milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
17 มิถุนายน 2564
ภาษาไทย

COVID-19 กับความท้าทายและโอกาสด้านนวัตกรรมขององค์กรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

งานสัมมนาออนไลน์ชั้นนำในด้านนวัตกรรม “Innov8rs” Connect Unconference 2021 - Community Club APAC (Regional Sessions) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ร่วมสนทนากันในหัวข้อ “Corporate Innovation Challenges and Opportunities in Southeast Asia” หรือความท้าทายและโอกาสด้านนวัตกรรมขององค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใน Session นี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและผู้บริหารมากประสบการณ์ร่วมเสวนากัน ได้แก่:

  • คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder จาก SCB 10X
  • คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Managing Director จาก Nexter Living
  • คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ Co-Founder & CEO จาก Techsauce Media
  • คุณเชาวรัตน์ ยงจิระนนท์ Global Content Editor จาก Techsauce Media

สำหรับ Innov8rs เป็นบริษัทชั้นนำที่จัดสัมมนาเพื่อให้เกิดพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ และพบปะกันระหว่างผู้สร้างนวัตกรรมจากองค์กรต่างๆ และครั้งนี้ SCB 10X ได้นำไฮไลท์ความรู้และแนวคิดที่น่าสนใจด้านนวัตกรรมในองค์กรจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จากงานครั้งนี้มาฝากกัน

1200x800 COVID-19’s Impact on Opportunities and Innovation in Southeast Asia.png

สถานการณ์ COVID-19 กับความท้าทายและผลกระทบต่อภาคการธนาคารและการก่อสร้าง

เมื่อพูดถึงความท้าทายในประเทศไทยตอนนี้ที่อยู่ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ระยะที่ 3 และยังส่งผลกระทบไม่ใช่เพียงแต่ในอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น แต่ตอนนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อภาคส่วนอื่นๆ เช่น การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เป็นตัน โดยเริ่มต้นกับภาพรวมของ SCG และ Nexter Living กับความท้าทายในภาคธุรกิจ ที่คุณวชิระชัย ได้ให้ความเห็นว่า สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปีที่แล้วไม่ได้กระทบเพียงแค่ในประเทศแต่เกิดขึ้นกับทั่วโลก ทำให้เกิดการ Disrupt ในแต่ละภาคธุรกิจมากมาย มีธุรกิจที่ต้องส่งสินค้าและให้บริการกับธุรกิจและเราต้องรับมือ โดยไม่ใช่เพียงแต่ต้องรับมือกับด้านธุรกิจเท่านั้นแต่ต้องดูแลความปลอดภัยของบุคลากรด้วย แต่โชคดีที่ได้ใช้ BCM (Business Continuity Management) หรือการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจมาใช้ช่วยแก้ปัญหาในสถานการณ์ดังกล่าว และเมื่อพูดถึง Nexter Living ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนและต้องมีการปรับตัว มีการเริ่มต้นหรือความคิดริเริ่มใหม่มากมายที่ต้องมีการ Pivot หรือปรับแผนธุรกิจ

ส่วนด้านคุณกวีวุฒิ ได้ความเห็นว่า การระบาดของ COVID-19 เป็นตัวที่เร่งให้เกิดการนำดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กรต่างๆ อย่างแท้จริง ซึ่งมีการนำมาปรับใช้กับการธนาคารด้วยเช่นกัน เมื่อมองในแง่ของนวัตกรรมนับเป็นสิ่งที่ดีสำหรับธนาคาร จึงได้มีการเร่งดำเนินการในเรื่องของดิจิทัลโดยเฉพาะ โดยทาง SCB 10X กำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายรายเกี่ยวกับ Telemedicine รวมถึงด้าน DeFi ด้วย


สถานการณ์และภาพรวมและเรื่องนวัตกรรมของไทยและ Southeast Asia

ปฏิเสธไม่ได้ว่า COVID-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดการ Disrupt ซึ่งคุณชิระชัย ได้เสริมว่า ตอนนี้ผู้คนมีการนำเรื่องดิจิทัลมาปรับใช้กันได้อย่างรวดเร็วมาก ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกประเทศในภูมิภาคและทั่วโลก รวมถึงมีแนวคิดใหม่ๆ ที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับสถานการณ์นี้เช่นกัน โดยเฉพาะด้านสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากผู้คนมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของตนมากขึ้น เมื่อมีแนวคิดใหม่ๆ ออกมามากมายทำให้เกิดนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นทั่ว Southeast Asia โดยอัตราการนำมาใช้นวัตกรรมรวมถึงระบบนิเวศน์นั้นจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ


เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในแง่ความรวดเร็วด้านนวัตกรรมของไทยเป็นอย่างไร กำลังล้าหลังหรือทำได้ดีแล้ว?

ในเรื่องนี้คุณกวีวุฒิ ได้ให้ความเห็นว่าเรื่องนวัตกรรมในไทยดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเอกลักษณ์ของประเทศไทยมีองค์กรที่ค่อนข้างมีความแข็งแรงและคิดว่าองค์กรต่างๆ มีทรัพยากรที่พร้อมจะลงทุนในนวัตกรรม รวมถึงองค์กรส่วนใหญ่ได้จัดตั้ง Corporate Venture Capital (CVC) หรือการลงทุนในสตาร์ทอัพจากองค์กรขนาดใหญ่ และยังมีเงินหมุนเวียนจำนวนมากสำหรับสตาร์ทอัพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ COVID-19 ยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้สตาร์ทอัพบางรายต้องหายไปในช่วงนี้ แต่ก็มีสตาร์ทอัพที่ทำออกมาได้แข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ในมุมมองของการเป็น VC เห็นโอกาสมากมายที่เกิดขึ้น และยังทำให้เหล่าผู้บริหารตระหนักว่าดิจิทัลนั้นมีความสำคัญมาก ซึ่งตอนนี้คุณไม่สามารถเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในองค์กรด้านดิจิทัลได้อีกต่อไปและง่ายมากต่อการตัดสินใจว่าเราจำเป็นต้องเคลื่อนไปข้างหน้าให้รวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยและยังเป็นกรณีศึกษาที่ดีต่อประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน


เมื่อสถานการณ์จาก COVID-19 ทำให้องค์กรให้ความสำคัญเรื่องนวัตกรรมมากขึ้น ในช่วงปีที่ผ่านมามองเห็นโอกาสอะไรเกิดขึ้นบ้าง

คุณกวีวุฒิให้ความเห็นว่า ในแง่ของการธนาคารเทรนด์ดิจิทัลนั้นมีมาอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ได้เกิดมาเพราะการระบาดของ COVID-19 แต่ทำให้เทรนด์ดิจิทัลนั้นเติบโตขึ้นแบบทวีคูณ โดยมี 2 กรณีตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 อย่างแรกคือ เมื่อการธนาคารนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่งเพื่อการเข้าถึงลูกค้าได้อย่างทั่วถึง แต่ในสถานการณ์ที่ทำให้คนต้องอยู่บ้านนี้ SCB จึงได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม Food Delivery อย่าง “Robinhood” ที่ไม่เก็บค่า GP และชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารเล็กๆ และยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงร้านอาหารได้มากขึ้นด้วย ส่วนบริการทางการเงินก็มีอยู่ในแอปพลิเคชันนี้ด้วย ซึ่งเป็นโอกาสหนึ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์นี้ อีกกรณีหนึ่ง คือในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ โดย SCB 10X ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลสมิติเวช สร้าง Joint Venture เนื่องจากทราบว่าตอนนี้เทรนด์ Telemedicine กำลังมาแรง และได้เปิดตัวแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “SkinX” ที่โดยพื้นฐานแล้วคือ Telemedicine สำหรับดูแลสุขภาพผิว ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีมาก และตอนนี้เปิดตัวมาเป็นเวลา 2-3 เดือนและกำลังขยายขนาดแบบก้าวกระโดด เป็นการเริ่มจากศูนย์และเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่มีความสามารถ มี Business Model แบบใหม่ รวมถึงทำงานร่วมกับผู้นำในอุตสาหกรรม


COVID-19 กับความจำเป็นในการจัดการเพื่อจัดระบบใหม่ (Reorganize) การเปลี่ยนแปลง (Transform) และการปรับตัวสู่การใช้กระบวนการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization)

คุณวชิระชัยได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ใน SCG มีการใช้วิธีการทำงานแบบ Hybrid Workplace หรือการทำงานจากที่ใดก็ได้ไม่ว่าจากที่บ้านหรือออฟฟิศเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการทำงาน และเมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กร ซึ่งใน Nexter living กำลังพูดคุยกันถึงธุรกิจใหม่ ที่ต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่แตกต่างกัน โดยมีสถานที่ทำงานแยกต่างหากสำหรับทีมธุรกิจใหม่ โดยได้นำการทำงานแบบ Hybrid มาใช้จริงระยะหนึ่งแล้ว จากนั้นเพียงติดตามความคืบหน้าในการพัฒนาธุรกิจของภาครัฐ เราจึงมีปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบ New normal ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสามารถช่วยในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้


คิดเห็นอย่างไรกับการ Work From Home ที่อาจเป็นเรื่องยากและนำไปสู่ภาวะ Burnout Syndrome สำหรับบางคน

คุณกวีวุฒิให้ความเห็นว่าเป็นทั้งความท้าทายและเป็นโอกาส โดยทีมของเราส่วนใหญ่เป็นคนอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งส่วนใหญ่พวกจะชอบการทำงานจากที่บ้าน แต่ไม่ใช่เพราะว่าพวกขี้เกียจแต่ทำให้มีเวลาทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับผู้นำในการนำทีมคือต้องมีลูกทีมที่สามารถไว้ใจได้ เพราะจะทำให้การทำงานง่ายขึ้น โดยคนในทีมจะมาหาผู้นำทีมเมื่อมีปัญหาและสามารถให้ทางแก้ที่เป็นประโยชน์กับพวกลูกทีมได้ ซึ่งคุณไม่สามารถติดตามพวกเขาได้ตลอดเวลา รวมถึงหากคุณมีทัศนคติที่ว่าพวกเขาได้ทำดีที่สุดให้กับบริษัทแล้ว สิ่งต่างๆ ก็จะง่ายขึ้น ซึ่งคุณจะติดตามพวกเขาด้วยประสิทธิภาพการทำงานแทน หรือในกรณีที่กำลังทำผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่มีกระบวนการทำงานและมีการเสนอ Demo ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคอยเตือนบ่อยขึ้นเกี่ยวกับเป้าหมายที่คาดหวังอย่างชัดเจน จึงอาจจะต้องมีการสื่อสารหรือการประชุมกันมากขึ้น และทุกสัปดาห์มีการประชุมออนไลน์เพื่อพูดคุยทบทวนปัญหาและเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความท้าทายในการสร้างวัฒนธรรมดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม การทำงาน Wok From Home มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่โดยส่วนใหญ่ในทีมโดยเฉพาะนักพัฒนาพบว่ามีเวลาในการทำงานกับสิ่งที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อพวกเขาอยู่ในออฟฟิศหรือในการประชุมทำให้พวกเขาไม่สามารถเขียน Code ได้ โดยเรื่องเหล่านี้แค่กลับไปถามคนในทีมถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเมื่อสามารถไว้ใจได้ก็ให้พวกเขาทำในสิ่งที่เหมาะสม


ภายหลังจากการฉีดวัคซีน COVID-19 สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รูปแบบการทำงานจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทางด้านคุณวชิระชัย ได้ให้ความเห็นว่า การทำงานของเราเป็นแบบ Hybrid เพราะงานบางอย่างสามารถทำได้จากที่บ้าน แต่มีงานบางอย่างที่ยังต้องพบเจอกันแบบรายบุคคล แต่ภายหลังจากการได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่หากมีกรณีที่ต้องพบกันเพื่อการระดมความคิดก็ค่อนข้างที่จะต้องพบเจอกันเป็นรายบุคคล ส่วนสำหรับงานที่ทำงานคนเดียวได้ก็สามารถทำได้ที่บ้าน ซึ่งยังคงเป็นลักษณะการทำงานแบบ Hybrid อย่างไรก็ตามเราจะโฟกัสที่เรื่องทัศนวิสัยและการทำให้ภารกิจลุล่วงมากกว่า ซึ่งไม่จำเป็นต้องติดตามพนักงานตลอดเวลา

สำหรับคุณกวีวุฒิได้พูดถึง SCB 10X ว่าได้มีการทำงานจากที่บ้านแบบเต็มเวลามาเป็นเวลากว่า 2 เดือน และหากสถานการณ์ดีขึ้นและมีการรับวัคซีนเรียบร้อยแล้วก็คาดว่าจะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศบางส่วน แต่จะมีการทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยเป็นเวลาครึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน


ความร่วมมือระดับภูมิภาคในแง่ของการลงทุนและนวัตกรรมจาก SCG

คุณวชิระชัย ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในภูมิภาค Southeast Asia มีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้น โดยเฉพาะในอินโดนีเซียมีหลายสตาร์ทอัพและธุรกิจที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งเรายังได้มีส่วนร่วมในสตาร์ทอัพและบริษัทหลายรายของอินโดนีเซีย ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ที่สามารถเรียนรู้ได้อีกมาก จึงมีโอกาสของการทำงานร่วมกันเกิดขึ้นได้มาก อย่างไรก็ตาม เราควรใช้ความรู้ที่ได้นำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทยหรือบริบทของตลาดอื่นๆ 


ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรไทยขยายไปสู่ตลาดโลก

คุณกวีวุฒิ ให้ความเห็นว่า ต้องมุ่งเน้นไปที่ตลาดใหญ่ คนไทยมีความสามารถมากแต่เราเป็นประเทศเล็ก เมื่อพูดถึงเรื่องการเป็นยูนิคอร์นซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่เป็นเป้าหมายขนาดใหญ่ และเมื่อมองไปที่ตลาดคุณต้องรู้ว่าอะไรกำลังจะมาในตลาด โดยพื้นฐานแล้วคุณต้องมุ่งเน้นไปที่ตลาดใหญ่ หากพูดถึงอุตสาหกรรมการเงินในขณะนี้อย่าง DeFi ที่คุณสามารถมีนักพัฒนาเพียง 4-5 คนพยายามสร้างสิ่งได้อย่างรวดเร็วและเปิดตัวสู่ระดับโลก ซึ่งมีความพิเศษอย่างมากและเป็นจังหวะเวลาที่ดีของอุตสาหกรรมนี้ในตอนนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสดีของภาคส่วนการธนาคาร เพราะอุตสาหกรรมการเงินไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากในตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา แม้เราจะมีกระแสของ FinTech อยู่ช่วงหนึ่งก็ตาม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเสมือนการนำเทคโนโลยีมาใช้กับ Business Model แบบเดิมมากกว่า

เมื่อเราได้เข้ามาทำเกี่ยวกับ DeFi และ Blockchain เราเห็นโอกาสที่น่าสนใจมากมาย เห็นระบบนิเวศใหม่ๆ ที่น่าสนใจซึ่งกำลังเฟื่องฟูไปทั่วโลก และหากคุณสามารถนำคนไทยที่มีความสามารถสูงมาอยู่ด้วยกันเพื่อเข้าถึงระบบนิเวศเหล่านั้นและให้พวกเขาเรียนรู้อย่างรวดเร็วในระดับโลก รวมถึงมีการสร้างและเปิดตัวโปรเจกต์ต่อไป อาจทำให้เกิดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับพวกเขา

ทางด้านคุณวชิระชัย ได้เสริมเรื่องนี้ว่า กุญแจสำคัญเป็นการผสมผสานระหว่างการคิดในระดับสากลและระดับท้องถิ่น ในกรณีที่เราต้องจัดการกับปัญหาระดับสากลหรือพบกับปัญหาใหญ่ อาจเป็นกับดักที่เราจะมุ่งความสนใจไปที่ปัญหามากเกินไปโดยลืมดูไปว่ามีโอกาสมากมายอยู่ในตลาด ซึ่งเราควรมีการปรับตัวให้เข้ากับในท้องถิ่นด้วยเพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จเช่นกัน ดังนั้นการผสมผสานระหว่างการคิดในระดับสากลและระดับท้องถิ่นอาจเป็นสิ่งที่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้


ทำอย่างไรให้มี Ecosystem และนวัตกรรมที่ดีขึ้นจนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านคุณวชิระชัย ให้ความเห็นว่าในแง่การนำแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมเข้ามาใช้ ควรออกไปหาพาร์ทเนอร์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นจากในประเทศและทั่วโลก เพราะหากมีพาร์ทเนอร์ที่ถูกต้องและร่วมกันพัฒนาก็จะช่วยให้สำเร็จได้เร็วขึ้น 

ส่วนคุณกวีวุฒิ ให้ความเห็นว่า ควรมีการนำแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต ลงมือทำมากขึ้น ทำการทดลองให้มากขึ้น และคิดน้อยลง เพราะยิ่งคิดมากก็ยิ่งเสียโอกาสในการเรียนรู้เมื่อโลกนั้นหมุนไปเร็ว ดังนั้นการลงมือทำอย่างเช่นการทำผลิตภัณฑ์ออกไปสู่ตลาดก็เป็นการเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่ง หากพยายามทำมากขึ้นหรือล้มเหลวมากขึ้นจะทำให้เรียนรู้และพัฒนาได้เร็ว


ประเทศอื่นๆ ต้องการรู้อะไรเกี่ยวกับ Ecosystem ในไทยรวมถึง Southeast Asia 


คุณวชิระชัย ให้ความเห็นว่า หากประเทศอื่นๆ ได้เข้ามาติดต่อทำความรู้จักกับไทยรวมถึงประเทศต่างๆ ใน Southeast Asia
อาจจะต้องประหลาดใจ เพราะว่า Ecosystem ของสตาร์ทอัพในภูมิภาคเรามีการพัฒนาค่อนข้างมากและมีโอกาสมากมายให้ได้ร่วมงานกัน

สำหรับคุณกวีวุฒิ ได้ให้ความเห็นว่า ตลาดใน Southeast Asia กำลังมีการเติบโตแต่ก็ต้องการมีพาร์ทเนอร์ที่ดี ดังนั้นคิดว่าองค์กรต่างๆ ในไทยและประเทศอื่นๆ ใน Southeast Asia ย่อมมีความยินดีมากในการทำงานกับบริษัททางฝั่งตะวันตกที่ต้องการเข้ามาในภูมิภาคนี้

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept