milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
06 มกราคม 2565
ภาษาไทย

Blockchain และการเติบโต

Blockchain เป็นคำที่ใครหลายคนคงจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง แต่ชื่อแท้จริงที่เป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีนี้ องค์การสหประชาชาติ หรือ Bank for International Settlement (BIS) เรียกว่า Distributed ledger เพราะจริงๆ Blockchain เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการของ Distributed ledger ด้วยการบันทึกข้อมูลต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นเหมือนโซ่ตามชื่อ แต่หากว่าด้วย Distributed ledger อาจจะแตกกิ่งก้านสาขาการบันทึกข้อมูลรายธุรกรรมไปเป็นรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงกิ่งแบบ Blockchain เช่น Hashgraph หรือแบบอื่นๆ ก็เป็นได้ เพียงทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้หลักการเดียวกันคือการกระจายศูนย์การจัดเก็บและบันทึกข้อมูล

Article4_800(2).jpg

ซึ่งที่มาของตัว Distributed ledger นี้เกิดจากพื้นฐานของ Consensus Mechanism กล่าวคือ เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาเพื่อลดการพึ่งพาการทำธุรกรรมบนพื้นฐานของความไว้วางใจเท่านั้น แต่เป็นการบันทึกรายการไปให้คู่กรณีที่ทำธุรกรรมและบุคคลอื่นๆ ช่วยเป็นพยานแวดล้อมเพื่อไม่ให้เกิดการโกงระหว่างกัน ทั้งนี้ในการเป็นพยานธุรกรรมดังกล่าว ได้มีการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้พยานไม่เข้าพวกกับใครคนใดคนหนึ่งเพื่อร่วมกันโกง โดยการอาศัยแนวคิดอันชาญฉลาดของ Satoshi นามแฝงที่อ้างว่าเป็นผู้สร้าง Bitcoin ขึ้นมานั้น มาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม สร้างให้เกิดวิธีการใหม่ๆ ที่ลดตัวกลางซึ่งทำหน้าที่เสมือนผู้ค้ำประกันต่างๆ ออกไป

โดยในการเป็นพยานในธุรกรรมบน Bitcoin นั้น ถูกรู้จักในอีกชื่อว่าการขุด Bitcoin การขุดที่ว่าคือการใช้คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องมาร่วมเป็นพยานในการเกิดแต่ละธุรกรรมของ Bitcoin โดยมีสิ่งตอบแทนในการเข้าเป็นพยานคือตัวเหรียญ Bitcoin ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมในเครือข่ายดังกล่าว โดยหากจะเอ่ยถึงเครือข่ายนั้นให้ลึกลงไป แท้จริงเป็นเพียงการคาดเดาสุ่มไปเรื่อยๆ ด้วยข้อมูลของ Blockchain ก่อนหน้า เพื่อค้นหาเป็นสิ่งที่ป้อนเข้าไป (input) ซึ่งในวงการมีชื่อเรียกทางเทคนิคว่า Nonce ให้แปลงออกมาเป็นผลลัพธ์ในรูปแบบเลขฐานสอง 256 ตัว (SHA256) หรือที่เรียกว่า Hash ในการเดาสุ่มไปเรื่อย ๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ทำให้ใช้พลังงานเป็นอย่างมาก โดยวิธีการนี้เรียกว่า Proof of Work นอกจากนี้การใช้ข้อมูลของ Block ก่อนหน้าต่อกันมาเรื่อยๆ เสมือนการร้อยสายโซ่นี้ ทำให้การโกงมีต้นทุนที่สูงมาก เพราะจะต้องกลับไปแก้ไข Hash ของ Block ในอดีตทั้งหมด กลับไปถอดรหัส Nonce ก่อนหน้าทั้งหมด รวมถึงการขุด Bitcoin ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ ตามบ้านทั่วไปจึงไม่คุ้มค่าแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามแม้เทคโนโลยี Blockchain จะดูเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยมากเนื่องจากการปลอมแปลงนั้นทำได้ยาก แต่ Blockchain ก็ยังมีข้อจำกัดที่ Vitalik Buterin ได้เคยกล่าวไว้ว่า Blockchain นั้นมีประเด็นของ Blockchain Trilemma ซึ่งเป็นการย้อนแย้งกันระหว่างการกระจายศูนย์ (Decentralization) ความปลอดภัย (Security) และการเพิ่มปริมาณธุรกรรม (Scalability) โดยหากกระจายศูนย์มากมีผู้เป็นพยาน (Node) ในเครือข่ายมาก มีความปลอดภัยสูง ก็จะมีปริมาณธุรกรรมได้ไม่สูงเพราะต้องใช้เวลาในการส่งข้อมูลระหว่าง Node ต่างๆ ที่ยิ่งมีมากยิ่งใช้เวลามาก เช่น Bitcoin ในปัจจุบันสามารถทำได้เพียง 10 ธุรกรรมต่อวินาที (หรือ Transaction per Second - TPS) ส่วน ethereum (ETH) อยู่ที่ 20 TPS ในขณะที่ VISA สามารถทำได้ถึง 65,000 TPS แต่หากยอมลด Node เพื่อให้มีความเร็วมากขึ้น ก็แน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยความปลอดภัยที่ลดลง เนื่องจากมีผู้ร่วมเป็นพยานในธุรกรรมนั้นๆ น้อยลงนั่นเอง

ด้วยปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการเพิ่มปริมาณของธุรกรรมกับหลายๆ Blockchain บนโลกนี้ บางรายก็เลือกที่จะยอมลดบางอย่างใน Trilemma ดังกล่าวเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการเพิ่มปริมาณธุรกรรมบนโลกของ Blockchain ด้วยวิธีการอื่น ๆ อีก อาทิ การเพิ่ม Layer ให้ Blockchain โดยล็อกตัวเหรียญจริงไว้ที่ Chain ขั้นต้น แล้วแปลงเหรียญที่ล็อกไว้มายังอีก chain หนึ่งเสมือนเป็นการออกเหรียญใหม่บน chain ใหม่โดยมีเหรียญ เช่น Bitcoin ที่ถูกล็อกไว้ใน Chain ขั้นต้นเป็นสินทรัพย์ค้ำมูลค่าของเหรียญใหม่แทนที่จะทำได้เพียง  10 TPS บน Chain ของ Bitcoin เดิม ก็สามารถเพิ่มจำนวน TPS ได้ด้วยเหรียญที่สร้างขึ้นมาบน Chain ใน Layer ที่ 2 ทั้งนี้เหตุผลที่ทำ TPS ได้มากขึ้นอาจเกิดจากการเพิ่มลดเงื่อนไขบางอย่างของ Chain ใน Layer ที่ 2 นั่นเอง เช่น การลดจำนวน Node ลง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอีกความหวังจากการจะปล่อย ETH 2.0 ของ Vitalik ที่อ้างว่าสามารถเพิ่ม TPS ได้เป็น 100,000+ TPS จากการเปลี่ยนการใช้ Proof of Work เป็น Proof of Stake หรือใช้เงินเป็นตัวค้ำประกันแทนซึ่งจะทำให้สามารถทำธุรกรรมได้ทันที อีกทั้งยังลดการใช้พลังงานในการใช้คอมพิวเตอร์มาเดาสุ่มรหัสอีกด้วย รวมไปถึงการเสนอวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้โมเดลของการสร้าง Shard ซึ่งในแต่ละ Shard ย่อยจะสามารถรองรับธุรกรรมได้ถึง 100 TPS โดยยังสามารถแยกย่อยตามความช้าความเร็วปริมาณธุรกรรมใน Shard แต่ละรูปแบบได้อีกด้วย ซึ่ง Shard Chain นี้ก็คือ Data Layer อีกชั้นคล้ายกับที่กล่าวมาข้างต้น แต่เป็นการสร้าง Layer ขึ้นอย่างเป็นทางการภายใต้ Blockchain ของ ETH เองแทนนั่นเอง อย่างไรก็ตามหากดูตามแผนที่ผู้พัฒนาได้วางไว้ จะเห็นได้ว่าการพัฒนานั้นล่าช้ามาถึง 1 ปีกว่าแล้ว โดยคาดว่าจะได้ใช้งานจริงราวปลายปี 2021 นี้

ยังไม่รวมความหวังในการ Scale จากการทำธุรกรรมนอก Chain ก่อนจะกลับมาบันทึกลงบน Chain ในภายหลัง หรือที่เรียกว่า Off-chain scaling ซึ่งกรณีเช่นนี้เป็นลักษณะของการไปทำธุรกรรมนอก Chain หลัก เช่น วิธี State Channels ของ Lightning network ซึ่งมีลักษณะเป็นการใส่เงินร่วมกันเป็นเงินกองกลาง (pool) เหมือนเปิดบัญชีร่วม ซึ่งถือเป็นการเปิดช่องทางการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นมา โดยธุรกรรมที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นการทำ Off-chain เช่น การโอนกลับไปกลับมา ชำระเงินกันไปมา โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินมูลค่าของเงินที่อยู่ใน pool นั้น แต่จะมีปริมาณธุรกรรมเท่าไหร่ก็ได้และยิ่งมี TPS ที่มากขึ้น แต่หากจะมีการถอนเงินออกจากบัญชี จึงจะมีการ Sync การทำธุรกรรมนั้นกลับไปที่ Chain หลัก รวมไปถึงวิธีการที่เรียกว่า Side Chain ซึ่งมีลักษณะเหมือนการสร้าง Layer ที่ 2 ในการทำธุรกรรมตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ปัญหาของวิธีการนี้คือความปลอดภัยในการถูกเจาะระบบเพื่อขโมยเหรียญนั้นอาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการทำงานบน Chain หลักเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ยังมี Scaling แบบที่เรียกว่า Rollups ซึ่งเป็นการนำหลาย ๆ ธุรกรรมมามัดรวมกันถือเป็น 1 ธุรกรรม ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมถูกลงและทำได้เป็นจำนวนมากขึ้น โดยในตลาดปัจจุบันมีตัวอย่าง เช่น Optimistic rollups เป็นการทำธุรกรรมโดยมีสมมติฐานว่าคนที่ทำธุรกรรมโดยทั่วไปแล้วเป็นคนดี ไม่ใช่คนโกง แต่ก็จะนำ Rollup แต่ละธุรกรรมที่ส่งขึ้นไปบนระบบ ไปรอการตรวจสอบจากผู้ที่รู้สึกว่าธุรกรรมมัดนั้น ๆ น่าสงสัย หรือเรียกว่า Challenge ธุรกรรมนั้น หากไม่มีใคร Challenge ภายใน 7 วันก็ถือว่าธุรกรรมดังกล่าวสำเร็จเสร็จสิ้น

อีกตัวอย่างของ Rollups คือ ZK Rollups (Zero-Knowledge Rollups) เป็นการ Bundle ธุรกรรมเช่นเดียวกับ Rollups อื่น ซึ่งมีข้อดีในการทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมถูกลงเช่นกัน โดยจะมีพยานรับรู้การทำธุรกรรมแต่ละครั้ง โดยไม่รู้ว่าธุรกรรมนั้นคืออะไร แต่สามารถพิสูจน์กับตัวผู้ทำธุรกรรมอีกฝ่ายได้ว่าเป็นผู้ที่รู้คีย์ของธุรกรรมนั้น ๆ ผ่านกลไกบางอย่างคล้าย Passcode ของธุรกรรม ซึ่งจะทำให้สามารถพิสูจน์ได้ว่าธุรกรรมนั้นถูกต้องหรือไม่โดยไม่ต้องรู้ว่าธุรกรรมนั้นๆ คืออะไร

จะเห็นได้ว่าโลกของ Blockchain นั้นมีการพัฒนาใหม่ๆ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องหรือ จุดอ่อนที่พบโดยไม่หยุดนิ่ง เป็นเทคโนโลยีที่เป็นความหวังสำหรับหลายๆ อุตสาหกรรม แต่หากมองจากสถานการณ์ตอนนี้อุตสาหกรรมการเงินอาจจะต้องวิ่งให้ไวกว่าอุตสาหกรรมอื่นในเทคโนโลยีนี้มากกว่าที่เคยเป็น

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept