milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
05 พฤศจิกายน 2564
ภาษาไทย

Staking ในโลกคริปโตคืออะไร ทำไมจึงได้รับความนิยม

Staking เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการพลังงานที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจาก Proof-of-Work (PoW) Protocols อย่างเช่น Protocol ที่ถูกใช้ตรวจสอบการทำธุรกรรม (Validate Transactions) โดย Bitcoin Blockchain 


โดย Staking ในสกุลเงินดิจิทัล เป็นการจัดหาและจัดสรรโทเค็นจำนวนหนึ่งไว้เพื่อใช้ตรวจสอบธุรกรรมที่ทำผ่าน Blockchain โดย Protocol ที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้เรียกว่า Proof-of-Stake (PoS) ซึ่ง PoS มีการใช้พลังงานน้อยกว่า เพราะได้ลดความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์ขุดจำนวนมากที่ใช้ในการรักษาความปลอดภัยให้กับ Blockchain


ปัจจุบัน Blockchain จำนวนมากได้นำ PoS Protocols มาปรับใช้เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายและเพื่อตอบสนองต่อความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากความนิยมของคริปโตเคอเรนซีมีการนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ 


ในบทความนี้ SCB 10X จะอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของ Staking ในโลก Crypto ว่ามีความเป็นมาอย่างไร รวมถึงเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

1200x800 What is staking in the crypto world Why is it popular 02.png


Staking ในโลกคริปโตคืออะไร?


Staking เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อและจัดสรรโทเค็นจำนวนหนึ่ง เพื่อการตรวจสอบธุรกรรมหรือความถูกต้องของโหนด (Node) สำหรับเครือข่าย เพียงแค่ถือเหรียญคริปโตผู้ซื้อจะกลายเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านความปลอดภัยของเครือข่ายและผู้ถือจะได้รับผลตอบแทนจากกิจกรรมดังกล่าว


ผลตอบแทนจากการ Staking มาในรูปแบบของดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับผู้ถือ และอัตราจะแตกต่างกันไปตามเครือข่าย โดยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทาน


เนื่องจากจำนวนเครือข่ายแบบ PoS ที่โตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดหนทางใหม่ๆ สำหรับ Staking ที่เพิ่มมากขึ้น อย่างการเปิดตัวของ Group Staking เช่น Stake Providers, Cold Staking และ Stake Pool ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการ Staking ให้กับนักลงทุนรายย่อยที่มีโทเค็นจำนวนน้อย



Staking มีการทำงานอย่างไร?


กระบวนการ Staking เริ่มต้นจากการซื้อโทเค็นจำนวนหนึ่งในเครือข่าย และสิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตคือ Staking สามารถทำได้ในเครือข่ายที่รองรับโปรโตคอล ‘PoS’ เท่านั้น หลังจากทำการซื้อเสร็จสิ้น ผู้ใช้ต้องล็อกการถือครองเหรียญโดยทำตามขั้นตอนที่ผู้พัฒนาของแต่ละเครือข่ายได้ระบุเอาไว้ และโดยส่วนใหญ่การทำธุรกรรม Staking สามารถทำได้ภายในไม่กี่นาทีด้วยการทำตามคำแนะนำของ Wallets ที่ใช้งาน


ในอีกแง่หนึ่ง แพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี (Cryptocurrency Exchange) ได้อำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการ Staking ด้วยการนำเสนอคุณสมบัติต่างๆ อย่างเช่น Staking Pools ที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้ถือเหรียญที่รวมทรัพยากรของตนเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องของบล็อกและรับผลตอบแทน โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนที่ได้รับจากการ Staking ด้วยการเพิ่มจำนวนเหรียญในช่วงเวลาที่กำหนด ยิ่งจำนวนเหรียญที่ใช้ Stake มีมากเท่าใด จำนวนของธุรกรรมที่ Node ต้องได้รับการตรวจสอบก็ยิ่งมีมากขึ้น รวมถึง Node ต่างๆ จะได้รับการจัดอันดับจากจำนวนโทเค็นที่ได้ถืออยู่ ดังนั้นจึงทำให้ Node ที่มีโทเค็นจำนวนมากที่สุดมักจะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ Stake Pools ได้รับความนิยมอย่างมากในทุกวันนี้


นอกจากนี้ ผู้ใช้สามารถ Stake โทเค็นในเวลาที่แน่นอนหรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือที่เรียกว่า ‘Fixed Staking’ รวมถึงมีผู้ให้บริการบางรายได้สร้างรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งผู้ใช้สามารถถอนโทเค็นของตนได้ทุกเมื่อ หรือที่เรียกว่า ‘Flexible Staking’


อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะที่ไม่มีความยืดหยุ่นของ ​Fixed Staking ส่งผลให้มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า ในขณะที่ Flexible Staking มีแนวโน้มที่ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า



ประโยชน์และความเสี่ยงของ Staking ในโลกคริปโต


Staking ในโลก Crypto ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากให้รางวัลหรือผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจ รวมถึงประหยัดพลังงานมากกว่าการขุด มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่ต่ำ และมีความปลอดภัยสูง แต่อย่างไรก็ตาม ผลตามแทนที่มากก็ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะมีปัจจัยหลายประการที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของโทเค็นต่างๆ 


ความเสี่ยงประการแรก คือความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยคุกคามจากเหตุการณ์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ที่อาจส่งผลให้สูญเสียโทเค็นที่ถืออยู่ใน Exchange หรือ Wallet และเพื่อขจัดภัยคุกคามนี้ นักลงทุนคริปโตบางคนจึงหันไปใช้ ‘Cold Staking’ ซึ่งโทเค็นจะถูกจัดเก็บบนฮาร์ดแวร์ เช่น ฮาร์ดไดรฟ์ เป็นต้น เนื่องจากฮาร์ดแวร์จะไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการสูญหายหรือเกิดความเสียหายของฮาร์ดแวร์ได้เช่นกัน


ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาสินทรัพย์ Crypto ต่ำลงในช่วงที่ Staking เนื่องจาก Staking มีการทำงานโดยการ ‘ล็อก’ เหรียญของผู้ถือเหรียญ ซึ่งผู้ถือจะไม่สามารถชำระสินทรัพย์ที่ถืออยู่ได้ในกรณีที่เป็นตลาด Sideways ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นส่วนหนึ่งไป โดยที่ไม่สามารถจัดการกับทุนเหล่านั้นได้ด้วยการขายเหรียญออกไป


นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาให้บริการของผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) ที่ถือโทเค็น โดยกรณีส่วนใหญ่ หากพบว่าประสิทธิภาพในการดำเนินการธุรกรรมได้รับผลกระทบหรือไม่สามารถรองรับเวลาทำงานในการประมวลผลได้ 100% เครือข่ายก็จะทำการลงโทษผู้ตรวจสอบธุรกรรม ซึ่งหมายความว่าผลตอบแทนจากการ Staking อาจลดลงได้เนื่องจากการหยุดชะงักของช่วงเวลาการให้บริการของผู้ตรวจสอบธุรกรรม


สุดท้าย Staking นับว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้สนใจต้องทำการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างละเอียดและลงทุนอย่างชาญฉลาด

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept