การนำผู้ใช้ก้าวสู่โลกเสมือนจริงผ่านประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ
เทรนด์ของ Metaverse ยังคงได้รับความสนใจและพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องของประสบการณ์การใช้งานที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญเพื่อทำให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง ซึ่งในครั้งนี้ SCB 10X ได้นำส่วนหนึ่งที่น่าสนใจจากงาน “SCB 10X Open House in the Metaverse” ที่ผ่านมาใน Session ของ Jinha Lee (Spatial), Co-Founder and CPO จาก Spatial ซึ่งได้มาแนะนำและให้ข้อคิดเกี่ยวกับ Metaverse ในหลากหลายแง่มุม
รู้จัก Jinha Lee และ “Spatial” แพลตฟอร์ม Metaverse ที่น่าติดตาม
Jinha Lee มีความสนใจเกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ 3D และเริ่มเส้นทางอาชีพสายเทคโนโลยีด้านการออกแบบ และได้เริ่มสร้างแพลตฟอร์ม Spatial ขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดย Spatial เป็นแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้ได้สัมผัสประสบการณ์นิทรรศการศิลปะ NFT หรือการพบปะกันแบบเสมือนจริงในรูปแบบสามมิติที่สวยงามทั้งภาพและเสียง
แพลตฟอร์ม Spatial เริ่มต้นจากการเป็นเครื่องมือสำหรับการใช้เทคโนโลยี AR และ VR และในช่วงการระบาดของ COVID-19 ก็ได้มีการพัฒนาเพื่อผู้ใช้ที่สนใจเข้าร่วมแต่ไม่มีอุปกรณ์สำหรับ AR และ VR ได้สามารถเข้าสู่โลกเสมือนแบบสามมิติได้บน Web Browser จากนั้นเริ่มได้รับความสนใจจากศิลปินและนักสร้างสรรค์มากมายมาเข้าร่วมโลกเสมือนนี้มากขึ้นในช่วงสองปีของการระบาดที่ผ่านมา เริ่มเห็นได้ว่าโลก Metaverse มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อมีเหล่าครีเอเตอร์และการรวมตัวกันมากมายเพื่อเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่บนโลกเสมือน Metaverse จากทั่วทุกมุมโลก
ความหมายของ Metaverse ในมุมของ Jinha Lee และกรณีศึกษาจากแพลตฟอร์ม Spatial
อย่างที่ทราบกันว่า ‘Metaverse’ สามารถให้ความหมายได้หลากหลายแง่มุมเพราะความเปิดกว้างด้านการใช้งาน โดยในมุมมองของ Jinha Lee คิดว่า Metaverse คือแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการใช้ประสบการณ์ร่วมกันเพื่อการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้และไอเดียโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลา ช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างการเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นและเป็นสิ่งที่ Metaverse กำลังมีการพัฒนาต่อไป
Metaverse มีการใช้งานหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป บางแพลตฟอร์มสร้างขึ้นสำหรับการเล่นเกมหรือบางแพลตฟอร์มใช้สำหรับทำงานเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ Metaverse พัฒนาอย่างหลากหลายไม่ได้ถูกพัฒนาไปในรูปแบบเดียวกันทั้งหมด
โดย Spatial จะเน้นไปที่การเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสร้างคอนเทนต์ให้ประสบการณ์ที่มีความสมจริง และเหมาะกับผู้ใช้ทุกวัย ทำให้สามารถเข้าถึงและแบ่งปันประสบการณ์ที่สมจริงได้ง่ายที่สุด ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ Spatial มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ จึงมีลูกค้าหลายกลุ่มและในปัจจุบันเกิดเป็น Community ที่มีทั้งศิลปิน ครีเอเตอร์และนักสะสมงานศิลปะ NFT จำนวนมาก หรือเรียกได้ว่าเกิด Culture ใหม่ขึ้นมา
และยังเป็นอีกวิธีหรือช่องทางที่ดีสำหรับการจัดแสดงผลงานศิลปะด้วยประสบการณ์ใหม่และสมจริงมากขึ้น รวมถึงทำให้เจ้าของผลงานสามารถพบปะพูดคุยกับผู้คนที่ชื่นชอบผลงานของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น หรือแบรนด์ดังต่างๆ สามารถจัดงานนิทรรศการแบบเสมือนจริงได้ อย่างเช่นเชิญผู้คนมาร่วมฉลองวันตรุษจีนหรือโอกาสสำคัญอื่นๆ ได้อย่างเพลิดเพลิน หรืออย่างเช่นทีมกีฬาชื่อดังที่จัดงานเพื่อพบปะพูดคุยและปาร์ตี้กับกองเชียร์ของทีมหลังจากการแข่งขันจบลง
นอกเหนือจากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกับศิลปินกับและแบรนด์ต่างๆ ก็ยังมีในมุมของผู้ใช้งานทั่วไปที่สามารถเข้ามาร่วมกันจัดปาร์ตี้หรือพบปะกับเพื่อนได้ในหลากรูปแบบไปจนถึงการนัดเพื่อทำงานก็ทำได้เป็นอย่างดี
การใช้งาน Metaverse ระหว่าง Web2 และ Web3 มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเรื่อง Decentralization โดย Web2 ยังมีการจัดการและการควบคุมผ่านตัวกลาง และในส่วน Back End ยังคงเป็นส่วนสำคัญ ส่วนอีกความแตกต่างคือด้านของประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ที่เมื่อเข้าสู่ Web3 ก็จะได้พบกับประสบการณ์การใช้งานรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่นการใช้งานบนโลกเสมือนและการใช้งานรูปแบบสามมิติ นอกเหนือไปจากการใช้งานพื้นฐานอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วบน Web2 เช่น ใช้เมาส์เพื่อ Interact หรือการใช้ ID เพื่อเข้าถึงการใช้งานต่างๆ
นอกจากนี้บน Web3 จะมีการใช้งานแบบ Real-Time มากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยให้ผู้คนติดต่อถึงกันได้ทั่วโลกในรูปแบบที่สมจริงและสามมิติ มี Avartar แทนตัวตน ซึ่งทำได้มากกว่าการแชร์เรื่องราวทั่วไปหรือความรู้แต่เป็นการแชร์ประสบการณ์การใช้งานรูปแบบใหม่ไปพร้อมๆ กัน
แผนพัฒนาในอนาคตของ Spatial บน Web3
สิ่งที่ต้องการพัฒนาของ Spatial คือพัฒนาเรื่องประสิทธิภาพการทำงานให้เร็วขึ้นเหมือนกับการทำงานของเว็บไซต์ทั่วไป เนื่องจากการแสดงผลต่างๆ ของ Spatial อย่างเช่นส่วนที่จัดแสดงด้วยรูปแบบสามมิติซึ่งต้องใช้การประมวลผลมาก ดังนั้นเรื่องประสิทธิภาพและความเร็วสำหรับการใช้งานบน Web3 จึงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนา
โดยมีการลงทุนและพัฒนาเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นไปอีกระดับสำหรับผู้ใช้ อย่างเช่นการพัฒนาให้ Avatar สามารถทำอะไรได้มากขึ้น นอกจากนี้คือการพัฒนาส่วนของครีเอเตอร์ อย่างเช่นทำให้การอัปโหลดและแชร์ผลงานทำได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงในมุมของผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้ามาใช้งานหรือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในพื้นที่สามมิตินี้ได้ด้วยตนเอง
มุมมองของการนำ AR หรือ VR ให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย
Spatial เริ่มต้นเส้นทางมากับการใช้งาน AR และ VR และจากนั้นได้เริ่มไปพัฒนาและให้ความสำคัญกับการใช้งานบนเว็บไซต์มากขึ้น แต่ก็ยังคงรักษาประสบการณ์การใช้งาน AR และ VR ให้มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย รวมถึงเน้นไปที่ประสิทธิภาพการประมวลผลที่ต้องดีขึ้นในอนาคต ซึ่งการใช้ AR และ VR ช่วยให้การใช้งานบนแพลตฟอร์ม Spatial เพื่อเข้าชมงานนิทรรศการต่างๆ ได้อย่างเต็มอรรถรสมากขึ้น และหากในอนาคตอุปกรณ์ VR และ AR สามารถเข้าถึงและใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น มีน้ำหนักเบาลง หรือมีราคาที่ถูกลงก็จะช่วยให้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการใช้งานได้มากขึ้นในอนาคตและเกิดการใช้งานที่แพร่หลาย ดังนั้นแม้ว่าปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม Metaverse บนเว็บไซต์เป็นส่วนใหญ่แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญกับ VR และ AR ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน
การแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์ม Metaverse ที่กำลังสู้กันอย่างดุเดือด
การแข่งขันอันดุเดือดที่เกิดขึ้นกับโลก Metaverse ในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่ดีและน่าตื่นเต้น เพราะได้เห็นอุตสาหกรรมนี้มีการพัฒนาไปข้างหน้าและเกิดการลงทุนมากมาย อย่างเช่น Meta ที่ได้เปลี่ยนชื่อและพัฒนาไปแบบก้าวกระโดดและเห็นการเปลี่ยนแปลงรวมถึงดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากมายตามมา นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่ามีสถาปนิกหรือนักออกแบบที่มีความสามารถเกิดความสนใจและก้าวสู่โลก Metaverse และ Web3 เป็นจำนวนมาก
กุญแจสำคัญเพื่อการพัฒนาประสบการณ์การใช้งาน Metaverse
นอกจากเรื่องเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ เรื่องของการออกแบบก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยทั่วไป Metaverse เป็นโลกเสมือนที่เป็นพื้นที่ที่ได้ตัดข้อจำกัดต่างๆ ในการใช้งานออกไป ดังนั้นการออกแบบควรมีความคิดสร้างสรรค์และทลายขีดจำกัดประสบการณ์ใช้งาน ให้ผู้ใช้ได้พบกับประสบการณ์การใช้งานที่เพลิดเพลินและมีอิสระ รวมถึงจะเป็นเรื่องที่ดีหากนักออกแบบและนักพัฒนาสามารถร่วมกันควบคุมและพัฒนาด้านประสบการณ์ใช้งานให้ตรงความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้อย่างเหมาะสม