร์ม Metaverse และได้ใช้เงินลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างและเพื่อพยายามดึงดูดนักสร้างและนักพัฒนา เขาก็ยังเคยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องความสามารถในการทำงานร่วมกันและการสร้างมาตรฐานแบบเปิดของ Metaverse ว่ามีความจำเป็นต้องสร้างไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางที่สามารถช่วยลดอุปสรรคสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่าง Metaverse หลากหลายแพลตฟอร์ม


ทั้งนี้ ในอนาคตจะเกิดความสมบูรณ์และมีการนำมาใช้ระบบความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่าง Metaverse อย่างที่ผู้นำและกูรูหลายท่านได้คาดการณ์กันไว้หรือไม่? ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept