Web 3.0 กับอนาคตของอินเทอร์เน็ตแบบกระจายศูนย์
หลายคนอาจเคยจินตนาการถึงการได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรูปใหม่ๆ ที่สามารถทำตามที่เราสั่งการหรือป้อนข้อมูลเข้าไปได้อย่างแม่นยำขึ้น และเข้าใจสิ่งที่เราสื่อสารได้อย่างแท้จริง ทั้งผ่านทางข้อความหรือเสียง โดยที่เนื้อหาทั้งหมดได้ถูกปรับแต่งให้เหมาะกับเรามากกว่าที่เคยเป็น และในตอนนี้เรากำลังจะได้พบกับจุดเปลี่ยนของวิวัฒนาการของเว็บหรืออินเทอร์เน็ต ‘Web 3.0’ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้น และคาดกันว่าหากอยู่ในจุดที่ถูกพัฒนาจนสมบูรณ์แบบก็อาจตอบโจทย์การใช้งานได้ในแบบที่เราได้จินตนาการหรือมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้
Web 3.0 คืออะไร
นอกเหนือจากอนาคตของอินเทอร์เน็ตที่ถูกปรับให้เหมาะสมหรือตรงความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น ก็ยังมีระบบกระจายศูนย์หรือ “Decentralized” ที่เป็นอีกจุดสำคัญที่ Web 3.0 ได้เริ่มสร้างขึ้นในทุกวันนี้ โดย Web 3.0 เป็นการรวมกันของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Blockchain, เครือข่าย Peer-To-Peer, เทคโนโลยี Semantic Web, Virtual Reality หรือเทคโนโลยี 3 มิติเบื้องต้น และบริการต่างอื่นๆ เพื่อเข้าถึงการใช้งาน ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนประกอบเหล่านี้ย่อมให้ประสบการณ์การใช้งานที่แตกต่างจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง แต่ทั้งนี้เหนือสิ่งอื่นใดคือเรื่องของการกระจายศูนย์และความปลอดภัยที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจน
Web 3.0 เป็นยุคที่สามของอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ สามารถประมวลผลข้อมูลในลักษณะที่มีความชาญฉลาดคล้ายมนุษย์ผ่านเทคโนโลยี เช่น Decentralized ledger technology (DLT) และ Machine Learning (ML) หรือ Big Data เป็นต้น
เดิมที Web 3.0 ถูกเรียกว่า “Semantic Web” โดย Tim Berners-Lee ซึ่งเป็นคนต้นติด World Wide Web จากความตั้งใจสร้างให้เป็นอินเทอร์เน็ตที่เป็นอิสระ ชาญฉลาด และเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น
ใน Web 3.0 ข้อมูลจะมีการเชื่อมต่อกันในลักษณะของการกระจายศูนย์ (Decentralized) ซึ่งนับว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญจากอินเทอร์รุ่นปัจจุบันหรือ Web 2.0 ที่ข้อมูลส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้แบบรวมศูนย์หรือที่ส่วนกลาง
นอกจากนี้ โปรแกรมต่างๆ ใน Web 3.0 จำเป็นต้องเข้าใจทั้งส่วนบริบทและแนวคิดของข้อมูลข่าวสารเพื่อที่จะให้ผู้ใช้และเครื่องจักรสามารถโต้ตอบกับข้อมูลนั้นๆ ได้ และจากสิ่งเหล่านี้เองเว็บเชิงความหาย (Semantic Web) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) จึงเป็นรากฐานสำคัญของ Web 3.0
Web 3.0 เริ่มต้นจากอะไร?
Web 3.0 ถือกำเนิดขึ้นจากวิวัฒนาการตามธรรมชาติของเครื่องมือเว็บรุ่นเก่า (Web 1.0 และ 2.0) ผสมผสานกับเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI และ Blockchain รวมถึงการติดต่อซึ่งกันและกันระหว่างผู้ใช้ และการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ผลักดันให้เกิดอินเทอร์เน็ตแห่งอนาคตนี้ขึ้น
Web 3.0 กับ Cryptocurrency และ Blockchain
เนื่องจากเครือข่าย Web 3.0 มักจะทำงานผ่านโปรโตคอลแบบกระจายศูนย์ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrency ซึ่งมีการคาดหวังว่าจะเห็นการรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่งและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างเทคโนโลยีเหล่านี้ร่วมไปกับส่วนอื่นๆ โดยจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นผสานกับการทำงานแบบอัตโนมัติผ่าน Smart Contract ที่ใช้เพื่อขับเคลื่อนการทำงานต่างๆ อย่างเช่น การทำธุรกรรมขนาดเล็ก การจัดเก็บไฟล์ข้อมูลแบบ P2P ไปจนถึงการใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันอื่นๆ
นอกจากนี้ โปรโตคอลบน Web 3.0 ที่ทำงานบน Blockchain และเกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency เหล่านี้จะมี Tokenให้เป็นผลตอบแทนซึ่งเป็นสิ่งดึงดูดใจสำหรับผู้ใช้ทุกคนที่มาช่วยสร้าง ควบคุม หรือมีส่วนสนับสนุนและปรับปรุงโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่ง โดยที่ Token ของ Web 3.0 เหล่านี้นี้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของ Decentralized โดยโปรโตคอลเหล่านี้อาจมีการให้บริการต่างๆ หลายรูปแบบ เช่น การคำนวณ การจัดเก็บ การระบุตัวตน หรือบริการออนไลน์อื่นๆ ที่มีการให้บริการมาก่อนโดยผู้ให้บริการ Cloud
ข้อดีและข้อสังเกตของ Web 3.0
Web 3.0 มีศักยภาพที่จะเพิ่มประโยชน์ใช้สอยแก่ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจาก Social Media, Streaming และการช้อปปิ้งแบบออนไลน์ซึ่งเป็นการใช้งานส่วนใหญ่ที่พบบน Web 2.0
ความสามารถที่โดดเด่นและเป็นแกนหลักของ Web 3.0 เช่น Semantic Web, AI และ Machine Learning มีศักยภาพที่จะเพิ่มการใช้งานด้านใหม่ๆ อย่างมากและยังมีการปรับปรุงด้านมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ คุณสมบัติหลักของ Web 3.0 เช่น Decentralization หรือการกระจายศูนย์ และระบบ Permissionless ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งอาจช่วยจำกัดการถูกดึงข้อมูลโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมหรือค่าตอบแทนใดๆ และอาจช่วยควบคุมเครือข่ายที่เอื้อต่อการให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเข้ามาผูกขาดผ่านการโฆษณาและทำการตลาดได้
อย่างไรก็ตาม การกระจายศูนย์หรือ Decentralization อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านกฎหมายและข้อบังคับอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต วาจาสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) และข้อมูลผิดๆ ที่ยากต่อการเอาผิด เพราะโครงสร้างแบบกระจายศูนย์ขาดการควบคุมจากส่วนกลาง โดยเว็บที่ใช้ระบบกระจายศูนย์ทำให้ระเบียบและข้อบังคับเป็นเรื่องยาก ตัวอย่างเช่น การนำกฎหมายภายในประเทศมาใช้กับเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่งที่มีต้นทางหรือเจ้าของเนื้อหากระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งทำให้ควบคุมได้ยาก