milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
12 ธันวาคม 2565
ภาษาไทย

‘ความปลอดภัยของข้อมูล’ ความท้าทายสำคัญของโลก METAVERSE

การเติบโตของ Metaverse นำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ สำหรับการดำเนินธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมและวิธีใหม่ๆ ที่ใช้สื่อสานกันในที่ทำงาน เช่น ช่วยปรับปรุงศักยภาพขั้นตอนการทำงานและการเข้าประชุมแบบเสมือนจริง เป็นต้น แต่วิธีการใหม่เหล่านี้ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ไม่หวังดีได้มีช่องทางใหม่เพื่อโจมตีและแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ใช้งาน Metaverse มากขึ้นด้วยเช่น 


อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเราจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้งาน Metaverse ที่คาดการณ์กันว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าอาจถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายอย่างที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการศึกษาและตรวจสอบถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ให้ดีก่อนที่จะเข้าไปใช้งาน Metaverse


ดังนั้น วันนี้ SCB 10X จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับ “ความปลอดภัยของข้อมูลในการใช้งานบนโลก Metaverse” มาฝากกัน

Arti1data_1200X800.jpg


ความปลอดภัยทางไซเบอร์และ Metaverse


การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของโลกออนไลน์ยังคงเป็นความท้าทายมาจนถึงในปัจจุบัน ผู้ใช้ออนไลน์มักจะถูกขโมยข้อมูล ถูกโจมตีแบบ Phishing หรือการหลอกลวงเพื่อขโมยข้อมูลสำคัญของผู้ใช้ และพบปัญหาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยคาดว่าปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อก้าวไปสู่โลกเสมือนจริง Metaverse 


อย่างเช่น NFT ที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชน Metaverse ก็มีแนวโน้มในการถูกหลอกลวงเกี่ยวกับ NFT ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยก็ได้คาดการณ์ความเป็นไปได้ของการโจรกรรมข้อมูลประจำตัวและการโจมตีทางไซเบอร์จากการดักและส่งต่อข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น การโต้ตอบกับอวทาร์อื่นๆ ระหว่างการประชุมทางธุรกิจใน Metaverse ระหว่างที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจไปที่อวทาร์ที่เป็นตัวแทนของบุคคล ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถทราบได้ว่าที่แท้จริงคือใครหรือเป็นผู้ไม่หวังดีปลอมแปลงข้อมูลส่วนบุคคลเข้ามาแอบฟังการสนทนาหรือไม่ แม้อาจดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นแต่สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นจริงได้


นอกจากนี้ มีแนวคิดที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางคือการผสมผสานของเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการระบุตัวตนเข้ากับอุปกรณ์ที่ใช้ใน Metaverse ทั้ง Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR)

โดยบริษัทด้านเทคโนโลยีกำลังพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ โดยการรวมเอาระบบจดจำม่านตาเข้าไปในชุด Headsets หรือระบบอ่านลายนิ้วมือไปในอุปกรณ์สำหรับควบคุม แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าผู้ใช้จะพอใจกับการที่ต้องเผยข้อมูลของตนสำหรับยืนยันตัวตนให้กับบริษัทด้านเทคโนโลยีเหล่านี้หรือไม่


การเก็บข้อมูลและความปลอดภัยของข้อมูลกับ Metaverse


ต้องยอมรับว่าระหว่างที่มีการพัฒนา Metaverse อย่างต่อเนื่อง แต่ละแพลตฟอร์มก็ย่อมมีการเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลจากผู้ใช้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในโลกเสมือนที่ผู้ใช้มีความอิสระในการใช้งานมากผู้ใช้ก็จะมีการทิ้งร่องรอยของข้อมูลเอาไว้เบื้องหลังมากด้วยเช่นกัน


ยกตัวอย่างกรณีของยักษ์ใหญ่แห่งวงการ Social Media ที่กำลังหันมาพัฒนา Metaverse อย่างเต็มที่ ก็มีข้อกังวลเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้ว่าพวกเขาจะมีการเก็บข้อมูลมากน้อยอย่างไร เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดีว่าพวกเขาต้องอาศัยข้อมูลส่วนบุคคลอย่างมากเพื่อใช้ทำการตลาดสำหรับโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของพวกเขา


และสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนใน Metaverse ปัจจุบัน ที่การใช้อวทาร์ดิจิทัลต่างๆ เสมือนเป็นเหมืองของข้อมูลก็ว่าได้ ถึงแม้ว่าผู้ใช้จะใช้สกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrencies สำหรับการซื้อและขายใน Metaverse แต่ก็ยังคงมีข้อมูลที่เชื่อมโยงกับการเงินในโลกความจริง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี


รวมถึงเทคโนโลยี Blockchain ที่เป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนกิจกรรมมากมายใน Metaverse แม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูงแต่ก็สามารถเกิดช่องโหว่ได้เช่นกัน และในส่วนของระบบ Decentralized ที่ยังมีคำถามว่าใครเป็นผู้ปกป้องดูแลข้อมูลที่ถูกรวบรวม และผู้ใช้จะนำสินทรัพย์ที่ถูกขโมยคืนได้อย่างไรในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น?




การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ดีขึ้นในโลก Metaverse


เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่เกิดขึ้นมากมาย บริษัทด้านเทคโนโลยีจึงจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามเพื่อสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดและดีขึ้น เพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลที่เป็นอันตราย และการรักษาความปลอดภัยที่อุปกรณ์ปลายทาง (Endpoint) ด้วยการลงทุนกับซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย เช่น VPN, Proxy และซอฟต์แวร์ Antimalware ต่างๆ ก็มีความสำคัญ รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้ใช้เกี่ยวกับภัยทางไซเบอร์ที่พบบ่อย เช่น การขโมยข้อมูลส่วนตัว และการหลอกลวงเพื่อขโมยข้อมูลสำคัญ (Phishing) เป็นต้น 


และเมื่อเราก้าวไปสู่อนาคตกับ Metaverse อุปกรณ์ AR และ VR ก็มีบทบาทสำคัญ ซึ่งมึความเป็นไปได้ว่าจะมีการเชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านี้และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมากขึ้น ดังนั้น อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เหล่านี้ต้องมีการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาซึ่งยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ถึงการนำระบบเซนเซอร์สำหรับใช้ยืนยันตัวตนเพื่อหลีกเลี่ยงความจำเป็นในการใช้ข้อมูลส่วนตัวในขั้นตอนการยืนยันตัวตน

นอกจากนี้ การสร้างข้อบังคับและนโยบายสำหรับยืนยันความเป็นเจ้าของของข้อมูลและสิทธิ์ต่างๆ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไป ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น โดยปัจจุบันในโลกออนไลน์จะเห็นได้ว่าบริษัทที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากที่สุดจะกลายเป็นผู้ชนะอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็น่าติดตามว่าในโลก Metaverse จะเป็นไปในรูปแบบเดียวกันหรือไม่ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วผู้ใช้ต้องรู้จักปกป้องตนเองเมื่อเข้าสู่โลก Metaverse เนื่องจากระบบที่ซับซ้อนมากขึ้นอาชญากรไซเบอร์ในพื้นที่นี้ก็ย่อมมีวิธีการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องหาความรู้และมีความเข้าใจว่าต้องใช้ข้อมูลใดบ้างเพื่อเข้าถึงเพื่อป้องกันความเสี่ยง และในส่วนบริษัทเจ้าของ Metaverse ที่รวบรวมข้อมูล ก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ ทั้งนี้ ในอนาคตธุรกิจต่างๆ ก็อาจให้ความสนใจและมีความมั่นใจในการร่วมงานกับ Metaverse มากขึ้น เมื่อปัญหาและความเสี่ยงทางไซเบอร์ต่างๆ ได้ถูกจัดการได้ดีขึ้น 

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept