milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
December 16, 2021

ทิศทาง NFT จะโตได้ต่อหรือพอแค่จุดสูงสุดตรงนี้ จากความเห็นของผู้นำตลาดอย่าง Opensea

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ NFT เป็นเทรนด์ที่มาแรงที่สุดในกลางปี 2021 ศิลปินจำนวนมากเข้ามาขายผลงานด้วยรูปแบบนี้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำลายข้อจำกัดของการซื้อขายสื่อสร้างสรรค์ในช่วงล็อกดาวน์ สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจในคอนเซ็ปต์ NFT สามารถทำความรู้จักเบื้องต้นผ่านบทความ รู้จักกับ NFT เหตุใดถึงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ร้อนแรงสุดในเวลานี้? หรือบทความ รู้จัก NFT หรือ Non-Fungible Token ยกระดับ Digital Asset สู่ทรัพย์สินที่ไม่มีอะไรแทนได้ ด้วยความน่าสนใจของกระแสดังกล่าว SCB 10X จึงนำบทสนทนาในงาน REDeFiNE TOMORROW 2021 ระหว่าง Ryan Foutty รองประธานและหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ Opensea แพลตฟอร์มซื้อขาย NFT แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในตอนนี้ ด้วยมูลค่ากิจการมากกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงถือเป็นหนึ่งในยูนิคอร์นแห่งวงการ Crypto และ Sinhae Lee ผู้ร่วมก่อตั้ง GBIC GBIC กองทุนระดับโลกที่ลงทุนในบริษัทด้าน Blockchain, Digital Assets และ DLT ทั่วโลก เช่น  Dapper Lab ผู้สร้างเกม CryptoKittes และ Polkadex 

1200x800 NFT Market, What’s Next.png

ที่มาของความร้อนแรงของ NFT ในปัจจุบันกับ Opensea


NFT หรือ Non-Fungible Token สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งใน DeFi ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำได้ มักนำไปใช้กับงานสร้างสรรค์ในรูปแบบ วิดีโอ รูปภาพ หรือการ์ด สินทรัพย์เหล่านี้สามารถถือได้ทีละคนเท่านั้น โดยความเป็นเจ้าของถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชน ซึ่งในปี 2021 นี้ถือเป็นปีที่น่าทึ่งสำหรับ NFT เพราะยอดขายทำสถิติสูงสุดในช่วงครึ่งแรกของปีถึง 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วขายได้เพียง 37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรม Digital Art โดย Ryan คิดว่าความสำเร็จนี้มาจากหลายปัจจัยรวมกัน โดยปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือความพยายามและทุ่มเทในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของผู้คนในอุตสาหกรรม NFT 

เมื่อช่วงต้นปีกระแส NFT เริ่มมีการถูกพูดถึงมากขึ้น และคนทั้งโลกได้เห็นว่า NFT มีศักยภาพมาก สามารถเป็นผู้เปลี่ยนเกมสำหรับครีเอเตอร์และช่วยเหลือพวกเขาจริงๆ แฟนๆ หรือคนทั่วไปมีส่วนร่วมกับผลงานของศิลปินหรือผู้พัฒนาได้โดยตรง และตอนนี้จะเห็นได้ว่าศิลปะดิจิทัลเป็นหนึ่งในหมวดหมู่หลักลำดับแรกๆ ที่ได้รับความนิยมสำหรับ NFT เพราะการให้บริการครีเอเตอร์ที่มีความแตกต่างกันทั้งในอุตสาหกรรม และแนวทางการสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยนวัตกรรม NFT ประเภทต่างๆ ตามความเหมาะสมในแต่ละโครงการของครีเอเตอร์ ซึ่งช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้

เมื่อย้อนกลับไปในปี 2017 Devin Finzer และ Alex Atallah ผู้ก่อตั้ง Opensea เห็นโอกาสของ NFT จึงเกิดโครงการแรกอย่าง Cryptokitties ขึ้นมาบน Opensea ซึ่งตอนนี้เป็น Marketplace ของ NFT ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่คนสามารถเข้ามาชมผลงานและซื้อขายเองได้ ซึ่งระบบนิเวศของ NFT แบ่งออกได้หลายหมวดหมู่ กล่าวคือใน Marketplace แห่งนี้เป็นตลาดแบบ Horizontal  ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ของสะสม สิ่งของเสมือนจริง หรือศิลปะ เป็นต้น และแต่ละหมวดหมู่ก็มีโครงการอีกจำนวนมาก Opensea จึงรวมประวัติโครงการทั้งหมด ทั้งข้อมูลเมตา ราคา และประวัติการทำธุรกรรม โดยในเดือนมิถุนายน 2021 Opensea มียอดขายสินทรัพย์ Digital ไปกว่า 160 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 45 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020 การเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ 2 ผู้ก่อตั้งขยายทีม โดยหาจากในหลายอุตสาหกรรม ซึ่ง Ryan ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเขามีประสบการณ์มาจาก Uber ซึ่งปัจจุบันที่ Opensea ในฐานะหัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เขาทำหน้าที่ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ เป็นพันธมิตรกับผู้สร้างและนักพัฒนา เพื่อช่วยในการเปิดตัวโครงการ NFT บน Opensea จนประสบความสำเร็จ ส่วนที่สองคือทำงานร่วมกับ Thrid Party จำนวนมากเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Opensea ซึ่งอาจเป็น Blockchain Solution ใหม่ หรือกระเป๋าเงินต่างๆ ที่สามารถเลือกการชำระเงินแบบอื่นได้ และสุดท้ายคือการขยายขอบเขตการเข้าถึง NFT ผ่านช่องทางการตลาดต่างๆ เพื่อสร้างพันธมิตรกับแบรนด์ที่สนใจมาการบูรณาการกับ NFT และแนะนำแก่กลุ่มเป้าหมายของเขา 

คอนเซ็ปต์การทำงานของ NFT คือ Decentralized ซึ่งมีการใช้กับอีกหลายอย่าง ไม่ใช่แค่ในวงการเทคโนโลยีอย่าง DeFi ที่อยู่บน Blockchain เท่านั้น ในปัจจุบันแนวคิดแบบ Decentralized ได้เข้าสู่กระแสหลักมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นในการแข่งขันบาสเกตบอลรายการ NBA ที่ผู้คนทั่วโลกได้ให้ความสนใจ มีการขาย NBA Top Shot (วีดีโอ Highlight ในการแข่ง) ซึ่งขายบน NFT Platform อย่างเป็นทางการของ NBA เอง ขณะที่ใน Platform เปิดก็มีคลิปลักษณะดังกล่าวขายซึ่งแฟนคลับมักเรียกว่าการสะสม Moment ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีราคาต่ำกว่าของ Official พอสมควร นอกจากบาสเกตบอลแล้ว NFT ได้เปิดประตูสู่กระแสหลักสำหรับแฟนกีฬานักสะสมการ์ดอื่นๆ ด้วย เช่น การประมูลการ์ดของ Rob Gronkowski ผู้เล่นดาวเด่นจาก NFL (National Football Leauge) ในเดือนมีนาคม 2021 ถือโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำเงินได้ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการพาดหัวข่าวว่าภาพที่ขายบนแพลตฟอร์มนี้ถูกประมูลที่ราคา 69 ล้านเหรียญสหรัฐ  ถึงแม้หลายคนจะเข้าใจว่าการที่ NFT มีมูลค่าสูงเป็นเพราะงานประเมินมูลค่าของเหล่านักสะสม แต่ Ryan ไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้นเพราะ NFT จะมีการถ่ายโอนทันทีเมื่อเกิดการขาย ซึ่งในการซื้อขายผลงานศิลปะแต่ละครั้งต้องมีการคิดอย่างรอบคอบก่อนเสมอ  

เหตุการณ์นี้แสดงถึงอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดนี้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งโลก ทำให้คนดังและแบรนด์ต่างๆ อยากเข้ามาเพื่อใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ของ NFT ในการสร้างเนื้อหาประเภทใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจเพื่อดึงดูดแฟนๆ และผู้ใช้งานทั่วไป รวมถึงวิธีการสร้างรายได้แบบใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของ Sinhae ที่ได้ลงทุนในแล็บที่ปล่อย NBA Top Shot ตั้งแต่ปี 2018 แม้ในขณะนั้นคนส่วนใหญ่ยังคิดว่าตลาด NFT ทั้งหมดถูกขับเคลื่อนด้วยคนในวงการ Blockchain เท่านั้น ไม่ใช่ตัวเจ้าของลิขสิทธิ์ ศิลปิน นักกีฬา หรือคนดังที่ได้ยกตัวอย่างในเบื้องต้น ผ่านไปเพียง 3 ปี ตอนนี้ตลาดได้เปลี่ยนไปออย่างสิ้นเชิง วงการ NFT ถูกผลักดันโดยเจ้าของผลงานหรือเจ้าของลิขสิทธิ์เอง ทำให้ศิลปินกับแฟนคลับเข้าถึงกันได้ สามารถสนับสนุนศิลปินได้โดยตรง อย่างไรก็ตามจากสถิติในเดือนเมษายน 2021 ที่ราคา NFT ก็ร่วงแรงกว่า 70% ทำให้ภาวะฟองสบู่ผุดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Sinhae จึงยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ของตลาด NFT ในอนาคต แต่ Ryan ก็มั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ภาวะฟองสบู่ ถ้าเกิดขึ้นจริงหรือเกิดขึ้นในอนาคตก็จะไม่เกิดใน Opensea แม้ว่า NFT บางประเภทจะอ่อนตัวลงบ้าง เช่น การ์ดสะสม แต่ด้วยความคิดสร้างสรรรค์ประกอบกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังมีโครงการใหม่ๆ ที่ปล่อยออกมาดึงดูดเหล่านักลงทุนรวมถึงบรรดาแฟนคลับในอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะทุกคนย่อมมีกิจกรรม สิ่งของ หรือบุคคลที่ชื่นชอบ และติดตามสิ่งเหล่านี้ ที่สำคัญคือ NFT ไม่ได้ผูกติดกับโครงการเดียวหรืออุตสาหกรรมเดียว แต่ใช้ได้กับแอพลิเคชันใหม่ทุกประเภท 



ดนตรี กับโอกาสผสานรวมสู่กระแสของ NFT ในอนาคต 


แม้ว่าในตอนนี้ส่วนแบ่งทางการตลาดของ NFT ที่ใหญ่ที่สุดคือสินค้าประเภท Digital Art แต่ Ryan คิดว่าอุตสาหกรรมดนตรีน่าจะได้รับความสนใจในอนาคต เพราะดนตรีก็มีความหลากหลายเช่นเดียวกับศิลปะ เพราะศิลปินจะมีรายได้จากการขายผลงานและการแสดง ถ้าเขามีชื่อเสียงหรือแฟนคลับมากขึ้นก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเหล่าศิลปินจึงต้องหาแนวทางใหม่ในการดึงดูดผู้ชมจากทั่วทุกมุมโลก เช่น การให้แฟนคลับเข้ามามีส่วนร่วมในผลงาน หรือสามารถพูดคุยและเข้าถึงทั้งตัวผลงานและศิลปิน ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ส่งผลต่อรายได้ของศิลปินในวงการดนตรียุคเดิมมากที่สุดคือคนกลาง ทั้งต้นสังกัดของศิลปิน ค่ายเพลงที่ได้ลิขสิทธิ์ผลงานไป รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทำเพลงไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนในการบันทึกเสียง ค่าทำการตลาด หรือการหาช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่ง NFT จะทำให้บรรดาแฟนคลับสามารถสนับสนุนศิลปินได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ซึ่งศิลปินวงแรกของโลกที่ขายอัลบั้มบน NFT คือ Kings of Leon โดยขายทั้งอัลบัมในรูปแบบสินค้าดิจิทัลทั่วไป และมีการประมูลแพ็คเกจเพื่อให้ได้นั่งแถวหน้าชมคอนเสิร์ตตลอดชีวิตพร้อมกับตั๋วทองคำที่ไม่ซ้ำสำหรับผู้ซื้อแต่ละราย รวมถึงของที่ระลึกต่างๆ และสิทธิพิเศษเมื่อเข้าร่วมในวันงาน แน่นอนว่าแพ็คเกจพิเศษในรูปแบบ NFT นี้มีจำนวนจำกัด นี่เป็นตัวอย่างการสร้างความรู้สึกให้แฟนคลับรู้สึกอยากเป็นเจ้าของตั๋ว Limited Edition ที่มีเพียงใบเดียว และการขายความ Exclusive ให้กับแฟนคลับที่หลงใหลและพร้อมที่จะจ่ายให้ได้สิ่งเหล่านี้มา 

ตัวอย่างนี้จึงแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมดนตรีพร้อมที่จะอยู่บน NFT และ Ryan มองว่านอกจากตัวอย่างที่ยกมายังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกหนึ่งเรื่องก็คือการขายตั๋วสำหรับการฟังสตรีม คอนเสิร์ต หรืออีเว้นท์ เพราะในตลาดของ NFT ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนรวมถึงสะสมได้ง่ายขึ้น โดยศิลปินอาจมีรางวัลพิเศษเมื่อทำตามกติกาที่กำหนดเพื่อสร้างความ Exclusive กับแฟนคลับ ที่สำคัญคือลดปัญหาโกงเงินในการขายตั๋วต่อได้ เพราะสินค้า NFT สามารถมีเจ้าของได้เพียงคนเดียว และมีระบบความปลอดภัยที่สูง ไม่สามารถสวมสิทธิ์หรือหลอกลวงได้อย่างในปัจจุบัน

แนวทางของ Opensea ในอนาคต

นอกจาก Opensea จะเป็นผู้บุกเบิกตลาด NFT และผู้นำตลาดในตอนนี้ แต่ Ryan คิดว่าในยุคของ Blockchain จะไม่ได้มีผู้ชนะหรือผู้นำตลาดเพียงรายเดียว แม้ว่าพวกเขาจะชนะแบบทิ้งห่างกับคู่แข่งอย่าง Rarible ด้วยปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น 140% ทำให้มีมูลค่ามากกว่าคู่แข่งอยู่ 58.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่พวกเขาก็หวังว่าจะมีแพลตฟอร์มใหม่นอกเหนือจากระบบการตลาดแนวนอนแบบ Opensea ในระบบนิเวศของ NFT 

ตอนนี้ Opensea ให้บริการสินค้า NFT กว่า 200 หมวดหมู่ และใช้ระบบ Multichain ที่รองรับถึง 3 เครือข่าย ได้แก่ Ethereum, Polygon และ Klaytn ทำให้ในตลาดนี้ไม่มี Gas ดังนั้นผู้ใช้งานจึงไม่ต้องจ่ายค่า Gas เรื่องนี้นอกจากจะทำให้สามารถซื้อผลงานที่สร้างสรรค์ของศิลปินได้ในราคาเริ่มต้นเพียงไม่กี่เหรียญสหรัฐฯ แล้ว ยังช่วยให้ศิลปินเข้าสู่พื้นที่ NFT และโลกของ Crypto ได้จริงๆ ผู้ผลิตผลงานสามารถเข้ามาหารายได้ โดยไม่ต้องมีเหรียญ Cryptocurrency อยู่ในมือก่อน  Opensea ให้ความสำคัญในการสนับสนุนโครงการต่างๆ ในอุตสาหกรรม NFT เพื่อเพิ่มหมวดหมู่ที่น่าสนใจ และขยาย Ecosystem ของ NFT เอง รวมถึงโลกของ Bloockchain ด้วยเหตุนี้จึงมีการปรับขนาดทีมโดยเน้นการจ้างงานในด้านวิศวกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และที่ขาดไม่ได้คือพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นบทบาทสำคัญ เพราะในสร้าง Marketplace ที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน ครีเอเตอร์ แฟนคลับ นักสะสม หรือนักเก็งกำไร จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากพาร์ทเนอร์ ซึ่งล่าสุด Opensea ประสบความสำเร็จในการปิดระดมทุนรอบ Series A  ด้วยมูลค่า 23 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก a16z บริษัท VC อันดับต้นๆ ของโลกที่ลงทุนใน Facebook, Twitter, Airbnb และโครงการที่มีชื่อเสียงอื่นๆ และในรอบ Series B ก็สามารถปิดการระดมทุนได้มากถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

อีกหนึ่งเป้าหมายหลักของ Opensea คือการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นสำหรับ Ryan แล้วการหาความได้เปรียบหรือการแข่งขันไม่ใช่บทบาทหลักของเขา เพราะการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และการพูดคุยกับนักสะสมรวมถึงผู้ขายจะทำให้รู้และเข้าใจในความต้องการของพวกเขา จนสามารถตอบโจทย์และมอบคุณค่าให้ทุกคนในระบบได้ แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงทุกกลุ่มได้ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีไม่เพียงในการขยายตลาดให้กว้างขึ้น และเป็นการสร้างพื้นฐานให้กับระบบนิเวศของ NFT ด้วย การทำความเข้าใจคนแต่ละกลุ่มนอกจากจะทำให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานจริงได้แล้ว แต่ยังสามารถลดแรงเสียดทานสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับ Crypto ให้เข้าสู่วงการ NFT ได้ ซึ่งจำเป็นต้องให้ความรู้และข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับพวกเขาจึงจะสำเร็จได้

สำหรับการให้ข้อมูลความรู้นั้น CEO และผู้ก่อตั้งอย่าง Devin Finzer ได้เขียนตำรา NFT ขึ้นมาในบล็อกของ Opensea ซึ่งเป็นข้อมูลที่ครบถ้วนและละเอียดมากเพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติ และความน่าสนใจของตลาด NFT และในตอนนี้กำลังเขียนแนะนำการใช้งานให้กับฝั่งของผู้ซื้อเกี่ยวกับวิธีเชื่อมโยงกระเป๋าเงิน รวมถึงวิธีซื้อและวิธีแสดงรายการ NFT ด้วย ส่วนในฝั่งผู้ขายก็มีการอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น เช่น การลดความซับซ้อนในการกรอกข้อมูลลง Smart Contract การสร้างเครื่องมือหน้าร้านที่ช่วยให้วางสินค้าบน NFT โดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม และสามารถโพสต์ข้อความต่างๆ บนหน้าร้านค้าได้ นอกจากนี้ทีมงานของ Opensea กำลังทดสอบระบบ Fiat On-ramp เพื่อให้ผู้คนนำบัตรเครดิตมาและชำระเงินด้วย Fiat Currency ได้ และในอนาคตจะพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนอื่นเพิ่มด้วย เพื่อให้คนเข้ามาสู่วงการ NFTมากขึ้น  และให้ผู้ใช้งานเดิมบน Marketplace ของ Opensea มีความสะดวกสบาย รวมถึงประสบการณ์ที่ดีที่สุด

และนี่คือเรื่องราวของ NFT ที่กำลังมาแรงในวงการ DeFi จากมุมมองของผู้นำตลาดอย่าง Opensea ว่าจะมีที่มาอย่างไร และจะมีทิศทางต่อไปอย่างไรในอนาคต ในโอกาสต่อไป SCB 10X จะมีเรื่องราวของ Blockchain ที่น่าสนใจมาให้ติดตามกันอีกอย่างแน่นอน 



สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่:  YOUTUBE

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept