milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
16 มกราคม 2566
ภาษาไทย

DAO Governance Attacks ภัยคุกคามที่ต้องระวังในโลก Web 3.0

‘DAO’ (Decentralized Autonomous Organizations) หรือองค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ ระบบที่ออกแบบมาให้นักลงทุนทั่วโลกสามารถใช้เงินเปลี่ยนเป็น Token เพื่อให้มีสิทธิลงคะแนนในโครงการต่างๆ โดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตน เป็นเทรนด์ถูกให้ความสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีส่วนช่วยให้ Governance หรือระบบงานในองค์กรเป็น Decentralized มากยิ่งขึ้นรวมถึงข้อดีอีกหลายประการ

นอกจากนี้ การขยายตัวของเทคโนโลยี Web 3.0 และ Blockchain ทำให้เกิดโครงการสกุลเงินดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมมากมาย แต่การเพิ่มขึ้นของการนำ Web 3.0 มาใช้ทำให้เกิดภัยคุกคามและการโจมตีทางไซเบอร์ประเภทต่างๆ มากขึ้นตามมา หนึ่งในนั้นคือ ‘Governance Attack’ ซึ่งส่งผลต่อโครงการ Cryptocurrency หรือ DAO ในการตัดสินใจเกี่ยวกับโปรโตคอลผ่านข้อเสนอการกำกับดูแล ซึ่งในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักภัยคุกคามประเภทนี้เพื่อช่วยประเมินภัยคุกคามและแนวทางการรับมือกับการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นกับ DAO

Arti3dao2-edited_1200X800.jpg

Governance ใน Crypto คืออะไร?

Governance คือ การจัดการและการนำการเปลี่ยนแปลงไปใช้กับ Blockchain ของสกุลเงินดิจิทัลผ่านการลงคะแนน การเปลี่ยนแปลงโปรโตคอล Blockchain จะดำเนินการผ่าน Governance หรือ การกำกับดูแลประเภทนี้ โดยผู้ถือโทเคนแต่ละคนสามารถลงคะแนนเพื่อยอมรับหรือปฏิเสธการแก้ไขที่เสนอโดยนักพัฒนาได้ นอกจากนี้ Governance ยังส่งผลให้การดำเนินการของโปรโตคอลเป็นแบบกระจายอำนาจมากขึ้น โดยผู้ถือโทเคนทุกคนของโปรโตคอลจะมีสิทธิ์และมีส่วนร่วมใน Governance 

ความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีของ DAO Governance 

โปรเจกต์ Web 3.0 จำนวนมากใช้วิธีการโหวตลงคะแนนรูปแบบที่เข้าถึงได้อย่างอิสระไม่ต้องขออนุญาต (Permissionless) ผ่านการใช้โทเคนที่สามารถใช้ซื้อขายและแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งการโหวตแบบ Permissionless มีข้อดีหลายประการ ตั้งแต่ลดอุปสรรคไปจนถึงเพิ่มระดับของการแข่งขัน โดยผู้ถือโทเคนสามารถใช้โทเคนของตนเพื่อลงคะแนนในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การปรับพารามิเตอร์ไปจนถึงการปรับกระบวนการกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม การโหวตแบบ Permissionless ก็มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีในรูปแบบ Governance Attacks แม้ว่าผู้โจมตีมีสิทธิ์การลงคะแนนอย่างถูกต้องแต่ใช้สิทธิ์นั้นเพื่อผลประโยชน์ของผู้โจมตีเอง ซึ่งการโจมตีเหล่านี้เป็นการโจมตีที่เกิดขึ้นภายใน Protocol ที่ไม่สามารถตรวจสอบผู้โจมตีผ่านการเข้ารหัสได้ ดังนั้น การป้องกันและหลีกเลี่ยงจึงควรเป็นการออกแบบกลไกที่รอบคอบ 


กรณีศึกษาภัยคุกคาม Governance Attacks ที่เกิดขึ้นจริง

ตัวอย่างแรก คือ Steemit สตาร์ทอัพที่สร้างเครือข่ายโซเชียลแบบกระจายศูนย์บน Blockchain มีระบบการกำกับดูแลแบบ On-Chain ที่ควบคุมโดยพยาน 20 คน ผู้ลงคะแนนใช้โทเคน STEEM (สกุลเงินดั้งเดิมของแพลตฟอร์ม) เพื่อเลือกพยาน และในขณะที่แพลตฟอร์มนี้กำลังได้รับความสนใจก็มี Sun ผู้ก่อตั้ง Tron ที่ต้องการรวม Steem เข้ากับ Tron (โปรโตคอล Blockchain DAO Ecosystem) โดยมีการเข้าซื้อโทเคน 30 เปอร์เซ็นต์ของอุปทานทั้งหมดเพื่อให้ได้อำนาจในการลงคะแนน จากนั้นเมื่อพยานปัจจุบันของ Steem พบการซื้อเกิดขึ้นจึงทำการแช่แข็งโทเคนดังกล่าว และสิ่งที่ตามมาคือการแย่งชิงระหว่างกันเพื่อให้มีโทเคนมากพอที่จะมีพยาน 20 ที่ หลังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ Sun ก็ได้รับชัยชนะและมีอำนาจในเครือข่ายอย่างสมบูรณ์ 

อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ คือ Beanstalk ซึ่งเป็นโปรโตคอล Stablecoin ที่ถูกโจมตี Governance Attack ผ่าน Flashloan โดยที่ผู้โจมตีได้กู้ยืม Governance Token จำนวนมากพอที่จะยื่นข้อเสนอจนสามารถยึดเงินสำรองของ Beanstalk จำนวนกว่า 182 ล้านดอลลาร์ได้ทันที ซึ่งแตกต่างจากกรณีการโจมตีของ Steem เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงในช่วงของ Block เดียวเท่านั้น หรือหมายความว่าเกิดขึ้นเร็วเกินกว่าที่จะตอบโต้ได้ทัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการโจมตีทั้งสองครั้งนี้จะเกิดขึ้นอย่างเปิดเผยและอยู่ในสายตาของสาธารณชน แต่การโจมตีแบบ Governance Attacks ก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยการแอบแฝงในระยะเวลายาวนาน โดยที่ผู้โจมตีอาจสร้างบัญชีที่ไม่ระบุชื่อจำนวนมากและค่อยๆ สะสม Governance Token พร้อมกับทำตัวเหมือนผู้ถือ Token รายอื่นเพื่อไม่ให้เกิดความน่าสงสัย ซึ่งการแอบแฝงในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นกับ DAO หลายแห่ง ซึ่งมีบัญชีที่อยู่เฉยๆ เป็นเวลานานโดยไม่ทำให้เกิดความสงสัย อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ DAO บัญชีที่ไม่ระบุตัวตนของผู้โจมตีอาจมีส่วนช่วยให้อำนาจการลงคะแนนแบบกระจายอำนาจอยู่ในระดับที่ดี แต่ในที่สุดผู้โจมตีก็สามารถไปถึงเกณฑ์ที่สามารถควบคุม Governance ได้เพียงฝ่ายเดียวโดยที่ชุมชนไม่สามารถตอบโต้ได้ 

และกุญแจสำคัญในการป้องกันจากผู้ไม่หวังดีต่อระบบคือการสร้างและออกแบบโครงสร้างของ DAO อย่างเหมาะสม


ความท้าทายในการแยกแยะผู้ใช้ที่มีคุณค่ากับผู้ไม่หวังดีต่อโครงการ

กลไกการตลาดสำหรับการจัดสรรโทเคนล้มเหลวในการแยกแยะระหว่างผู้ใช้ที่ต้องการมีส่วนร่วมและมีคุณค่าต่อโครงการกับผู้โจมตีที่เข้าไปทำให้เกิดการหยุดชะงักหรือต้องการควบคุม โดยในโลกที่โทเคนสามารถซื้อหรือขายในตลาดสาธารณะ ทำให้ไม่สามารถแยกพฤติกรรมทั้งสองกลุ่มผู้ใช้นี้ได้หากมองจากมุมมองของตลาด ซึ่งทั้งสองกลุ่มต่างยินดีที่จะซื้อโทเคนจำนวนมากในราคาที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

โดยปัญหาความล้มเหลวในการแยกแยะผู้ใช้ในที่นี้หมายความว่า Governance รูปแบบกระจายอำนาจไม่ได้มาฟรีๆ แต่ในทางกลับกัน ผู้ออกแบบโปรโตคอลต้องเผชิญกับสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนระหว่างการกระจายอำนาจการกำกับดูแลอย่างเปิดเผยและการรักษาความปลอดภัยระบบของตนจากผู้โจมตีที่แสวงหาประโยชน์จากกลไกของการกำกับดูแล ยิ่งสมาชิกในชุมชนมีอิสระในการได้รับอำนาจในการกำกับดูแลและมีอิทธิพลต่อโปรโตคอลมากเท่าใด ผู้โจมตีก็จะยิ่งใช้กลไกเดียวกันนี้เพื่อโจมตีได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

ปัญหาความล้มเหลวในการแยกแยะผู้ใช้นี้คล้ายกันกับการออกแบบของเครือข่าย Blockchain ประเภท Proof-of-Stake ที่ยิ่งโทเคนสภาพคล่องสูงก็ยิ่งช่วยให้ผู้โจมตีได้รับการันตีความปลอดภัยจากเครือข่ายได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การผสมผสานระหว่างการให้ผลตอบแทนจากโทเคนและการออกแบบสภาพคล่องทำให้เครือข่าย Proof-of-Stake ดำเนินต่อไปได้ดี ดังนั้นกลยุทธ์ที่คล้ายกันนี้มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถนำไปปรับใช้ช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับโปรโตคอล DAO ได้เช่นกัน


การประเมินและแก้ไขจุดอ่อนของโครงการเพื่อป้องกันการโจมตี

เพื่อให้โปรโตคอลได้รับความปลอดภัยจากภัยคุกคาม Governance Attacks ควรมีการทำให้โอกาสผลกำไรของผู้โจมตีเป็นลบ และเพื่อลดแรงจูงใจในการใช้ประโยชน์จากโปรโตคอล สามารถใช้การสร้างสมดุลสามวิธีการ ได้แก่ การลดมูลค่าจากการโจมตี เพิ่มค่าใช้จ่ายหรือความยากในการได้รับอำนาจลงคะแนน และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโจมตี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้:

  • นักออกแบบสามารถจำกัดมูลค่าจากการโจมตีได้โดยการจำกัดขอบเขตในสิ่งที่ Governance จะสามารถทำได้
  • ในช่วงเริ่มต้นของโครงการเป็นช่วงเวลาที่สามารถปรับขยาย Governance ให้มีรากฐานที่มั่นคง และเมื่อโครงการเติบโตเต็มที่และมีการกระจายอำนาจการควบคุม อาจเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะจัดการกับความขัดแย้งต่างๆ ใน Governance โดยอย่างน้อยที่สุดควรใช้องค์ประชุมขนาดใหญ่สำหรับการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด
  • โครงการสามารถใช้วิธีการที่ทำให้การได้มาซึ่งอำนาจในการลงคะแนนมีความยากขึ้นเพื่อให้เกิดการโจมตีที่ยากขึ้น เนื่องจากยิ่งโทเคนมีสภาพคล่องมากก็ยิ่งได้อำนาจในการลงคะแนนง่ายขึ้น ดังนั้นโครงการต่างๆ จึงอาจต้องลดสภาพคล่องลงเพื่อแลกกับการปกป้อง Governance 
  • บางโครงการมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อไม่ให้ใช้เหรียญลงคะแนนในช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังจากการแลกเปลี่ยนเหรียญเสร็จสิ้น
  • บางโครงการใช้อำนาจการยับยั้ง (Veto Power) ที่ส่งผลให้การลงคะแนนเกิดความล่าช้าเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเป็นการเตือนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ที่อาจเป็นอันตรายต่อโครงการแก่ผู้ลงคะแนนที่ไม่มีความเคลื่อนไหว (Inactive) 
  • โครงการต่างๆ ควรสร้างสมดุลเพื่อให้มีความเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลงชุมชนในระดับหนึ่ง รวมถึงไม่ปล่อยให้ข้อเสนอที่เป็นอันตรายต่อโครงการหลุดลอดผ่านช่องโหว่ไปได้




ขอบคุณข้อมูลจาก a16zcrypto

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept