คุณสมบัติของ Blockchain ที่คุณควรรู้
ทำไม Blockchain ถึงได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา? ส่งผลให้ธุรกิจด้าน Blockchain เกิดการเติบโตมากมายโดยเฉพาะในตลาด DeFi หรือคริปโต และในบทความนี้ SCB 10X มานำเสนอคุณสมบัติเด่นของ Blockchain ที่นำพาให้เทคโนโลยีแห่งอนาคตมาสู่ความนิยมในทุกวันนี้
ภาพรวมของ Blockchain
ย้อนทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Blockchain กันอีกครั้ง โดย Blockchain เป็นบัญชีแยกประเภท (Ledger) ที่เปิดให้ใช้งานร่วมกันและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซึ่งอำนวยความสะดวกในกระบวนการบันทึกธุรกรรมและติดตามสินทรัพย์ในเครือข่ายธุรกิจต่างๆ โดยสินทรัพย์ในที่นี้ มีทั้งประเภทที่จับต้องได้ (เช่น เงินสด รถยนต์ บ้าน และที่ดิน) และที่จับต้องไม่ได้ (ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์) โดยที่จริงแล้วสามารถติดตามและซื้อขายทุกอย่างที่มีมูลค่าได้บนเครือข่าย Blockchain ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและลดต้นทุนสำหรับทุกคนหรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เหตุใด Blockchain จึงมีความสำคัญ
เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ล้วนทำงานโดยอาศัยข้อมูล ดังนั้นยิ่งได้รับข้อมูลเร็วและแม่นยำมากเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลดีต่อธุรกิจมากเท่านั้น โดย Blockchain เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งสำหรับการส่งข้อมูล เพราะ Blockchain สามารถนำส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แชร์ได้ง่าย และมีความโปร่งใสโดยสมบูรณ์ ซึ่งมีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในบัญชีแยกประเภท (Ledger) ที่ไม่สามารถแก้ไข้ได้ และยังสามารถเข้าถึงได้เฉพาะสมาชิกในเครือข่ายที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
เครือข่าย Blockchain สามารถติดตามบัญชี คำสั่งซื้อ การชำระเงิน การผลิต และอื่นๆ อีกมากมาย และสามารถดูรายละเอียดทั้งหมดของการทำธุรกรรมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ผู้คนมีความมั่นใจมากขึ้น ไปจนถึงประสิทธิภาพและโอกาสใหม่ๆ ที่ตามมา
ลักษณะเด่นที่สำคัญของ Blockchain ที่อาจเข้ามาแทนที่ระบบการเงินแบบดั้งเดิม
Blockchain ถูกนำมาใช้งานอย่างกว้างขวางและแพร่หลายโดยบริการทางการเงินสมัยใหม่ และถูกพูดถึงบ่อยขึ้นในหลายวงการ ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า สิ่งที่ทำให้เทคโนโลยี Blockchain สามารถต่อยอดโลกการเงินอย่างมากมาย คืออะไรกันแน่ จึงสรุปคุณสมบัติเด่นของ Blockchain ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาบริการทางการเงินที่เราได้เห็นกันทุกวันนี้ ดังนี้
- บันทึกแล้วจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
วิธีการทำงานของ Blockchain คืออาศัยการบันทึกข้อมูลเป็นรายการแบบต่อเนื่องเป็นสาย ข้อมูลที่ได้รับการบันทึกอยู่ในสายพร้อมกับทำการเข้ารหัสใหม่ทุกครั้งที่มีรายการข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไป อีกทั้งข้อมูลที่ถูกต้องจะได้รับการเข้ารหัสซ้อนเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่เกิดธุรกรรม ทั้งยังกระจายสำเนาไปยังหลายๆ Node ในระบบเพื่อยืนยันความถูกต้อง ด้วยวิธีการนี้ทำให้ Blockchain เก็บข้อมูลไว้โดยที่ไม่มีใครสามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือแทรกแซงรายการข้อมูลที่ถูกบันทึกไปแล้วได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลจำเป็นต้องทำธุรกรรมใหม่เพิ่มเข้าไปเท่านั้น วิธีดังกล่าวช่วยให้ Blockchain ป้องกันการโจมตีในลักษณะบิดเบือนระบบเพื่อกำหนดการทำธุรกรรมตามใจชอบได้
- การกระจายศูนย์
อีกหนึ่งวิธีการทำงานของ Blockchain ที่โดดเด่นมากคือการใช้หลักการกระจายศูนย์หรือ Decentralization หลักการนี้เปิดให้ผู้ใช้มีสิทธิ์เต็มที่ในการใช้งานระบบตามลักษณะหรือขอบเขตบริการของ Blockchain นั้นโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานกลางใดๆ หากอธิบายให้ง่ายคือผู้ใช้สามารถเก็บ Cryptocurrency, Digital Asset หรือแม้แต่ไฟล์เอกสาร และ Digital Art ต่างๆ บน Blockchain และเข้าถึงทั้งหมดนี้ที่ไหนก็ได้เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ทั้งยังควบคุมสินทรัพย์นั้นผ่าน Private Key แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี Blockchain และได้ขับเคลื่อนโลกการเงินสู่แนวคิด Decentralized Finance ซึ่งผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้โดยไม่ต้องผ่านการช่วยเหลือจัดการโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินนั่นเอง
- ความปลอดภัยสูงด้วยระบบที่ซับซ้อน
เมื่อพูดถึง Blockchain เรามักได้ยินคำว่าปลอดภัยสูงควบคู่กันมา แต่มีน้อยคนที่จะรู้ถึงสาเหตุความปลอดภัยของมัน ซึ่งจริงๆ แล้ว Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยมากที่สุดด้วยการใช้วิธีการเข้ารหัสแบบ Cryptography ซึ่งเป็นวิธีการแปลงข้อมูลเป็นรหัสเฉพาะผ่านการคำนวณโดยคอมพิวเตอร์ หากข้อมูลเป็นชุดเดียวกันทั้งหมด รหัสที่ออกมาจะเหมือนกันทั้งหมด แต่หากข้อมูลมีการดัดแปลงแม้เพียงส่วนเดียว รหัสทั้งหมดจะเปลี่ยนไป ดังนั้น การดัดแปลงข้อมูลและสวมรอยเพื่อบิดเบือนธุรกรรมเข้าไปใน Blockchain จึงเป็นไปได้ยากมาก อีกทั้งยังป้องกันการสอดส่องข้อมูลด้วยการเข้ารหัสดังกล่าว เพราะรหัสไม่สามารถย้อนกลับเป็นข้อมูลได้โดยง่าย และมีเพียงผู้ใช้เท่านั้นที่เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ด้วย Private Key และทำการส่งต่อข้อมูลได้ด้วย Public Key
- ความเร็วสูงแม้ทำธุรกรรมข้ามโลก
Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่ด้วยการเป็นตัวเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลดิจิทัลที่เข้าถึงได้เพียงเข้าถึงอินเทอร์เน็ต พร้อมกับมี Ecosystem ที่อำนวยความสะดวกด้านการจัดการธุรกรรมและความปลอดภัยอย่างเป็นอัตโนมัติ การทำธุรกรรมบน Blockchain จึงมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่น้อยกว่า ยกตัวอย่างเรื่องการส่งเงินข้ามประเทศ เดิมทีเราต้องพึ่งพาตัวแทนผู้ให้บริการซึ่งอาจกินเวลาดำเนินธุรกรรมให้เราเป็นวัน แต่หากเราส่งเงินผ่าน Blockchain ระบบจะสามารถดำเนินการเรียบร้อยใน 30 นาทีหรือเร็วกว่านั้น การสร้างกระบวนการให้เกิดความเร็วดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญของโลกการเงินซึ่งกำลังจะเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Decentralized Finance ในเร็ววันนี้
และข้อเท็จจริงที่สนใจอีกประการหนึ่งคือระบบสัญญาอัจฉริยะ หรือ Smart Contract ซึ่งจะทำให้การชำระบัญชีเร็วขึ้นไม่ว่าจะเป็นสัญญาประเภทใด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในประโยชน์ที่ดีที่สุดของคุณสมบัติเด่นของ Blockchain จนถึงทุกวันนี้ รวมถึงยังตัดตัวกลางหรือ Third Party ออกไปก็ช่วยให้ผู้ใช้สามารถส่งเงินได้โดยเสียค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น?
สรุป
Blockchain ไม่ได้เป็นเพียงกระแสที่มาแล้วหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะด้วยคุณสมบัติและการใช้งานที่เกิดขึ้นมากมายทุกวันนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในหลายด้าน รวมถึง Blockchain ได้ผสมผสานเทคโนโลยีใหม่หลากหลายประเภทไว้ด้วยกัน หากผู้คนสามารถนำข้อดีหรือคุณสมบัติที่โดดเด่นของ Blockchain ออกมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ก็จะสามารถสร้างสิ่งใหม่ที่ดีต่อหลายฝ่ายได้ในอนาคต ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า Blockchain เป็นอีกเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนโลกได้