milkyway 6
milkyway 7
milkyway 8
Technology
05 เมษายน 2564
ภาษาไทย

Blockchain Landscape ในปี 2021 เมื่อเส้นแบ่งของ DeFi และ CeFi จะจางลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า DeFi กลายเป็นหนึ่งใน Buzzword สำหรับโลกการเงินที่ควบคู่กับความร้อนแรงของ Cryptocurrency ที่หลายฝ่ายได้หันมาศึกษาถึงโอกาสและประสิทธิภาพของระบบนี้ในโลกการเงิน อย่างไรก็ตาม DeFi เองถือเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากและยังมีความท้าทายที่รอการแก้ไขมากมาย แน่นอนว่านี่เป็นหนึ่งในเหตุผลของการจัดแข่งขัน BANGKOK BLOCKATHON 2021: FINANCE & BEYOND อันเป็นพื้นที่ต่อยอดการใช้งาน Blockchain ให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อชี้ปัญหาดังกล่าวให้ชัดเจน SCB 10X ยังได้รับโอกาสจาก Mike Kayamori CEO ของ Liquid Global ซึ่งเป็น Startup ด้าน Cryptocurrency Exchange ระดับ Unicorn จากญี่ปุ่น มาร่วมให้มุมมองจากการนำเสนอภาพรวมของ Blockchain Landscape ของทุกวันนี้ โดยได้สรุปเป็นบทความให้ทุกท่านได้ติดตามกัน

1200x800 BLOCKCHAIN LANDSCAPE 2021.png

ย้อนภาพ Blockchain Ecosystem เข้าใจอดีต เพื่ออ่านอนาคต

ในฐานะที่เป็น Entrepreneur ด้าน Blockchain มายาวนานเกือบทศวรรษ Mike เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Blockchain และ Cryptocurrency จากมุมมองส่วนตัวว่า หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ทั่วโลกเริ่มมองหาทางเลือกในการทำธุรกรรมโดยไม่ผ่านธนาคารกลาง ซึ่งในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิด Bitcoin ขึ้น เขาและอีกหลายคนมองว่าระบบของ Bitcoin น่าจะเป็นก้าวต่อไปของการทำธุรกรรม แต่สาเหตุที่เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น ก็เนื่องจาก Bitcoin ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นซึ่งถือว่าเร็วเกินไปที่จะเป็นวิธีการหลักในการทำธุรกรรม

แต่เมื่อเวลาผ่านไป Bitcoin เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและจีนถือเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันราคาของสินทรัพย์ชนิดนี้ในปี 2011 อย่างไรก็ตาม การผลักดันราคาผ่านการใช้งานในประเทศที่เจริญแล้วยังไม่ใช่วัตถุประสงค์การใช้ที่แท้จริงของ Bitcoin และ Cryptocurrency ต่อมา Mike ซึ่งทำงานกับ SoftBank ในขณะนั้น ได้มีโอกาสไปทำงานที่ SoftBank สาขาอินเดีย พบปัญหาของคนอินเดียในขณะนั้นคือประชากรส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคาร จึงเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินได้ จากประสบการณ์ด้านโทรคมนาคม เขาจึงเชื่อว่า Cryptocurrency มีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้

Mike จึงเริ่มต้นทำ Liquid ในปี 2013 ซึ่งขณะนั้น แวดวง Blockchain ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นมากๆ ยังไม่มีการพัฒนา Stable coin รวมถึงมาตรฐาน ERC-20 ทำให้ Liquid เองก็จำเป็นต้องทำงานกับธนาคารในขณะนั้นเพื่อดำเนินเรื่องการยืนยันตัวตนและการรับฝากเงินเข้ากระเป๋าเงิน แต่ Mike ให้ข้อสังเกตว่า หลังจากการเกิดขึ้นของ Stable coin และมาตรฐาน ERC-20 เป็นที่ยอมรับแพร่หลาย Portal จำนวนมากจึงเกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น จนนำมาสู่การเข้าใช้งานของคนทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงที่ Bitcoin ราคาทะลุ 1 ล้านบาท เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา


จะ DeFi หรือ CeFi ไม่สำคัญเท่า User Experience 

Mike ให้ความเห็นว่า ปัจจุบัน DeFi เป็นที่พูดถึงอย่างมากในแวดวง Blockchain และ Financial Service ทั้งนี้ DeFi เพิ่งเป็นที่สนใจโดยสังเกตได้จากเงินลงทุนในโครงการ DeFi พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2019 ด้วยเหตุนี้ Startup ที่พัฒนา DeFi เลยมีทรัพยากรมากพอ และ Talent รุ่นใหม่หลายคนก็เลือกจะทำงานกับผู้พัฒนา DeFi แทนสถาบันการเงิน

อย่างไรก็ตาม การที่ Blockchain จะเป็นบริการทางการเงินหลักได้ ไม่ได้อยู่ที่การเป็น DeFi หรือ CeFi แต่อยู่ที่การออกแบบ User Experience ให้ยอดเยี่ยมที่สุด Mike ชี้ว่า ผู้บริโภคไม่รู้และอาจไม่สนใจว่าระบบดังกล่าวเป็น DeFi หรือ CeFi แต่สนใจว่าบริการที่ได้รับนั้นบรรลุวัตถุประสงค์อย่างไร สามารถแก้ไขปัญหาของพวกเขาได้ดีเพียงใด ซึ่งในจุดนี้ ทั้ง DeFi และ CeFi ยังต้องปรับปรุงอีกมากเพื่อเป็นบริการทางการเงินหลักต่อไป

ขณะเดียวกัน เส้นแบ่งของ DeFi และ CeFi เองก็กำลังจะจางลง เนื่องจากทุกคนจะต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแลเดียวกัน ในอนาคต เราอาจไม่พูดถึง DeFi และ CeFi แต่จะเป็น Financial Service ที่ทำงานบน Blockchain


ความท้าทายของ DeFi เมื่อตัวกลางหลายไป หลายอย่างก็ยังยาก


Mike ชี้ว่าการพัฒนา DeFi จะทำให้งานของตัวกลางมาอยู่ที่ระบบแทน แต่การขาดหายไปของตัวกลางเองก็สร้างปัญหาใหม่ด้วยเช่นกัน โดย Mike สรุปปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจาก DeFi ในอนาคตไว้ 5 ประเด็นด้วยกัน

  1. User Error ปัญหาการขาดความเข้าใจของผู้ใช้มีให้เห็นกันในบริการหลากหลายรูปแบบมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งปัญหานี้อาจรุนแรงขึ้นในบริการทางการเงินในแนวคิด DeFi โดย Mike ชี้ว่า DeFi เป็นแนวคิดที่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไปมาตั้งแต่แรก ข้อผิดพลาดจึงอาจเกิดขึ้นได้เยอะ จุดนี้จึงเป็นตัวชะลอการรับไปใช้ของคนจำนวนมากได้
  2. ต้นทุนสูงเมื่อ Throughput ต่ำ Blockchain เป็นระบบที่รองรับการทำธุรกรรมได้ปริมาณมหาศาล และยิ่งจำนวนธุรกรรมในระบบมีมากเท่าไร ยิ่งจะใช้ต้นทุนต่อครั้งต่ำลงเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ Mike กังวลเป็นไปในทางตรงกันข้าม หาก Blockchain มีปริมาณงานในระบบน้อย ระบบจะต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นในการผลักดันธุรกรรมให้สำเร็จ ต้นทุนที่อ่อนไหวตรงนี้ถือเป็นปัญหาที่นักพัฒนาต้องคิดวิธีการปรับปรุงให้ได้
  3. ความเปราะบางของ Smart Contract ปัจจุบัน Smart Contract ถือเป็นกลไกมาตรฐานในการทำธุรกรรมของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม Smart Contract ยังเป็นระบบที่มีความเสี่ยงต่อการถูก Scam อย่างมาก โดยผู้ไม่ประสงค์ดีอาจใช้ข้อจำกัดของระบบที่ไม่สามารถย้อนธุรกรรมกลับไปได้ทำการ Scam ผู้ใช้ พร้อมกับปิดช่องทางแก้ไข ต่างจากระบบ Centralize ที่หากเกิด Scam ตัวกลางจะมีหน้าที่จัดการให้ระบบดำเนินการได้อยู่
  4. การกำกับดูแล เพราะ DeFi เป็นระบบที่ออกแบบให้รายการธุรกรรมดำเนินผ่าน Code ที่ตั้งไว้ ในกรณีที่เกิดปัญหา แม้แต่ตัวนักพัฒนาเองก็ไม่สามารถย้อนธุรกรรมกลับมาได้ เนื่องจากเกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือของระบบ ดังนั้น การกำกับดูแลของ DeFi จึงไม่ใช่งานง่ายและเป็นข้อควรคำนึงของผู้พัฒนาที่ต้องหาทางชั่งน้ำหนักระหว่างความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพ และการแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา
  5. จำนวนโครงการ DeFi ที่อาจมากเกินไป เมื่อทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งทุน บริการ DeFi จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จำนวนอาจเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ Ecosystem โดยรวม แต่จำนวนบริการที่มากเกินไป ก็ทำให้ผู้บริโภคเลือกยาก นำไปสู่การรับไปใช้ที่ช้าลง

นอกจากนี้ Mike ยังสรุปข้อแนะนำถึงสิ่งที่ต้องป้องกันและต้องเพิ่มประสิทธิภาพในโครงการ DeFi ออกมา โดยแบ่งเป็น 3 ป้องกัน และ 3 ปรับปรุง ได้แก่ ป้องกันการ Hack, Scam, Rug-pull และปรับปรุง DeFi ให้บริการได้ดีขึ้น (Better), เร็วขึ้น (Faster) และราคาถูกลง (Cheaper) หากทำได้ดังนี้ ก็มีโอกาสที่บริการนั้นจะประสบความสำเร็จและเป็นหนึ่งในตัวเร่งการนำไปใช้ของผู้บริโภค


เทรนด์ใหญ่ของ Blockchain และ DeFi ในอนาคตอันใกล้

ประเด็นสุดท้ายที่จะไม่ถามคงไม่ได้คือเทรนด์ใหญ่ของ Blockchain และ DeFi ในอนาคตอันใกล้ ซึ่ง Mike กล่าวว่า เขาเห็นแนวโน้มใหญ่จาก 2 กลุ่ม สรุปได้ดังนี้

  • การเร่งเครื่องเข้าร่วมของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเงิน สถาบันการเงินทั้งเอกชนและรัฐเริ่มเห็นโอกาสทำเงินจากสินทรัพย์ดิจิทัล จึงเกิดการเร่งเข้าร่วมแวดวง Digital Asset อย่างก้าวกระโดด สังเกตได้จากสถาบันการเงินระดับโลกประกาศลงทุนหรือร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ด้าน Cryptocurrency มากขึ้น และอีกสถาบันหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ภาครัฐซึ่งเห็นโอกาสการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศผ่านภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล หลายประเทศเริ่มศึกษาและออกเกณฑ์กำกับดูแลผู้พัฒนาและผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มสถาบันจะเป็นตัวเร่งสำคัญที่กำหนดทิศทางของ Cryptocurrency ในอนาคตอันใกล้
  • ลดความสงสัยใน Digital Asset สู่ผลตอบแทนรูปแบบใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากราคา Bitcoin ทะลุ 1 ล้านบาท กระแสความเคลือบแคลงสงสัยใน Digital Asset ว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่หลอกลวงก็ลดน้อยลงไป เมื่อทุกคนสะสม Cryptocurrency มากขึ้น ก็เริ่มมองหาผลตอบแทนหลากหลายรูปแบบนอกจากการซื้อขายตามปกติ เช่น การฝากสินทรัพย์เพื่อรับดอกเบี้ย หรือการให้กู้ในระบบ ซึ่งการลงทุนเพื่อผลตอบแทนลักษณะนี้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนแวดวง DeFi ไม่น้อย

สุดท้ายนี้ Mike ได้ให้ข้อคิดกับ Blockchain Developer รุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญของวงการไว้ว่า พวกเขาควรเลือกทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อ โลกนี้ยังมีโอกาสอยู่มากสำหรับคนที่อยากจะเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งโอกาสที่ใหญ่ที่สุดเป็นของคนที่อยากทำบริการจาก Blockchain ให้เรียบง่ายที่สุด ซึ่งจะเพิ่มการเข้าถึงของประชาชนในอนาคต

ต้องถือว่าน่าสนใจสุดๆ สำหรับมุมมองจากหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการ Cryptocurrency ของโลก หวังว่าทุกท่านจะได้เห็นทิศทางของ DeFi และบริการทางการเงินแห่งอนาคตกันมากขึ้น ในโอกาสต่อไป SCB 10X จะยังมีเนื้อหาเชิงลึกเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาให้ติดตามกันอีกแน่นอน

Use and Management of Cookies

We use cookies and other similar technologies on our website to enhance your browsing experience. For more information, please visit our Cookies Notice.

Accept