milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
05 กรกฎาคม 2564
ภาษาไทย

DeFi ในเอเชีย กับแนวทางการสร้างโปรเจกต์ให้ประสบความสำเร็จในระดับสากล

ความสำคัญของงาน Crypto Assets Conference 2021 ที่จัดขึ้นโดย Frankfurt School Blockchain Center เกิดจากผลกระทบจาก COVID-19 และความพยายามด้านกฎข้อบังคับต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในระดับภาคเอกชนและระดับสถาบัน ซึ่งประกอบด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมาก อย่างเช่น DeFi, Digital Securities, Infrastructure และ Digital Euro ซึ่งทั้งหมดล้วนใช้เครือข่าย DeFi โดยภายในงานประกอบไปด้วยเนื้อหาระดับท็อปที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแนวโน้มปัจจุบันในเรื่อง Blockchain เรื่อง Distributed Ledger Technology (DLT)  ไปจนถึง Crypto Assets ผ่านการกล่าวสุนทรพจน์ การสนทนา และการ Pitch จากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย รวมถึงผู้นำทางความคิดที่ได้มารวมตัวกันในงานด้านคริปโตฯ ขั้นนำของยุโรปครั้งนี้

โดยคุณมุขยา พานิช Chief Venture and Investment Officer จาก SCB 10X พร้อมกับผู้นำจาก DeFi Projects ที่ประสบความสำเร็จอีก 3 ท่าน ได้แก่ คุณสาวิทธ์ ตริสิริสัตยวงศ์ Integration Lead จาก Band Protocol, Do Kwon CEO and Co-founder จาก Terra และคุณทชา ปัญญาเนรมิตดี CEO and Co-founder จาก Alpha Finance Lab ได้เข้าร่วมงานครั้งนี้และเสวนากันในหัวข้อ ‘DeFi in Asia’ ซึ่งครั้งนี้เราได้นำเนื้อหาที่น่าสนใจมาฝากกัน 

1200x800 Crypto Assets Conference 2021 01.png

ทำอย่างไรให้การสร้างโปรเจกต์ DeFi ประสบความสำเร็จและตอบโจทย์กับผู้ใช้งานในเอเชียรวมถึงผู้ใช้ในชาติตะวันตก


เริ่มต้นกับคุณทชา ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่จะช่วยให้โปรเจกต์ DeFi สำเร็จได้คือ การมีแนวความคิดที่เป็นสากลหรือ Global Mindset เนื่องจาก DeFi หรือ Crypto มีภาพรวมที่ค่อนข้างมีความเป็นสากลไร้พรมแดน อย่างไรก็ตาม เรื่องภาษายังเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ใช้บางกลุ่มที่ไม่สะดวกใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาหลักใน DeFi และ Crypto รวมถึงเรื่องภาษาเป็นประเด็นสำคัญและยังเป็นอุปสรรคหนึ่งของทาง Alpha  เมื่อต้องขยายไปยังพื้นที่ใดๆ ซึ่งหมายความว่าเราต้องมี Community ท้องถิ่นขนาดใหญ่เพื่อการเริ่มต้นและต้องมีผู้จัดการ Community นั้นๆ เพื่อการสนับสนุน นอกจากนี้ต้องอาศัยเวลาจึงจะเกิดความราบรื่นมากขึ้นในระดับสากล 

ส่วนด้าน Do Kwon ได้ให้ความเห็นว่าในปัจจุบันมีผู้ใช้ DeFi จำนวนมากอยู่ทั่วโลก แต่ที่น่าสนใจในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีสิ่งที่กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไปคือเรื่อง Localization หรือการปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆ เกิดขึ้น โดยสังเกตได้จากกรณี Mirror Protocol ที่สามารถดึงดูดผู้ใช้งานในเอเชียได้จำนวนมาก เพราะตัว Protocol ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าใช้งานได้อย่างรวดเร็วและตลอดเวลาในการลงทุนกับหุ้นใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ด้วย Synthetic Asset โดยไม่ต้องผ่านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์แบบดั้งเดิม ส่วนความน่าสนใจของกรณีนี้คือ หาก Protocol มีความน่าสนใจและมีคุณค่ามากเพียงพอก็จะทำให้สมาชิกใน Community ช่วยสร้างวิดีโอหรือเนื้อหาให้ความรู้เพื่อให้สามารถใช้งาน Protocol ได้ ดังนั้น Localization จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้าง Protocol ใน DeFi โดยหากสามารถสร้าง Protocol ออกมาได้ดีหรือมีคุณค่ามากพอ ในส่วนของ Community ก็จะช่วยจัดการหลากหลายปัญหาด้าน Localization ที่เกิดขึ้นให้ได้เอง

นอกจากนี้ คุณสาวิทธ์ ได้เสริมถึงเรื่องนี้ว่า โดยทั่วไปข้อดีของ DeFi คือความเป็นสากลหรือเข้าถึงได้ทั่วโลก ผู้คนสามารถควบคุมการเงินของตนเองได้มากขึ้น เห็นความโปร่งใสว่าเงินถูกนำไปใช้อย่างไร รวมถึงมีข้อจำกัดและข้อยกเว้นน้อยลงในแง่ที่ผู้ใช้สามารถทำได้กับการเงินของตน นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่หรือมีโอกาสสำหรับผู้ก่อตั้งหรือผู้สร้าง Protocols ในการปรับปรุงเพื่อผู้ใช้เฉพาะกลุ่มในแง่ของทางภูมิศาสตร์หรือลักษณะของผู้ใช้งาน ตัวอย่างเช่น Mirror Protocol ที่ Do Kwon ได้กล่าวไปว่าสามารถให้คนในเอเชีย คนที่ไม่ใช่ชาวอเมริกันหรือชาวตะวันตกสามารถลงทุนได้ทั่วโลกและลงทุนได้หลากหลายมากขึ้น 


ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้โปรเจกต์ DeFi ของเอเชียไปสู่ระดับท็อป

คุณสาวิทธ์ ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งแรกคือการหาคนที่มีความสามารถพิเศษหรือ Talent ซึ่งในเอเชียหรือในประเทศไทยยังมีขอบเขตในการนำผู้ที่มีความสามารถพิเศษที่ไม่ได้อยู่ในประเทศเข้ามา หากเปรียบเทียบกับบางประเทศที่สามารถทำเรื่องการย้ายถิ่นได้ง่ายกว่า แต่อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยเรายังคงอยู่ในเส้นทางที่ดี เพราะได้เห็นหลายบริษัทและหลากหลายความพยายามในการพัฒนาเรื่องของ Talent หรือคนมีความสามารถพิเศษ อย่างเช่น SCB 10X ที่ได้มีการจัดงาน Hackathon หรือ Blockathon เพราะต้องการให้คนมีความสามารถพิเศษที่มีความสนใจในการสร้างบางอย่างและมีไอเดีย มาร่วมกันทำงานเพื่อสร้างสิ่งใหม่และมีความหมายด้วยกัน นอกจากนี้ ล่าสุดทาง Terra ก็ได้จัด Hackathon ที่ทำให้ได้เห็นผู้คนจำนวนมากจากทั่วโลกมาร่วมกันสร้าง Protocol และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคน

ส่วนคุณทชา ได้ให้ความเห็นว่า Blockchain เป็นหนึ่งในภาคย่อยของเทคโนโลยี ซึ่งเกิดโครงการและ Startupใหม่ๆ เรื่องของความสามารถหรือคนที่มีความสามารถนั้นจึงสำคัญ รวมถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วยที่ต้องให้แน่ใจว่ามีเครื่องมือมากพอ และการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือทางด้านกฎหมายสำหรับโครงการที่จะเริ่มต้น โดยสิ่งที่เราเห็นในประเทศไทยตอนนี้ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอและยังไม่มีโปรเจกต์ DeFi ของไทยออกมามากอย่างที่คาดหวัง เพราะภาพรวมของ Startup ไทยยังไม่แข็งแรง ส่วนการที่จะทำให้มีความแข็งแรงมากพอนั้นจะต้องมีหลายองค์ประกอบหรือมีโครงการบ่มเพาะที่แข็งแกร่งจริงๆ รวมถึงมีการสนับสนุนจากภาครัฐ จากด้านกฎหมายและเรื่องวีซ่า รวมถึงการฝึกสอนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ยังต้องใช้เวลาอีกมาก และเวลานี้ในประเทศไทยควรมีการขับเคลื่อนให้เหล่า Startup ต่างๆ มีการเติบโต ซึ่งจะส่งผลดีต่อ Blockchain ต่อไป 


คำแนะนำที่อยากฝากถึงผู้ก่อตั้งโปรเจกต์ DeFi ในเอเชีย

คุณทชา ได้แนะนำว่า DeFi มีความเป็นสากลหรือเข้าถึงได้ทั่วโลก และในตอนนี้ไม่จำเป็นต้องนึกถึงเพียงแต่การติดต่อเครือข่ายอยู่แค่ในประเทศเท่านั้น เพราะอาจมีข้อจำกัดอยู่ โดยคุณสามารถติดต่อขอคำแนะนำได้หลากหลายช่องทาง อย่างเช่นผ่านทาง Twitter ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของ Mindset ในการที่รู้จักออกไปติดต่อ ขอคำปรึกษาและรับการช่วยเหลือสำหรับการเริ่มต้นสร้างโปรเจกต์ เพราะหากอาศัยเพียงทรัพยากรหรือข้อมูลในท้องถิ่นอาจยังไม่เพียงพอสำหรับการเริ่มต้นโปรเจกต์

ด้านคุณสาวิทธ์ ได้ฝากคำแนะนำไว้ว่า ไม่ควรเริ่มต้นกับตัวเลือกแรกของกระบวนการที่คุณมีอยู่หรือเริ่มต้นกับไอเดียที่ง่ายที่สุด และตามที่คุณทชากล่าวไว้ถูกต้องว่า DeFi มีระบบนิเวศที่เป็นสากล มีคนที่มีความสามารถจำนวนมาก มีนักพัฒนาที่มีความสามารถ และบุคคลอื่นๆ มากมาย ที่ให้คุณสามารถเข้าถึงหรือติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาได้ง่าย อย่างเช่นติดต่อผ่านทาง Twitter หรือ Telegram และหากคุณวางแผนที่จะแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมอย่างแท้จริง ในที่สุดก็จะได้รับประโยชน์กับทั้งตนเองและส่วนรวม รวมถึงอุตสาหกรรมโดยรวม

สำหรับ Do Kwon ได้ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่าทึ่งในวงการ DeFi คือทุกคนต่างยินดีและพร้อมให้ความช่วยเหลือ เพราะทุกคนต่างเร่งที่จะสร้างความมั่งคั่ง โดยมีตัวอย่างหนึ่งคือ การที่ได้ร่วมงานกับคนที่ไม่เคยได้เจอกันเลยในชีวิตจริง แต่ทำงานร่วมกันหลายอย่าง ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ดี หรืออีกตัวอย่างคือ ในกรณีที่เราต้องการสร้างบางสิ่งที่แม้ว่าในตอนนี้จะทำได้เพียง 2% จากสิ่งที่ต้องทำทั้งหมด ซึ่งไม่ต้องกังวลเพราะเครือข่ายจากใน Twitter จะช่วยทำอีก 98% ที่เหลือให้ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก 

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept