milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
23 ธันวาคม 2563
ภาษาไทย

CeFi หรือ DeFi ? อนาคตโลกการเงินที่รอคำตอบ

SCB 10X เคยนำเสนอความหมายของแนวคิดทางการเงินอย่าง CeFi (Centralized Finance) และ DeFi (Decentralized Finance) กันไปแล้ว ซึ่งจุดร่วมของทั้ง 2 แนวคิดคือการใช้ Blockchain เพื่อให้บริการทางการเงินมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเมื่อทั้ง 2 แนวคิดใช้เทคโนโลยีเดียวกัน จึงเป็นที่สงสัยว่า แล้วแนวคิดใดจะเป็นอนาคตของโลกการเงิน

ความสงสัยดังกล่าวผลักดันให้ SCB 10X จัดงาน Trust me, I’m Blockaholic งานที่เราตั้งใจที่จะรวบรวมกลุ่มคนในแวดวง คนที่สนใจในด้าน Blockchain เพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และ Networking ร่วมกัน รวมถึงงานเสวนาพิเศษซึ่งได้รับเกียรติจาก Zac Prince CEO ของ BlockFi ผู้ให้บริการด้าน Digital Asset ระดับโลก และคุณสรวิช ศรีนวกุล CEO ของ Band Protocol Startup ด้าน Blockchain ชั้นนำของไทย มาร่วมเสวนาในหัวข้อ DeFi vs CeFi : The Future of Financial Services, who will define? โดยมีคุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder ของ SCB 10X กับ คุณศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เป็นผู้ร่วมดำเนินรายการ เราจึงขอสรุป Talk สุดพิเศษนี้ให้ทุกท่านได้ติดตามกัน

Trust Me, I’m a BLOCKAHOLIC 1200.800.png

CeFi หรือ DeFi โลกการเงินใหม่ที่เกิดขึ้นได้เพราะ Blockchain

อันที่จริงสำหรับคนที่คุ้นเคยกับโลก Fintech และ Blockchain ย่อมเคยรับฟังหรือมีความเข้าใจแนวคิดทางการเงินอย่าง CeFi กับ DeFi กันอยู่แล้ว แต่ในงานเสวนานี้ Zac ได้เพิ่มเติมมุมมองเกี่ยวกับลักษณะของทั้ง 2 แนวคิดได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

เริ่มที่ความหมายของ DeFi ก่อน Zac ได้ให้ความหมายอย่างง่ายของแนวคิดนี้ว่า ทุกอย่างที่อยู่บน DeFi จะเปิดกว้างเผยโดยสมบูรณ์ (Completely Open) ทุกคนจะเห็นการทำงานของระบบผ่าน Code ที่เปิดเอาไว้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับ DeFi คือการเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าถึงเพื่อใช้งานระบบได้ (Available to everyone) เนื่องจากระบบได้ออกแบบให้ทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นไม่สามารถปลอมแปลงหรือดัดแปลงใดๆ ได้ ผู้ที่แลกเปลี่ยนกันได้จะมีเงินหรือสินทรัพย์อยู่จริงตามการบันทึกของระบบ ดังนั้น ระบบจึงพร้อมเปิดกว้างให้ทุกคนที่มีสินทรัพย์ที่ได้รับการบันทึกในระบบสามารถแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องยืนยันตัวตน

ด้าน CeFi ทาง Zac ให้นิยามที่สั้นแต่ชัดเจนว่าเป็นบริการทางการเงินแบบดั้งเดิมที่ทำงานบนโครงสร้างเทคโนโลยี (Traditional service on Tech stack) คือการคงลักษณะกลไกของบริการทางการเงินแบบเดิมไว้เกือบแต่เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ แน่นอนว่าการคงลักษณะเดิมเอาไว้ย่อมว่าด้วยการกำกับดูแลที่เข้มข้น ซึ่งทำให้ CeFi ไม่สามารถเปิดกว้างการเข้าถึงเพื่อใช้งานได้เหมือน DeFi และด้วยการที่ CeFi เป็นแนวคิดที่ต่อยอดจากวิธีการดั้งเดิม ทำให้เป็นที่คุ้นเคยจึงมีสัดส่วนตลาดที่ใหญ่กว่า DeFi อยู่มากในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า DeFi จะเปิดกว้างกว่า CeFi แต่ก็ใช่ว่า CeFi จะไม่สามารถขยายฐานผู้ใช้ได้ เพราะอันที่จริงแล้ว ระบบการเงินแบบดั้งเดิมเองก็สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการเชื่อมโยงกันระหว่างธนาคารกลางเพื่อการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ และด้วยการที่ CeFi เป็นแนวคิดที่ต่อยอดจากวิธีการดั้งเดิม ทำให้เป็นที่คุ้นเคยจึงมีสัดส่วนตลาดที่ใหญ่กว่า DeFi อยู่มากในปัจจุบัน


จุดต่างสำคัญของ CeFi กับ DeFi : คุณจะได้ Deal กับใคร

ทุกวันนี้แม้ว่าโลกเราจะพัฒนาด้วยเทคโนโลยีมากแค่ไหน แต่หัวใจสำคัญของบริการทางการเงินก็ยังอยู่ที่คำว่า “บริการ” นั่นเอง ดังนั้น Zac จึงชี้อีกประเด็นความแตกต่างของทั้ง 2 แนวคิดในมุมของผู้รับบริการ ซึ่งผู้รับบริการจะวางความน่าเชื่อถือในจุดที่แตกต่างกัน

เริ่มที่ CeFi ผู้ใช้บริการจะต้องเจอกับ “คน” ผู้รับบริการจะเข้ามาทำธุรกรรมโดยมี “คน” เข้ามาเกี่ยวข้องในหลายขั้นตอน ทั้งช่วยดำเนินธุรกรรมในระบบธนาคาร คอยแนะนำ แม้ว่าจะมีการออกแบบแอปพลิเคชัน แต่ก็ยังมีงานที่ต้องใช้คนดำเนินการไปด้วย พร้อมกับมีมาตรการกำกับดูแลที่เคร่งครัด เพราะระบบของ CeFi จะยังคงเชื่อถือในการทำงานของคน จึงต้องป้องกัน ยับยั้ง และแก้ไขได้เสมอ

ส่วนโลกของ DeFi ผู้ใช้บริการจะต้องเจอกับ “เครื่องจักรที่เชื่อถือได้” กล่าวคือ ระบบ DeFi ออกแบบและดำเนินการโดยดิจิทัลทั้งหมด อีกทั้งยังเปิดกว้างให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูกลไกการทำงานในรูปของ Code รายการธุรกรรมที่เคลื่อนไหวบนระบบ

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้โลกยังต้องการทั้ง CeFi และ DeFi ในตอนนี้ เพราะเรายังมีผู้ใช้บริการจำนวนมากที่คุ้นเคยกับการใช้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิมเป็นจำนวนมาก การผลักดันให้พวกเขาเข้าใช้บริการ Digital เต็มรูปแบบอาจจะเป็นภาระมากกว่าประโยชน์ในระยะนี้ ส่วน DeFi เองก็มีประโยชน์เนื่องจากช่วยลดงานของคนลงไปอย่างมาก และเปิดโอกาสให้สามารถทำงานสร้างสรรค์หรือเชื่อมโยงกับคนได้มากขึ้น

แม้จะเป็น CEO ของผู้ให้บริการด้าน Cryptocurrency ระดับโลก แต่ Zac ก็ยอมรับว่า เขารู้ถึงความจำเป็นที่โลกการเงินยังคงมี “บริการด้วยคน” อยู่ เพื่อให้คุณปู่หรือคุณย่าของเขายังคงใช้ทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกนั่นเอง


Customer Service กับโอกาสของธนาคารและคำตอบต่อโลกการเงินในอนาคต

เรามักได้ยินว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนตัวกลางของโลกการเงิน ทำให้ธนาคารเกิดความหวาดหวั่นในการใช้เทคโนโลยีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม Zac มองว่า นี่คือโอกาสของธนาคาร เพราะแม้ Blockchain จะดำเนินการด้วยตัวเองได้ แต่ Blockchain ก็ไม่ได้มี Customer Service เหมือนธนาคาร ซึ่งยังเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมาก

ทั้ง Zac และคุณสรวิศ เห็นตรงกันว่า ทุกวันนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมการเงินบน Blockchain ยังอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่ทุกคนก็กำลังมองหาโอกาสจากอุตสาหกรรมนี้ ผู้เล่นในธุรกิจการเงินรายใหญ่ระดับโลก อาทิ JP Morgan หรือ Black Rock ก็ให้ความสนใจอยู่ต่อเนื่อง

ทั้ง 2 ท่าน ชี้ว่า แม้ CeFi จะยกวิธีการจากการเงินแบบดั้งเดิม (Traditional Finance) แต่ก็มีจุดที่แตกต่างกันพอสมควร ทั้งประสิทธิภาพและวิธีคิดต่อการกำกับดูแล แต่ทั้งนี้ โลกการเงินในอนาคต ไม่น่าจะถูกจำกัดอยู่แค่การขยายตัวของแนวคิดอันหนึ่งอันใด ขณะที่ CeFi มีจุดแข็งที่บริการแต่ขาดความกว้างในการเข้าถึงและระบบที่น่าเชื่อถือ ส่วน DeFi มีจุดแข็งที่ระบบและการเข้าถึงง่าย แต่ขาดการบริการที่น่าประทับใจกับผู้ใช้และการป้องกันเหตุที่เกิดขึ้นนอกระบบดิจิทัล การผสานรวมหรือการทำงานร่วมกันของทั้งแนวคิด CeFi และ DeFi อาจเป็นคำตอบที่เหมาะสมและเป็นไปได้ที่สุด

อีกประเด็นหนึ่งที่ ทั้ง 2 ท่านร่วมกันพูดคุยคือเรื่องของหน่วยงานกำกับดูแล ทั้ง 2 ท่านย้ำว่า การจะทำให้ CeFi หรือ DeFi เป็นประโยชน์กับทุกคนได้จริง ภาคนโยบายต้องหันมาศึกษาและทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกการเงินจากประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ แน่นอนว่า Community ก็มีส่วนช่วยสร้างความสนใจและความเข้าใจในเรื่องนี้ได้เช่นกัน


“ใช้มันซะ” คำแนะนำสำหรับผู้ที่ยังไม่เชื่อใน Cryptocurrency

เมื่อพูดถึง DeFi และ CeFi อีกประเด็นหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ Cryptocurrency เนื่องจากเป็นกลไกพื้นฐานที่ทำให้ทั้ง CeFi และ DeFi ดำเนินไปได้ โดย Zac กล่าวว่า ทุกวันนี้ นวัตกรรมทางการเงินเป็นการแข่งขันระหว่าง Fintech กับ Crypto-native (เทคโนโลยีทางการเงินที่เกิดขึ้นจาก Cryptocurrency ทั้งหมด) ซึ่งแน่นอนว่า Fintech เป็นผู้ที่มาก่อนจึงครองใจผู้ใช้อยู่ และกว่านวัตกรรมจาก Crypto-native อย่าง DeFi จะแพร่หลายก็อาจจะใช้เวลา 5-10 ปี หรือไม่ก็ต้องมีผู้เล่นรายใหญ่ที่กล้าผลักดันนวัตกรรมนี้เข้าสู่ตลาด

แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะมองว่าอาจต้องใช้เวลาสักพัก แต่หากคุณยังไม่เชื่อใน Cryptocurrency คำแนะนำจากทั้ง Zac และคุณสรวิศ คือ “ลองใช้งานมันไปเลย” เพื่อที่จะได้เห็นกลไกการทำงานของมันที่ไม่ต่างจากเงินตราในปัจจุบัน เพียงแต่กำลังรอการปลดล็อกไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในอนาคต

เนื้อหาในการเสวนาครั้งนี้น่าจะช่วยให้ทุกคนเห็นภาพอนาคตของโลกการเงินในยุค Blockchain กันมากขึ้น ซึ่ง SCB 10X ยังมีเนื้อหาที่จัดเต็มกว่านี้อีกในงาน “REDeFiNE TOMORROW” งาน Virtual Summit ด้าน DeFi & Blockchain รวบรวม Speaker ผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยในหัวข้อต่างๆ มากมาย แน่นอนว่า SCB 10X จะนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจจากงานนี้ให้ทุกท่านได้ติดตามกันแน่นอน

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept